BANNER

การถอนตัวจากความตกลงปารีสของสหรัฐอเมริกา ส่งผลกระทบต่อความร่วมมือด้านสภาพภูมิอากาศของอาเซียนหรือไม่


 ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน      11 Jul 2017

  



ภาพจาก timedotcom

บทนำ
เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๐ นายโดนัลด์  ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาได้ประกาศถอนตัวออกจากความตกลงปารีสที่มีวัตถุประสงค์เพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) การตัดสินใจของประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะทำให้อาเซียนเปลี่ยนจุดมุ่งหมาย  การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในรูปแบบเศรษฐกิจแนวใหม่เพื่อรองรับกับพันธกรณีตามความตกลงปารีส (Paris Agreement) หรือไม่

ความตกลงปารีสคืออะไร
 ความตกลงปารีส หรือ Paris Agreement เป็นความตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change-UNFCCC) เพื่อกำหนดมาตรการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๖๓ ความตกลงดังกล่าวเจรจากันในช่วงการประชุมภาคีสมาชิกของ UNFCCC ครั้งที่ ๒๑ ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และได้รับความเห็นชอบในวันที่ ๑๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๘[๑]

เนื้อหาหลักของความตกลงปารีส
เป้าหมายหลักของความตกลงปารีส คือ ควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน ๒ องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับระดับก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม และพยายามควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกิน ๑.๕ องศาเซลเซียส ความตกลงปารีสตั้งเป้าจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงจนถึงระดับที่ต้นไม้ พื้นดิน และมหาสมุทร สามารถดูดซับก๊าซนี้ได้เองในช่วง พ.ศ. ๒๕๙๓-๒๖๔๓ และให้ประเทศที่พัฒนาแล้วช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศยากจนในการต่อสู้โลกร้อน โดยให้ทบทวนผลกันทุก ๆ ๕ ปี

ประเทศภาคีของความตกลงปารีส
ความตกลงปารีสประกอบด้วยประเทศสมาชิกจำนวน ๑๙๗ ประเทศ ซึ่งรวมถึงสหรัฐอเมริกาที่ประธานาธิบดีบารัค  โอบามาได้ร่วมลงนามที่กรุงปารีส ฝรั่งเศส ในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ ในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอุณหภูมิ (Conference of Parties - COP21) ความตกลงปารีสอยู่ภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ซึ่งมีเป้าหมายให้ชาติต่าง ๆ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจกลงโดยสมัครใจ เพื่อต่อสู้กับภาวะโลกร้อน

ขณะนี้มีประเทศภาคีให้สัตยาบันรับรองความตกลงปารีสแล้วจำนวน ๑๔๙ ประเทศจากจำนวนทั้งสิ้น ๑๙๗ ประเทศซึ่งเกินร้อยละ ๕๕ และทำให้ความตกลงดังกล่าวมีผลใช้บังคับแล้ว โดยสหรัฐฯ ได้ลงนามในความตกลงปารีสเมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๙ ให้สัตยาบันรับรองเมื่อวันที่ ๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๙ และความตกลงปารีสฯ มีผลใช้บังคับกับสหรัฐฯ เมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๙

ประเทศที่ไม่ได้เป็นภาคีในความตกลงปารีส
มีเพียง ๒ ประเทศที่ไม่ได้เข้าร่วมผูกพันในความตกลงปารีส ได้แก่ ประเทศนิการากัวและประเทศซีเรีย เนื่องจากประเทศนิการากัวไม่ต้องการรับภาระหน้าที่การช่วยลดอุณหภูมิโลกและมองว่าเป็นหน้าที่ของประเทศที่พัฒนาแล้วมากกว่า อีกทั้งประเทศของตนมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เมื่อเทียบกับประเทศอื่นที่พัฒนาแล้ว ส่วนประเทศซีเรียที่ไม่ได้เข้าร่วมเนื่องจากยังอยู่ในภาวะสงครามขณะที่มีการทำความตกลงปารีส[๒]
 
ความตกลงปารีส: กรอบการทำงานระดับโลก
ความตกลงปารีสเป็นความตกลงฉบับแรกที่เกือบทุกประเทศทั่วโลกได้มีความพยายามร่วมมือเพื่อจัดการปัญหาโลกร้อนร่วมกัน โดยเฉพาะที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากประเทศจีนและสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด รวมไปถึงรัฐที่เป็นเกาะเล็ก ๆ ก็เข้าร่วมเป็นภาคีในความตกลงนี้ เหตุผลประการหนึ่งที่ทำให้ความตกลงนี้ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางจากนานาประเทศคือ ความยืดหยุ่นที่ทำให้รัฐบาลของแต่ละประเทศสามารถปรับใช้ตามความเหมาะสมกับชาติและสถานการณ์ของตน

