บทนำ
แผนงานเพื่อการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC Blueprint ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๐ กำหนดไว้ว่าประเทศสมาชิกอาเซียนต้องมีนโยบายหรือกฎหมายการแข่งขันทางการค้ามาใช้บังคับภายในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ อย่างไรก็ตาม มี ๕ ประเทศจาก ๑๐ ประเทศสมาชิกอาเซียนที่มีกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้าก่อนปี พ.ศ. ๒๕๕๘ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ไทย และ เวียดนาม และอีก ๔ ประเทศ ได้แก่ บรูไน ลาว เมียนมา และฟิลิปปินส์ ได้มีกฎหมายการแข่งขันทางการค้าในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ มีประเทศกัมพูชาประเทศเดียวในอาเซียนที่ยังไม่มีกฎหมายการแข่งขันทางการค้า แต่ได้มีร่างกฎหมายการแข่งขันทางการค้าเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๙ และกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวในปัจจุบัน ดังนั้น จึงเป็นเรื่องยากที่จะคาดการณ์ถึงประสิทธิภาพในการใช้บังคับในระบบการแข่งขันทางการค้าในอาเซียน ในบทความนี้ผู้เขียนได้กล่าวถึงการพัฒนากฎหมายการแข่งขันทางการค้าของแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียน และหวังว่าบทความนี้จะทำให้ผู้อ่านเห็นถึงภาพรวมและพัฒนาการล่าสุดของกฎหมายการแข่งขันทางการค้าในอาเซียนของประเทศสมาชิกอาเซียน
การก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
การก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ซึ่งมีผลเมื่อวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ คือการรวมตัวกันเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกันของชาติอาเซียน ๑๐ ประเทศ ได้แก่ ไทย เมียนมา ลาว เวียดนาม มาเลเซีย สิงค์โปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชาและบรูไน ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญ ๔ เรื่อง คือ
๑) การเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว
๒) การสร้างอาเซียนให้เป็นภูมิภาคที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูง
๓) การพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างเท่าเทียมกันระหว่างสมาชิกอาเซียน และ
๔) การเชื่อมโยงอาเซียนเข้ากับเศรษฐกิจโลก ผลของการรวมกลุ่มดังกล่าวจะทำให้อาเซียนมีประชากรรวมกันถึง ๖๐๐ ล้านคน มีศักยภาพในการบริโภคมากขึ้น เพิ่มอำนาจต่อรองกับคู่ค้า มีศักยภาพในการแข่งขันสูงขึ้น และดึงดูดเงินลงทุนเข้าสู่ภูมิภาคมากขึ้น
ความสำคัญของกฎหมายการแข่งขันทางการค้า
การรวมเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน คือ การเปิดเสรีด้านการค้าและการลงทุนในระดับภูมิภาค อาเซียนทำให้บริษัทต่าง ๆ ทั่วโลก สามารถเข้ามาประกอบธุรกิจในภูมิภาคอาเซียนได้ โดยปราศจากอุปสรรคด้านการค้าและการลงทุน ดังนั้น เพื่อให้การเปิดเสรีนำมาซึ่งประโยชน์ตามวัตถุประสงค์จึงจำเป็นต้องมีกฎหมายเป็นเครื่องมือบังคับให้เป็นไปตามเป้าหมาย และกฎหมายที่สำคัญฉบับหนึ่ง คือ “กฎหมายการแข่งขันทางการค้า” ที่จะทำให้นักลงทุนต่างชาติมั่นใจว่าตลาดอาเซียนเปิดสำหรับผู้แข่งขันรายใหม่ให้เข้ามาแข่งขันได้อย่างเสรีและมีกลไกกำกับไม่ให้พฤติกรรมจำกัดการแข่งขันบิดเบือนการแข่งขันที่เป็นธรรม ในขณะเดียวกัน กฎหมายยังช่วยปกป้องวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในอาเซียนให้มีโอกาสเข้าสู่ตลาดและสามารถแข่งขันอย่างเป็นธรรมกับบริษัทขนาดใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มทุนจากต่างประเทศได้
