BANNER

ญี่ปุ่นเป็นกุญแจสำคัญในการถ่วงดุลอำนาจของจีนสำหรับอาเซียน


 ข่าวต่างประเทศ      15 Aug 2017

  




หลังจากการก่อตั้งอาเซียนครบ ๕ ทศวรรษ ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและพลวัตทางการเมืองในภูมิภาคกำลังทำให้เห็นถึงความสำคัญที่เพิ่มขึ้นของญี่ปุ่นในอาเซียนเพื่อเป็นการถ่วงดุลอำนาจของจีน
 
ญี่ปุ่นและประเทศสมาชิกของอาเซียนทั้ง ๑๐ ประเทศได้รักษาความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นมากว่า ๔๐ ปี ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว บริษัทสัญชาติญี่ปุ่นได้ทำให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นศูนย์กลางการผลิตและการส่งออกที่สำคัญโดยใช้ประโยชน์จากค่าแรงงานที่ถูกกว่าของญี่ปุ่นเอง
 
ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูล Teikoku Databank ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยเครดิตของญี่ปุ่นได้เผยว่า เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๙ ได้มีบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นกว่า ๑๑,๐๐๐ บริษัทที่ดำเนินธุรกิจในภูมิภาคอาเซียน
 
อย่างไรก็ตาม ค่าจ้างในภูมิภาคที่กำลังสูงขึ้นส่งผลเป็นการลดแรงดึงดูดการลงทุน  แม้แต่กัมพูชาที่เป็นประเทศสมาชิกของอาเซียนที่ถือเป็นหนึ่งประเทศพัฒนาน้อยที่สุดก็ไม่ได้เป็นข้อยกเว้น ค่าแรงขั้นต่ำรายเดือนของกัมพูชาได้เพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๕๐ ในระยะเวลา ๕ ปีที่ผ่านมา กล่าวคือเพิ่มจาก ๖๑ เหรียญสหรัฐเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๕ เป็น ๑๕๓ เหรียญสหรัฐ (จากประมาณ ๒๐๓๗ บาท เป็น ๕๑๑๐ บาท[๑])
 
การลงทุนที่ลดลงเห็นได้จากเขตพิเศษทางเศรษฐกิจแห่งหนึ่งที่อยู่ห่างจากกรุงพนมเปญ เมืองหลวงของกัมพูชาเพียง ๑ ชั่วโมง เดิมในพื้นที่มีป้ายบอกว่าจะมีการตั้งสถานประกอบกิจการของบริษัทผลิตรถจักรยานยนต์สัญชาติญี่ปุ่นรายใหญ่  แต่เมื่อต้นปีที่ผ่านมาปรากฏว่าป้ายนั้นได้หายไปแล้ว แหล่งข่าวแห่งหนึ่งซึ่งมีความคุ้นเคยกับเรื่องนี้ได้กล่าวว่า “ผู้ผลิตได้ทิ้งแผนเพื่อสร้างสถานประกอบกิจการที่ตรงนั้นแล้ว” กรณีดังกล่าวอาจแสดงให้เห็นข้อเท็จจริงที่ว่า ญี่ปุ่นกำลังสูญเสียสถานะคู่ค้าทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดของอาเซียนก็เป็นได้
 
การลงทุนของจีน และภัยจากจีน
 
เมื่อเดือนมิถุนายน Zhejiang Geely Holding Group ซึ่งเป็นบริษัทผลิตรถยนต์สัญชาติจีนได้ตกลงที่จะซื้อหุ้นในบริษัท Proton Holdings ของมาเลเซียไปร้อยละ ๔๙.๙ โดยนาย Najib Razak นายกรัฐมนตรีของมาเลเซียได้แสดงความหวังในขณะนั้นว่า Geely จะช่วยให้ Proton สามารถขยายกิจการได้ทั่วภูมิภาคอาเซียน
 
Proton เป็นผู้ผลิต “รถยนต์ประจำชาติ” ที่เคยได้รับการสนับสนุนทางเทคนิคจากบริษัทสัญชาติญี่ปุ่น ซึ่งการปรากฏตัวของ Geely ในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ Proton สะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงในด้านการแข่งขันของบริษัทรถยนต์ในภูมิภาคอาเซียน
 
นอกจากนี้ จีนก็กำลังเติบโตในโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย
 
ข้อมูลจาก ENR ซึ่งเป็นนิตยสารของสหรัฐอเมริกาที่เชี่ยวชาญด้านบริษัทก่อสร้างเผยว่า จีนเป็นผู้ครองตลาดอันดับ ๑ ในตลาดก่อสร้างของเอเชีย คิดเป็นร้อยละ ๑๗ ของมูลค่าโครงการต่าง ๆ ในขณะที่ญี่ปุ่นรั้งอันดับ ๕ ที่ร้อยละ ๑๐
 
การที่อิทธิพลของสหรัฐฯ ลดลงในภูมิภาคอาเซียน ก็มีแต่ทำให้อำนาจทางเศรษฐกิจของจีนในภูมิภาคเติบโตได้ง่ายขึ้น  แต่อย่างไรก็ตาม การที่จีนเติบโตง่ายขึ้นจะส่งผลให้ภูมิภาคอาเซียนเผชิญกับ “ภัยจากจีน”
 