นอกจากนี้ ประเทศที่เข้าเป็นภาคีในความตกลงปารีสได้ตระหนักถึงผลกระทบของมลภาวะทางอากาศที่แต่ละประเทศต้องเผชิญ เช่น จีนได้เผชิญปัญหาด้านมลภาวะทางอากาศและการขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ ผู้นำของจีนจึงตระหนักว่าสภาพปัญหาเช่นนี้จะทำให้อนาคตของประเทศไม่มีเสถียรภาพ เพราะจะทำให้คุณภาพชีวิตกับการเติบโตทางเศรษฐกิจไม่พัฒนาขึ้น สำหรับอาเซียนได้มีรายงานการศึกษาแสดงให้เห็นถึงข้อด้อยของภูมิภาคที่อยู่ในแถบร้อนและมีแนวโน้มว่าจะเกิดภัยพิบัติ เช่น พายุใต้ฝุ่นที่รุนแรงมากขึ้น ในรายงานการศึกษายังได้แสดงถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำฝนที่มีผลต่อการประกอบอาชีพเกษตรกรรมอีกด้วย

ทรัมป์ประกาศถอนตัวจากความตกลงปารีส
การที่นายโดนัลด์  ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐประกาศถอนตัวออกจากความตกลงปารีส ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจเท่าไรนัก เนื่องจากนายทรัมป์ได้เคยประกาศไว้ในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องโกหกซึ่งถูกจีนแต่งขึ้นเพื่อทำลายเศรษฐกิจ และกล่าวถึงความตกลงปารีสว่าเป็น “ความตกลงที่เลวร้าย” สำหรับสหรัฐฯ ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่สุดอันดับ ๒ ของโลกรองจากจีน

เหตุผลจากการถอนตัวของทรัมป์ออกจากความตกลงปารีส
ทรัมป์ชี้ว่าการเข้าร่วมเป็นภาคีในความตกลงนี้จะทำให้สหรัฐฯ มีคนตกงานถึง ๖.๕ ล้านคน และสูญเสียจีดีพีถึง ๓ ล้านล้านดอลลาร์ และจะทำให้ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมถ่านหินและน้ำมันซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกิจหลักของสหรัฐฯ

ผลกระทบจากการถอนตัวจากความตกลงปารีสของสหรัฐฯ
การตัดสินใจของทรัมป์เป็นเรื่องเข้าใจผิดในทางวิทยาศาสตร์ แม้ว่าหลายฝ่ายจะออกมาเตือนก่อนหน้านี้แล้วก็ตาม เพราะอากาศใกล้ผิวดินทั่วโลกโดยเฉลี่ยมีค่าสูงขึ้น ๐.๗๔ ± ๐.๑๘ องศาเซลเซียส ในช่วง ๑๐๐ ปีที่ผ่านมา นับจนกระทั่งถึงปี พ.ศ. ๒๕๔๘[๓] ทำให้ภัยพิบัติทางธรรมชาติรุนแรงขึ้นจากโลกร้อน เช่น การละลายของธารน้ำแข็งใน Alaska ทำให้น้ำในมหาสมุทรมีปริมาณสูงขึ้นจนเกิดน้ำท่วมในหลายรัฐ และน้ำทะเลสูงขึ้นทำให้เกาะเวลสเคท (Whale Skate Island) ในบริเวณหมู่เกาะฮาวายจมหายไป โดยหากอุณหภูมิโลกยังคงสูงขึ้น สิ่งมีชีวิตหลายชนิดจะต้องอพยพย้ายถิ่น หรืออาจสูญพันธุ์ไปจากโลก พื้นที่เกษตรกรรมจะได้รับผลกระทบ ส่งผลต่อการผลิตอาหารและต่อเศรษฐกิจโลก

นักเศรษฐศาสตร์ชี้ว่าการถอนตัวของสหรัฐอเมริกาทำให้ความร่วมมือระดับโลกของสหรัฐฯ อยู่ในระดับที่ต่ำลง นอกจากนี้ยังจะทำให้สหรัฐฯ สูญเสียความเป็นผู้นำโลกด้านการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในด้าน “พลังงานสีเขียว” (Green Energy) “พลังงานหมุนเวียน” (Renewable Energy) และภาวะโลกร้อนจะทำให้ GDP โลกลดลงถึงร้อยละ ๒๐ ภายในปี พ.ศ. ๒๖๔๓ สูงกว่าที่ประเมินก่อนหน้านี้ถึง ๕ เท่า
แม้ว่าทรัมป์ได้ประกาศถอนตัวจากความตกลงฯ แล้วก็ตาม แต่นักธุรกิจส่วนใหญ่และบริษัทชั้นนำในสหรัฐฯ ยังยืนหยัดเดินหน้าที่จะปรับองค์กรธุรกิจของตนเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการบริหารห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและทำให้โลกสะอาดมากยิ่งขึ้น