หลักสากลของกฎหมายการแข่งขันทางการค้า
บทบัญญัติที่สำคัญของกฎหมายการแข่งขันทางการค้าที่เป็นสากล คือ ห้ามผู้ประกอบการที่มีอำนาจเหนือตลาดใช้อำนาจตลาดโดยไม่เป็นธรรม ห้ามการตกลงร่วมกันระหว่างผู้ประกอบธุรกิจเพื่อลดหรือจำกัดการแข่งขัน ห้ามการรวมธุรกิจอันอาจก่อให้เกิดการผูกขาด ทำลาย หรือจำกัดการแข่งขันสำหรับประเทศสมาชิกอาเซียน ต่อไปนี้จะกล่าวถึงหลักกฎหมายการแข่งขันทางการค้าของประเทศสมาชิกอาเซียนที่ได้ใช้บังคับก่อนปี พ.ศ. ๒๕๕๘
๑) อินโดนีเซีย
กฎหมายที่เกี่ยวข้องคือกฎหมายฉบับที่ ๕ ประจำปี ๒๕๔๒ (Law No.5 of 1999) คำสั่งของประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซียเลขที่ ๗๕ ประจำปี ๒๕๔๒ เกี่ยวกับคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า(Decree of the President of the Republic of Indonesia No. 75 of 1999 on the Komisi Pengawas Persaingan Usaha) หรือคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (the Komisi Pengawas Persaingan Usaha - KPPU) (คำสั่ง - the decree) ระเบียบวิธีปฏิบัติ ๔ ฉบับและแนวทางอีกหลายฉบับประกอบด้วย[๑]
๑. ระเบียบของศาลสูงสุดแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ฉบับที่ ๓ ประจำปี ๒๕๔๘ (Regulation of the Supreme Court of the Republic of Indonesia No. 3 of 2005) เกี่ยวกับวิธีปฏิบัติในการยื่นคำคัดค้านต่อคำวินิจฉัยของคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (Procedures for Filing Objections to the Decisions of KPPU)
๒. ระเบียบของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ฉบับที่ ๑ ประจำปี ๒๕๔๙ (KPPU Regulation No. 1 of 2006) เกี่ยวกับวิธีการพิจารณาคดีในคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (Procedures for Case-Handing in KPPU)
๓. ระเบียบของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ฉบับที่ ๒ ประจำปี ๒๕๕๐ (KPPU Regulation No. 2 of 2008) เกี่ยวกับอำนาจของเลขาธิการคณะกรรมการในการพิจารณาคดี (Authorities of the Commission Secretariat in Case-Handing)
๔. ระเบียบของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ฉบับที่ ๑ ประจำปี ๒๕๕๓ (KPPU Regulation No. 1 of 2010) เกี่ยวกับวิธีการพิจารณาคดี (Case-Handling Procedures) ใช้แทนระเบียบคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ฉบับที่ ๑ ประจำปี ๒๕๔๙ (KPPU Regulation No. 1 of 2006) และฉบับที่ ๒ ประจำปี ๒๕๕๑ (KPPU Regulation No.2 of 2008) สำหรับคดีที่เข้าสู่การพิจารณาตั้งแต่ ๕ เมษายน ๒๕๕๓
ขอบเขตพฤติกรรมต้องห้ามตามกฎหมาย
กฎหมายกำหนดห้ามการปฏิบัติในลักษณะต่อต้านการแข่งขันทางการค้า(anti-competitive practices) รวมถึงข้อตกลงในลักษณะกีดกันการแข่งขัน กิจกรรมในลักษณะกีดกันการแข่งขัน การใช้อำนาจเหนือตลาดโดยมิชอบ และการรวมกิจการซึ่งลดการแข่งขันลง
องค์กรที่มีอำนาจใช้บังคับและอำนาจหน้าที่
