BANNER

อาเซียนแสวงหาอิทธิพลอันแข็งแกร่งของญี่ปุ่นในเอเชียเพื่อต่อต้านจีน


 ข่าวต่างประเทศ      19 Sep 2017

  




เมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๐ เป็นครั้งที่ ๑๐ ที่นาย Shinzo Abe นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นได้เข้าพบกับนาย Narendra Modi นายกรัฐมนตรีของอินเดีย ซึ่งเป็นพันธมิตรทางการเมืองในเอเชียที่ใกล้ชิดกันมากที่สุด โดยทั้งสองคนเป็นนักการเมืองแนวอนุรักษ์นิยมและเป็นเพื่อนกันมาเป็นเวลานานกว่าหนึ่งทศวรรษ

ในการหารือร่วมกันอย่างลึกซึ้งระหว่างการรับประทานอาหารค่ำเมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๐ ทั้งสองคนมีความกังวลอย่างยิ่งถึงวิธีการรับมือกับอิทธิพลของจีนที่มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ประเด็นหลักที่หารือร่วมกัน คือ การตอบสนองต่อข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One Belt, One Road Initiative) ของจีน ซึ่งเป็นโครงการการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เพื่อขยายการค้าทางบกและทางทะเลระหว่างเอเชียและชาติอื่น ๆ

ญี่ปุ่นและอินเดียอยู่ในสถานะที่ละเอียดอ่อน ในคำแถลงการณ์ร่วมกันเมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๐ ถึงแม้ทั้งสองฝ่ายจะไม่พุ่งเป้าไปที่จีน แต่ทั้งสองฝ่ายพยายามที่จะเฝ้าระวังเพื่อนบ้านให้อยู่ในกรอบโดยการเน้นย้ำความสำคัญของทุกประเทศโดยการสร้างความเชื่อมั่นในการพัฒนาและการใช้งานโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมต่อกันในลักษณะที่เปิดเผย โปร่งใส และไม่ผูกขาด

เมื่อเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนที่ผ่านมา มีการโต้เถียงกันอย่างคาดไม่ถึงในวงในของฝ่ายบริหารของนาย Abe ว่าญี่ปุ่นควรสนับสนุนข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางหรือไม่ และมีรายงานว่าคนสนิทของนาย Abe ได้พูดเป็นนัยว่าจะลาออกเนื่องมาจากความเห็นที่ไม่ลงรอยกัน

หน่วยงานของรัฐฝ่ายที่เห็นชอบกับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับจีนได้พยายามผลักดันให้นายกรัฐมนตรีแสดงการสนับสนุนข้อริเริ่มดังกล่าวอย่างชัดแจ้ง โดยกล่าวว่าหากไม่ทำจะส่งผลให้บริษัทสัญชาติญี่ปุ่นสูญเสียโอกาสในการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน แต่ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่ง กระทรวงการต่างประเทศและสภาความมั่นคงแห่งชาติของญี่ปุ่นได้คัดค้านแนวคิดนี้อย่างมากเนื่องจากกังวลว่าผลกระทบจากข้อริเริ่มจะกระทบกับความมั่นคงของชาติ

ท้ายที่สุด นาย Abe ได้สนับสนุนข้อริเริ่มอย่างชัดแจ้งโดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องรักษาความเป็นธรรมให้กับบริษัทต่างชาติ โดยนาย Abe ได้กล่าวไว้ในการประชุม International Conference on the Future of Asia ครั้งที่ ๒๓ ซึ่งจัดโดย Nikkei เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๐

ขณะเดียวกัน อินเดียได้แสดงถึงความกังวลต่อข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเนื่องจากโครงการดังกล่าววิ่งผ่านเมืองแคชเมียร์ ซึ่งยังคงเป็นพื้นที่พิพาทระหว่างอินเดียและปากีสถาน โดยนาย Modi ได้แสดงความรู้สึกนี้เป็นการลับต่อนาย Abe ในการพบกันครั้งก่อน ๆ

แม้เป็นสัญญาณที่ดีที่เห็นรัฐบาลของทั้งสองประเทศได้หารือกันอย่างหนักหน่วงเกี่ยวกับกลยุทธ์ทางเศรษฐกิจ แต่ที่น่าผิดหวัง คือ การหารือนั้นมุ่งประเด็นไปในเรื่องที่ญี่ปุ่นจะสนับสนุนข้อริเริ่มของจีนหรือไม่แทนที่จะเป็นการหารือกันเรื่องวิสัยทัศน์ของญี่ปุ่นเอง
 
การเรียกร้องให้มีอิทธิพลจากญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น

ถึงแม้ในปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross domestic product-GDP) ของจีนจะมากกว่าญี่ปุ่นกว่า ๒ เท่า แต่มีเสียงเรียกร้องให้ญี่ปุ่นมีบทบาทมากขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ผู้สื่อข่าวจากประเทศสมาชิกของสมาคมแห่งประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of Southeast Asian Nations-ASEAN) ได้แสดงความรู้สึกดังกล่าวเมื่อวันที่ ๒๗ และ ๒๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ ใน Japan-ASEAN Media Forum ซึ่งจัดโดย Japan Foundation การลงทุนในโครงสร้างและการระดมทุนอย่างหนักของจีนในภูมิภาคอาเซียนหมายความว่าอิทธิพลของจีนในภูมิภาคเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ผู้เข้าร่วม forum เรียกร้องให้ญี่ปุ่นเสนอทางเลือกอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับจีน

ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางแสดงให้เห็นทั้งความหวังและความกลัว โดยข้อมูลจากผู้เข้าร่วม forum พบว่า อาเซียนสนับสนุนข้อริเริ่มอย่างเป็นเอกฉันท์ แต่ประเทศสมาชิกยังมีความกังวลว่าพวกเขาอาจพบชะตากรรมเดียวกับศรีลังกา กล่าวคือ ศรีลังกาได้กู้ยืมเงินจากจีนภายใต้ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางจำนวนมากด้วยความหวังจะพัฒนาท่าเรือ  แต่ศรีลังกาไม่สามารถชำระเงินคืนได้ทันกำหนดเนื่องมาจากอัตราดอกเบี้ยที่สูง เป็นผลให้เมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๕๕๙ ศรีลังกาจำเป็นต้องลงนามในสัญญาเช่าซึ่งมีกำหนดระยะเวลา ๙๙ ปีกับจีน โดยให้จีนมีส่วนได้เสีย (stake) ร้อยละ ๘๐  ในบริษัทของรัฐที่ควบคุมท่าเรือ

แม้ประเทศสมาชิกอาเซียนเห็นชอบกับการสนับสนุนทางการเงินและการลงทุนจากจีน แต่ประเทศสมาชิกอาเซียนก็ยังกลัวที่จะเป็นหนี้บุญคุณต่อจีนเช่นกัน

สถานการณ์ที่คล้ายคลึงกันอาจกำลังเกิดขึ้นในฟิลิปปินส์เมื่อประธานาธิบดี Rodrigo Duterte ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากจีนจึงได้พักประเด็นเรื่องข้อพิพาทในพื้นที่ทะเลจีนใต้ไว้ก่อน

แหล่งข่าวทางการทูตแหล่งหนึ่งกล่าวว่านาย Duterte บอกแก่เจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นว่า ฟิลิปปินส์จะสนับสนุนญี่ปุ่นหากต้องทำสงครามกับจีน โดยการกระทำของนาย Duterte อาจเป็นการกระทำที่เอื้อต่อญี่ปุ่น แต่ก็พยายามหาสมดุลทางการทูตระหว่างจีนและญี่ปุ่นอย่างแท้จริง

ประเด็นที่ต้องพิจารณาคืออาเซียนคาดหวังให้ญี่ปุ่นทำอะไร งบประมาณในการช่วยเหลือการพัฒนาประเทศญี่ปุ่นมีประมาณ ๔.๔ แสนล้านเยน หรือ ๓.๙ พันล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่จีนมีแผนจะให้มากกว่า ๑๐ เท่าของเงินสนับสนุนเพื่อช่วยเหลือแอฟริกาเพียงประเทศเดียวในช่วงระยะเวลา ๓ ปีต่อจากนี้

ผู้เชี่ยวชาญและเจ้าหน้าที่ของอาเซียนมีความคาดหวังกับประเทศญี่ปุ่น ๒ ประการ ประการแรกคือ การให้ญี่ปุ่นเป็นผู้สร้างระบบการคมนาคมและสิ่งอำนวยความสะดวกทางท่าเรือให้มีคุณภาพ เป็นที่เข้าใจได้ว่าญี่ปุ่นไม่สามารถต่อกรกับจีนได้ในแง่ทรัพยากร แต่ญี่ปุ่นสามารถช่วยเหลือในด้านการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานได้ ซึ่งจะช่วยลดความจำเป็นในการพึ่งพาจีน

ประการที่สองที่ประเทศสมาชิกอาเซียนคาดหวังต่อญี่ปุ่น คือ การส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ซึ่งจะเกี่ยวพันกับข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership)[๑] แต่การที่ประธานาธิบดี Donald Trump ได้ถอนสหรัฐอเมริกาออกจากข้อตกลงดังกล่าวทำให้ข้อตกลงนี้มีสถานะที่อ่อนแอลง  อย่างไรก็ตาม ประเทศสมาชิกอาเซียนไม่ได้เมินข้อเท็จจริงที่ว่าญี่ปุ่นยังคงให้การสนับสนุนข้อตกลงนี้อยู่

ประเทศในเอเชียเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเศรษฐกิจของจีน แต่ประเทศเหล่านี้ก็ยังต้องการทางเลือกอื่นนอกจากจีนด้วย หากญี่ปุ่นสามารถตอบสนองต่อความคาดหวังของอาเซียนได้ ก็อาจจะเป็นการเพิ่มตัวเลือกให้แก่อาเซียนได้เช่นกัน

ที่มา: ​https://asia.nikkei.com/Politics-Economy/International-Relations/ASEAN-seeks-strong-Japanese-presence-in-Asia-to-counter-China
 
[๑] ข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก คือ ข้อตกลงการค้าเสรีของประเทศในแถบแปซิฟิกที่กำหนดขึ้นเพื่อเพิ่มการค้า การบริการและการลงทุนในกลุ่มประเทศสมาชิก อีกทั้งสร้างมาตรฐานการค้าและกฎระเบียบร่วมกันในเรื่องการป้องกันทรัพย์สินทางปัญญา มาตรฐานแรงงาน กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม และกลไกแก้ไขข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลและนักลงทุนต่างชาติ, ข้อมูลจาก https://www.scbeic.com/th/detail/product/1820

© 2017 Office of the Council of State.