เมื่อปลายเดือนกรกฎาคม นาย Joko Widodo ประธานาธิบดีของอินโดนีเซียได้ผลักดันให้รัฐมนตรีคมนาคมและบุคคลที่เกี่ยวข้องเริ่มโครงการสร้างรถไฟความเร็วสูงอีกครั้งหลังจากที่ชะลอโครงการมานานและเร่งดำเนินการให้เสร็จ โดยเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๘ อินโดนีเซียได้เลือกข้อเสนอจากบริษัทของจีนเพื่อควบคุมโครงการแทนบริษัทของญี่ปุ่น แต่งานก่อสร้างแทบจะไม่ได้มีการดำเนินการเลย ทำให้เป็นไปไม่ได้ที่จะมีรถไฟใช้ภายในกำหนดในปี พ.ศ. ๒๕๖๒ แม้กระทั่งบริษัทการเงินจากจีนซึ่งเป็นผู้ร่วมดำเนินงานก็ล่าช้าอย่างมาก เจ้าหน้าที่อันดับสูงคนหนึ่งของอินโดนีเซียกล่าวว่าอินโดนีเซียควรเลือกข้อเสนอจากญี่ปุ่นมากกว่า ซึ่งทำให้เห็นถึงความสำคัญของญี่ปุ่นในการถ่วงดุลอำนาจของจีนที่มากขึ้น
 
การลงทุนโดยตรงจากญี่ปุ่นในภูมิภาคนี้มีมูลค่าเกือบ ๒๐ ล้านล้านเยน (ประมาณ ๖.๑๖ ล้านล้านบาท[๒]) ควบคู่กับการลงทุนดังกล่าว ญี่ปุ่นยังได้สนับสนุนเงินลงทุนจำนวนมากในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ระบบกฎหมายต่าง ๆ รวมทั้งอุตสาหกรรมการผลิตในภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย ความสัมพันธ์หลายทศวรรษทำให้ญี่ปุ่นได้รับความไว้วางใจจากประเทศสมาชิกของอาเซียน ซึ่งเป็นสิ่งที่จีนขาดในขณะนี้ โดยผลสำรวจประเทศสมาชิกของอาเซียนจำนวน ๖ ประเทศโดย Mitsubishi Research Institute เผยว่าผู้ทำสำรวจร้อยละ ๘๖ กล่าวว่าพวกเขา “ชอบญี่ปุ่นมาก ๆ” หรือไม่ก็ “ชอบญี่ปุ่น” โดยมีเพียงร้อยละ ๓๖ เท่านั้นที่ตอบในลักษณะทำนองเดียวกันเมื่อกล่าวถึงจีน จากผลสำรวจดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าภูมิภาคนี้เป็นตลาดที่ญี่ปุ่นสามารถเติบโตได้อย่างมั่นคง ซึ่งตรงข้ามกับกรณีของจีนที่มีความเสี่ยงทางการเมืองสูง ยกตัวอย่างจากอุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่งบริษัทผลิตรถยนต์จากญี่ปุ่นเป็นผู้นำในภูมิภาคอาเซียนโดยถือหุ้นร้อยละ ๘๐ ของมูลค่าหุ้นรวมทั้งหมดในตลาดของ ๖ ประเทศสมาชิกของอาเซียน เทียบเท่ากับการขายรถยนต์ประมาณ ๒.๕ ล้านคันต่อปี จำนวนดังกล่าวมากกว่าจำนวนที่ญี่ปุ่นสามารถขายได้ในยุโรปหรืออินเดีย และน้อยกว่ายอดรวมทั้งหมดที่ขายได้ในจีนประมาณร้อยละ ๓๐
 
มุ่งหน้าสู่อนาคต  
 
บริษัทแห่งหนึ่งซึ่งเป็นผู้ผลิตฟิล์มยืดพันพาเลท (Stretch Film)[๓] ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียภายใต้ชื่อ Scientex ได้แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นและอาเซียน โดยที่โรงงานของบริษัทฯ มีป้ายเขียนว่า “คุณภาพญี่ปุ่นในราคาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Japan Quality at South East Asia Cost)” Scientex เป็นบริษัทที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๑ หรือ ๑ ปีหลังจากการก่อตั้งสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) และบริษัทฯ ได้เติบโตด้วยความช่วยเหลือจากหุ้นส่วนบริษัทสัญชาติญี่ปุ่น เช่น Futamura Chemical โดยในปัจจุบัน บริษัทฯ ดังกล่าวส่งออกผลิตภัณฑ์ไปยังประเทศต่าง ๆ ประมาณ ๘๐ ประเทศทั่วโลก
 
ขณะนี้อาเซียนเป็นเขตเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่มีประชากร ๖๐๐ ล้านคน มีการคาดการณ์ว่าในประมาณปี พ.ศ. ๒๕๖๘ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product-GDP) ของทั้ง ๑๐ ประเทศรวมกันจะมากกว่าของญี่ปุ่น การฉลองครบรอบ ๕๐ ปีแห่งอาเซียนน่าจะเป็นโอกาสที่ดีในการสะท้อนว่าญี่ปุ่นและอาเซียนสามารถสร้างความสัมพันธ์ทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจที่เท่าเทียมกันในอีก ๕ ทศวรรษต่อไปอย่างไร

เรียบเรียงจาก  https://asia.nikkei.com/Politics-Economy/International-Relations/For-ASEAN-Japan-is-a-key-counterbalance-to-China
 

[๑] ๑ เหรียญสหรัฐ = ๓๓.๔ บาท (ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยวันที่ ๒๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๐)
[๒] ๑๐๐ เยน = ๓๐.๘๒ บาท (ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยวันที่ ๒๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๐)
[๓] ฟิล์มพลาสติกชนิดหนึ่งที่มีคุณสมบัติเฉพาะ มีความเหนียว ใส ยืดหยุ่นสูง และเกาะติดกันเองได้ ข้อมูลจาก http://www.tpplaspack.com/%E0%B8%9F%E0%B8%B4%E0%B8%A5%E0%B9%8C%E0%B8%A1%E0%B8%A2%E0%B8%B7%E0%B8%94%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%9E%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%97

© 2017 Office of the Council of State.