องค์กรที่มีอำนาจใช้บังคับ คือ คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (Komisi Pengawas Persaingan Usaha - KPPU) ซึ่งเป็นสถาบันอิสระจากรัฐ อิสระจากรัฐบาลและอิทธิพลของผู้มีส่วนได้เสียอื่น โดยรับผิดชอบและรายงานต่อประธานาธิบดีแห่งอินโดนีเซีย กรรมการของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (KPPU) ได้รับแต่งตั้งและถอดถอนโดยประธานาธิบดีตามการอนุมัติของสภานิติบัญญัติของประชาชน (People's Legislative Assembly)
คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้ารับผิดชอบในการควบคุมดูแลและประเมินการดำเนินการของผู้ประกอบธุรกิจในตลาดอินโดนีเซียตามกฎหมาย ทำหน้าที่สอบสวนและใช้บังคับกฎหมาย เช่น ออกคำวินิจฉัยเกี่ยวกับการฝ่าฝืนตามที่กล่าวหา ให้คำแนะนำและข้อคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลในเรื่องการปฏิบัติในเชิงผูกขาดหรือการแข่งขันทางธุรกิจที่ไม่เป็นธรรม ออกแนวทางและยื่นรายงานเป็นระยะเกี่ยวกับกิจกรรมของตนต่อประธานาธิบดีแห่งอินโดนีเซียและสภานิติบัญญัติของประชาชน (People's Legislative Assembly)
บทลงโทษ
ตามมาตรา ๔๘ ของกฎหมาย คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าอาจกำหนดบทลงโทษในรูปแบบของมาตรการทางปกครองต่อผู้ประกอบธุรกิจที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมาย บทลงโทษดังกล่าวรวมถึง
ก. คำประกาศให้ข้อตกลงอันมีลักษณะกีดกันการแข่งขัน การกระทำในเชิงผูกขาด การแข่งขันทางธุรกิจที่ไม่เป็นธรรม การใช้อำนาจเหนือตลาดโดยมิชอบ การรวมธุรกิจหรือการควบกิจการ หรือการได้มาซึ่งหุ้นใช้ไม่ได้และเป็นโมฆะ
ข. ข้อกำหนดให้ใช้ค่าสินไหมทดแทน
ค. ค่าปรับระหว่าง ๑ พันล้านรูเปียห์อินโดนีเซีย ถึง ๒.๕ หมื่นล้านรูเปียห์อินโดนีเซีย
ง. บทลงโทษทางอาญา การฝ่าฝืนที่ร้ายแรงที่สุดจะถูกปรับระหว่าง ๒.๕ หมื่นล้านรูเปียห์อินโดนีเซียถึง ๑ แสนล้านรูเปียห์อินโดนีเซีย หรือต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๖ เดือน การฝ่าฝืนในขั้นพิจารณาความ จะถูกปรับระหว่าง ๑ พันล้านรูเปียห์อินโดนีเซีย ๕ พันล้านรูเปียห์อินโดนีเซีย หรือต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๓ เดือน
พัฒนาการล่าสุดของกฎหมาย
ช่วงกลางเดือนเมษายน ๒๕๖๐ ฝ่ายกฎหมายสภาผู้แทนราษฎรอินโดนีเซีย (House of Representatives’ Legislation Body: Baleg) ได้สรุปการทบทวนร่างกฎหมาย ฉบับที่ ๕/๑๙๙๐ เกี่ยวกับ การผูกขาดและการแข่งขันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมซึ่งยกระดับอำนาจของหน่วยงานกำกับดูแลการแข่งขัน ทางการค้า คือ Business Competition Supervisory Commission โดยขั้นตอนต่อไป คือ สภาผู้แทนราษฎรให้สัตยาบันร่างกฎหมายนี้ และคาดการณ์ว่าการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายแข่งขันทางการค้าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปี ๒๕๖๐
คดีล่าสุด
เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ คณะกรรมการฯ ได้มีคำวินิจฉัยว่าผู้ผลิตรถมอเตอร์ไซค์รายใหญ่ PT Yamaha Indonesia Motor Manufacturing และ PT Astra Honda Motor มีส่วนเกี่ยวพันในพฤติกรรมผูกขาดตลาด รถมอเตอร์ไซค์อัตโนมัติรุ่น ๑๑๐ ซีซี และ ๑๒๕ ซีซี โดยการเพิ่มราคารถให้สูงขึ้น โดยกล่าวอ้างถึงการพบกันของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทั้งสองบริษัทในสนามกอล์ฟแห่งหนึ่งและจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการตอบโต้กัน
๒.) มาเลเซีย
พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า ปี ๒๕๕๓ (Competition Act 2010) ใช้บังคับเมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๕ และนำมาซึ่งหลักเกณฑ์อันครอบคลุมด้านการแข่งขัน โดยมาพร้อมกับรัฐบัญญัติคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ปี ๒๕๕๓ (Competition Commission Act 2010) ซึ่งแต่งตั้งคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (Competition Commission) ให้เป็นผู้มีอำนาจในการใช้บังคับด้านการแข่งขัน
การปฏิบัติในลักษณะที่กฎหมายป้องกัน
พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้าของมาเลเซียป้องกันการปฏิบัติในลักษณะที่เป็นการทำข้อตกลงซึ่งมีวัตถุประสงค์หรือผลอันเป็นการกีดกัน การกำจัดหรือการทำลาย การแข่งขันอย่างมีนัยสำคัญ และการใช้อำนาจเหนือตลาดโดยมิชอบในตลาดสินค้าหรือบริการใด แต่ไม่มีระเบียบเรื่องการควบคุมการรวมธุรกิจในพระราชบัญญัตินี้
พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า ปี ๒๕๕๓ ไม่ใช้กับกิจกรรมพาณิชย์ซึ่งควบคุมตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ระบุในตารางที่ ๑ (First Schedule) ได้แก่ พระราชบัญญัติการสื่อสารและสื่อมัลติมีเดีย ปี ๒๕๔๑ (Communications and Multimedia Act 1998) และพระราชบัญญัติคณะกรรมการพลังงาน ปี ๒๕๔๔ (Energy Commission Act 2001) กิจกรรมเหล่านี้มีพระราชบัญญัติที่บัญญัติเรื่องการแข่งขันทางการค้าไว้โดยเฉพาะอยู่แล้ว[๒]
วิธีพิจารณาคดี
การสอบสวนอาจเริ่มโดยคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าตามคำสั่งของรัฐมนตรีหรือเมื่อมีการฟ้องคดี และตามข้อ ๔๐ ของรัฐบัญญัติการแข่งขันทางการค้าปี ๒๕๕๓ คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าอาจกำหนดโทษปรับไม่เกินอัตราร้อยละ ๑๐ ของยอดขายทั่วโลกของกิจการหนึ่งในช่วงเวลาที่มีการฝ่าฝืนเกิดขึ้นหรือออกคำสั่งที่สมควรอื่นใด
คดีล่าสุด
คดีมาเลเซียแอร์ไลน์และแอร์เอเชีย - คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้ามาเลเซียได้มีคำวินิจฉัยในปี ๒๕๕๗ ว่าสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์และสายการบินแอร์เอเชียมีข้อตกลงเรื่องส่วนแบ่งในตลาดการขนส่งทางอากาศในมาเลเซียที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งแต่ละฝ่ายถูกลงโทษปรับประมาณ ๑๐ ล้านริงกิตโดยค่าปรับนี้ต่ำกว่าค่าปรับสูงสุด ๑๐ เปอร์เซ็นต์จากยอดซื้อขายหลักทรัพย์ทั่วโลกของทั้งสองสายการบินระหว่างช่วงระยะเวลาการละเมิด คือเดือนมกราคมถึงเมษายน พ.ศ. ๒๕๕๕
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๙ ศาลอุทธรณ์กลับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าในคดีมาเลเซียแอร์ไลน์และแอร์เอเชีย เนื่องจากคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าไม่สามารถแสดงให้เห็นว่าข้อตกลงการยกเลิกเส้นทางการบินบางเส้นทางนั้นเป็นข้อตกลงเพื่อผูกขาดธุรกิจ
๓.) สิงคโปร์
กฎหมายที่เกี่ยวข้องคือรัฐบัญญัติการแข่งขัน พ.ศ. ๒๕๕๗ (Competition Act 2014) ใช้บังคับกับกิจการอันได้แก่ บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล (ซึ่งรวมถึงกิจการเจ้าของรายเดียว ธุรกิจ บริษัท ห้างร้าน ห้างหุ้นส่วน สมาคม สหกรณ์ สภาธุรกิจ สมาคมการค้า หรือแม้แต่องค์กรที่ไม่หวังผลกำไร) ซึ่งสามารถมีส่วนร่วมในกิจกรรมเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะมีสถานะด้านกฎหมายและด้านกรรมสิทธิ์และวิธีการได้มาซึ่งเงินทุนเช่นใด
ระเบียบและคำสั่งในรัฐบัญญัติการแข่งขัน
๑. การแข่งขัน (Competition Regulations)
๒. ระเบียบการแข่งขัน (การแจ้งขออนุญาต) (Competition (Notification) Regulations)
๓. ระเบียบการแข่งขัน (บทเฉพาะกาลสำหรับข้อห้ามตามมาตรา ๓๔) (Competition(Transitional Provisions for Section 34 Prohibition) Regulations
๔. ระเบียบการแข่งขัน (ค่าธรรมเนียม) (Competition (Fees) Regulations)
๕. ระเบียบการแข่งขัน (บทกำหนดโทษ) (Competition (Composition of Offences) Regulations)
๖. ระเบียบการแข่งขัน (การอุทธรณ์) (Competition (Appeals) Regulations)
๗. คำสั่งเรื่องการแข่งขัน (โทษปรับ) ปี ๒๕๕๐ (Competition (Financial Penalties) Order ๒๐๐๗
๘. คำสั่งเรื่องการแข่งขัน (โทษปรับ) (แก้ไขเพิ่มเติม) ปี ๒๕๕๓ (Competition (Financial Penalties) (Amendment) Order 2010)
การปฏิบัติที่ต้องห้ามตามกฎหมาย
๑. การตกลงร่วมกันในลักษณะกีดกันการแข่งขัน ซึ่งรวมถึงการตัดสินใจโดยสมาคมและการสมรู้ร่วมคิด (มาตรา ๓๔ ของรัฐบัญญัติ)
๒. การใช้อำนาจเหนือตลาดโดยมิชอบ (มาตรา ๔๗ ของรัฐบัญญัติ) และ
๓. การรวมธุรกิจและการซื้อกิจการซึ่งลดการแข่งขันลงอย่างมีนัยสำคัญ (มาตรา ๕๔ ของรัฐบัญญัติ)
องค์กรที่มีอำนาจใช้บังคับกฎหมายและอำนาจหน้าที่
องค์กรที่มีอำนาจใช้บังคับกฎหมาย คือ คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าแห่งสิงคโปร์ (Competition Commission of Singapore - CCS) ซึ่งเป็นคณะกรรมการอิสระตามกฎหมายภายใต้กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม (Ministry of Trade and Industry - MTI)
คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าสิงคโปร์มีอำนาจสอบสวนและวินิจฉัยการปฏิบัติในลักษณะกีดกันการแข่งขันทางการค้า รวมทั้งทำกิจกรรมสู่ภายนอกเพื่อส่งเสริมการแข่งขันและแนะนำรัฐบาลในประเด็นปัญหาที่เกี่ยวกับการแข่งขัน (มาตรา ๖ ของรัฐบัญญัติ) ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากคำวินิจฉัยของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าแห่งสิงคโปร์อาจยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์เรื่องการแข่งขัน (Competition Appeal Board - CAB) ซึ่งเป็นศาลชำนัญพิเศษอิสระ โดยอาจยืนตามหรือยกเลิกคำวินิจฉัยที่เป็นมูลความของการอุทธรณ์
คดีล่าสุด
การตกลงร่วมกันเพื่อไม่ให้มีการแข่งขันทางการค้า - ๑๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๙– คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าได้มีคำวินิจฉัยกำหนดโทษปรับทั้งสิ้น ๙๐๙,๓๐๒ ดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ ๒๒,๔๗๔,๑๕๓ บาท) ให้แก่ที่ปรึกษาทางการเงินจำนวน ๑๐ รายในการทำข้อตกลงที่กดดันให้คู่แข่งทางการค้าถอนผลิตภัณฑ์ลดราคาออกจากตลาด โดยเกณฑ์ค่าปรับดังกล่าวคิดเต็มปี แม้ว่าข้อตกลงนั้นจะดำเนินการเพียงไม่กี่วันก็ตาม
การตกลงร่วมกันเพื่อไม่ให้มีการแข่งขันทางการค้า ๘ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๙ - คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าได้มีคำวินิจฉัยว่าตัวแทนจำหน่ายไก่ ๑๓ รายที่ได้ตกลงกันเพื่อขายสินค้าในราคาที่เท่ากันและคู่สัญญาที่ตกลงร่วมกันมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่เกี่ยวข้องมากกว่าร้อยละ ๙๐ เป็นการตกลงร่วมกันในลักษณะที่กีดกันการแข่งขันทางการค้าซึ่งเป็นลักษณะต้องห้ามตามกฎหมาย
พัฒนาการล่าสุด
คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าได้ปรึกษาหารือกับประชาชนในการเปลี่ยนแปลงเกณฑ์ค่าปรับให้เหมาะสมในการใช้บังคับบทลงโทษ เนื่องจากบทลงโทษที่ผ่านมาที่คณะกรรมการฯ ใช้เกณฑ์ปีในการคำนวณค่าปรับ และได้ออกแนวทางการคำนวณค่าปรับใหม่ โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ โดยคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าจะมีเกณฑ์การคิดค่าปรับที่มีความชัดเจนและเหมาะสมกับแนวทางปฏิบัติในปัจจุบันมากยิ่งขึ้น[๓]
๔.) เวียดนาม
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือ กฎหมายการแข่งขันทางการค้าเลขที่ ๒๗/๒๐๐๔/คิวเอช๑๑ (Competition Law No" 27/2004/QH11) ("กฎหมาย") และแนวทางที่ใช้ดำเนินการ ๖ ฉบับ (กฤษฎีกา ๕ ฉบับและหนังสือเวียน ๑ ฉบับ) ดังต่อไปนี้
๑. กฤษฎีกาเลขที่ ๑๑๖/๒๐๐๕/เอ็นดี-ซีพี (Decree No.116/2005/ND-CP) ลงวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๔๘ ซึ่งระบุข้อกำหนดโดยละเอียดสำหรับการดำเนินการตามมาตราต่าง ๆ ของกฎหมาย
๒. กฤษฎีกาเลขที่ ๑๒๐/๒๐๐๕/เอ็นดี-ซีพี (Decree No. 120/2005/ND-CP) ลงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๘ เกี่ยวกับความผิดทางปกครองในด้านการแข่งขัน
๓. กฎษฎีกาเลขที่ ๑๑๐/๒๐๐๕/เอ็นดี-ซีพี (Decree No. 110/2005/ND-CP) ลงวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๔๘ เกี่ยวกับการจัดการการขายสินค้าหลายระดับ (Multi-level sales of goods)
๔. กฤษฎีกาเลขที่ ๐๖/๒๐๐๖/เอ็นดี-ซีพี (Decree No. 06/2006/ND-CP) ลงวันที่ ๙ มกราคม ๒๕๔๙ เกี่ยวกับหน้าที่ ภารกิจ อำนาจและโครงสร้างองค์กรของ Competition Administration Department
๕. กฤษฎีกาเลขที่ ๐๕/๒๐๐๖/เอ็นดี-ซีพี (Decree No. 05/2006/ND-CP) ลงวันที่ ๖ มกราคม ๒๕๔๙ เกี่ยวกับหน้าที่ ภารกิจอำนาจและโครงสร้างของ VCC
๖. หนังสือเวียนเลขที่ ๑๙/๒๐๐๕/TT-BTM ลงวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ แนวทางการดำเนินการตามบทบัญญัติที่กำหนดในกฤษฎีกาเลขที่ ๑๑๐/๒๐๐๕/เอ็นดี-ซีพี (Decree No.๑๑๐/๒๐๐๕/ND-CP)
กิจการที่อยู่ภายใต้กฎหมาย
ตามมาตรา ๒ กฎหมายใช้กับองค์กรธุรกิจและบุคคล (เรียกว่า "กิจการ") ซึ่งรวมถึงกิจการที่ให้บริการด้านผลิตภัณฑ์หรือบริการสาธารณูปโภค กิจการที่ดำเนินการในอุตสาหกรรมและภาคเศรษฐกิจที่ผูกขาดโดยรัฐ
("ภาคและเขตเศรษฐกิจที่รัฐผูกขาด") รวมทั้งกิจการต่างชาติและสมาคมวิชาชีพที่ประกอบการในเวียดนาม
ลักษณะที่ต้องห้ามตามกฎหมาย
- การกระทำที่กำจัดการแข่งขัน (หมวด II) ซึ่งรวมถึงข้อตกลง การผูกขาด/การใช้อำนาจเหนือตลาดโดยมิชอบ และการกระจุกตัวทางเศรษฐกิจซึ่งทำลายหรือจำกัดการแข่งขันในตลาดและ
- การกระทำที่เป็นการแข่งขันโดยไม่เป็นธรรม (หมวด III) ซึ่งนิยามว่าคือการปฏิบัติทางธุรกิจที่ขัดกับมาตรฐานทั่วไปของจริยธรรมทางธุรกิจและก่อความเสียหายอันแท้จริง หรืออาจมีความเสียหายต่อผลประโยชน์ของรัฐ สิทธิอันถูกต้องตามกฎหมาย และผลประโยชน์ของกิจการอื่นหรือผู้บริโภค
องค์กรผู้มีอำนาจใช้กฎหมาย
ตาม หมวด IV ของกฎหมาย มีองค์กรที่มีอำนาจสองแห่งคือ องค์กรผู้มีอำนาจด้านการแข่งขันทางการค้าแห่งเวียดนาม (Vietnam Competition Authority - VCA) และคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าแห่งเวียดนาม (Vietnam Competition Council - VCC)
องค์กรผู้มีอำนาจด้านการแข่งขันทางการค้าแห่งเวียดนาม (VCA) รับผิดชอบในการสอบสวนการกระทำที่จำกัดการแข่งขัน การยื่นขอข้อยกเว้นสำหรับข้อตกลงและการรวมธุรกิจและการกระทำที่เป็นการแข่งขันโดยไม่เป็นธรรม
องค์กรผู้มีอำนาจด้านการแข่งขันทางการค้าแห่งเวียดนาม (VCA) ตัดสินคดีการแข่งขันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมและวินิจฉัยว่าการรวมธุรกิจจัดอยู่ในประเภทต้องห้ามหรือไม่ ในคดีอื่นทั้งหมดองค์กรผู้มีอำนาจด้านการแข่งขันทางการค้าแห่งเวียดนาม (VCA) เสนอรายงานตามลำดับต่อคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าแห่งเวียดนาม (VCC) ต่อกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าซึ่งตัดสินเรื่องการยกเว้นสำหรับข้อตกลงที่จำกัดการแข่งขันและการกระจุกตัวทางเศรษฐกิจระหว่างบุคคลซึ่งอยู่ในอันตรายจากการเลิกกิจการหรือการล้มละลาย
องค์กรกำกับดูแลเฉพาะรายสาขาที่มีอำนาจใช้บังคับด้านการแข่งขัน
ไม่มีองค์กรกำกับดูแลเฉพาะรายสาขาที่มีอำนาจใช้บังคับด้านการแข่งขันแต่ผู้เดียว อย่างไรก็ตาม มีองค์กรกำกับดูแลเฉพาะรายสาขาหรือองค์กรด้านปกครองซึ่งร่วมมือกับองค์กรผู้มีอำนาจด้านการแข่งขันทางการค้าแห่งเวียดนาม (VCA) ดังเช่น
- ภาคโทรคมนาคม กรมโทรคมนาคม กระทรวงข้อมูลและการสื่อสาร ตามกฎหมายด้านโทรคมนาคมฉบับใหม่ จะมีการจัดตั้งหน่วยงานกำกับดูแลด้านโทรคมนาคมขึ้น
- ภาคการเงิน กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งชาติเวียดนาม
- ภาคประกันภัย กรมการบริหารและกำกับดูแลการประกันภัย กระทรวงการคลัง
๕.) ไทย
พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. ๒๕๖๐ มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ ซึ่งได้ออกใช้แทนพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยกฎหมายฉบับนี้มีทั้งหมด ๖ หมวด ๙๒มาตรา แตกต่างจากฉบับเดิมที่มี ๗ หมวด ๕๖ มาตรา โดยสาระสำคัญของพระราชบัญญัติฉบับใหม่มีการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญดังต่อไปนี้
สาระสำคัญของพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. ๒๕๖๐
อ่านต่อได้ที่ กฎหมายการแข่งขันทางการค้า pdf
[๑] Komisi Pengawas Persaingan Usaha. “Competition Law .” 1999. http://eng.kppu.go.id/newkppu/wp-content/uploads/2016/11/law_5_year_1999_.pdf. (สืบค้นเมื่อวันที่ ๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๐ )
[๒] Malaysia Competition Commission. “Competition Act 2010.” 1999. http://www.mycc.gov.my/faq-competition-act-2010. (สืบค้นเมื่อวันที่ ๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๐ )
[๓] Competition Commission of Singapore. “CCS GUIDELINES ON THE APPROPRIATE AMOUNT OF PENALTY 2016.” December, 1 2016. https://www.ccs.gov.sg/~/media/custom/ccs/files/legislation/ccs%20guidel
ines/guidelines%20finalise%20apr%202017/ccs%20guidelines%20on%20the%20appropriate%20amount%20of%20penalty%20apr%2017.ashx. (สืบค้นเมื่อวันที่ ๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๐)