นายเจอร์รี  บราวน์ ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย ให้คำมั่นว่า แคลิฟอร์เนียจะคัดค้านการตัดสินใจของประธานาธิบดีโดนัลด์  ทรัมป์ ที่ได้นำสหรัฐฯ ถอนตัวออกจาก "ความตกลงปารีสว่าด้วยปัญหาโลกร้อน" ทั้งนี้ นายเจอร์รี  บราวน์ ได้ร่วมมือกับผู้นำประเทศต่าง ๆ ในการจัดทำความตกลงเพื่อควบคุมภัยโลกร้อน หรือที่รู้จักกันในชื่อ "Under 2 MOU" ร่วมกับประเทศต่าง ๆ กว่า ๑๗๐ ประเทศทั่วโลก ลงนามร่วมกันเพื่อจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกไม่ให้เกิน ๒ องศาเซลเซียส[๔]  

เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาหลังจากนางอังเกลา  แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนีพบปะกับผู้นำสหรัฐฯ นางอังเกลา  แมร์เคิล ก็ได้เรียกร้องให้สหภาพยุโรปเตรียมพร้อมหาทางเพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ แม้ไม่มีสหรัฐอเมริกา

ความเคลื่อนไหวของจีนหลังสหรัฐฯถอนตัวจากความตกลงฯ
ประเทศจีนเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลก นอกจากนี้ จีนยังเคยเผชิญกับความยากลำบากจากการถูกกล่าวหาที่ว่าการพัฒนาโครงสร้างขั้นพื้นฐานของจีนเป็นการเพิ่มมลภาวะในอากาศและเป็นอันตรายต่อชุมชนท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม ภายหลังสหรัฐฯประกาศถอนตัวจากความตกลงปารีส จีนก็ได้ออกมาประกาศว่าจีนยังคงยึดมั่นตามความตกลงปารีสในฐานะที่เป็นประเทศใหญ่ที่มีความรับผิดชอบต่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

เหตุผลที่จีนยังคงยึดมั่นในความตกลงฯ
จีนมองว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นยุทธศาสตร์และโอกาสของตน จึงไม่ได้ถอนตัวจากความตกลงปารีส และมุ่งมั่นเดินหน้ารับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรมให้เป็นโรงงานสีเขียว[๕] (green factory) ในเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ที่ใช้คาร์บอนต่ำ โดยเพิ่มแหล่งพลังงานทดแทน (renewable energy) และทักษะความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยี เช่น แบตเตอรี่และรถยนต์พลังงานไฟฟ้า

นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของจีน
เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๖๐ ในการประชุมเศรษฐกิจโลก ณ เมืองดาโวส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ นายสี  จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนได้เรียกร้องให้สหรัฐอเมริกาปฏิบัติตามความตกลงปารีสต่อไปและจีนได้สนับสนุนความตกลงนี้ด้วยคำมั่นที่หนักแน่นมากขึ้นโดยเพิ่มการลงทุนในด้านพลังงานสีเขียวและลดโครงการที่ใช้คาร์บอนสูงหรือใช้เชื้อเพลิงถ่านหิน ขณะนี้จีนมีความต้องการในการปฏิบัติตามความตกลงฯ อย่างจริงจังและคาดว่าจีนมีโอกาสเป็นผู้นำโลกด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเติบโตทางเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น

เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ปักกิ่งได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำและผลักดันข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative) ซึ่งเป็นความพยายามครั้งยิ่งใหญ่ของจีนที่ต้องการเชื่อมโยงเอเชียและยุโรปทั้งทางทะเลและทางบก แม้ว่าประเทศต่าง ๆ ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับข้อริเริ่มนี้ก็ตาม แต่จีนก็ยังมีการริเริ่มอีกโครงการหนึ่ง ได้แก่ ข้อริเริ่มธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank – AIIB) เพื่อใช้เงินลงทุนสร้างโครงสร้างขั้นพื้นฐานให้เป็นแบบปล่อยก๊าซคาร์บอนต่ำ โดยยกระดับสาธารณูปโภค  ด้านพลังงาน ด้านการคมนาคมขนส่ง แหล่งน้ำสะอาด เป็นต้น  ซึ่งจีนคาดว่าข้อริเริ่มนี้จะเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาสู่ความยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคต การกำหนดนโยบายของจีนเป็นการกระตุ้นประเทศต่าง ๆ ให้ออกนโยบายรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเช่นกัน

ธนาคารกลางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (People’s bank of China) ได้มี “สินเชื่อเพื่อโลกสีเขียว (Green finance)” อันเป็นแผนที่โดดเด่นและยอดเยี่ยมใน G20 (กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาผู้ส่งออกสินค้าเกษตร) นอกจากนี้จีนยังมีกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม (Pro-green regulation) ซึ่งเป็นกฎเกณฑ์สำหรับธนาคารหลายแห่งของจีน จึงทำให้จีนเป็นประเทศที่ออกตราสารหนี้สีเขียว[๖] (green bonds) รายใหญ่ที่สุดของโลกในปัจจุบัน ดังนั้นเมื่อจีนได้ลงทุนไปทั่วภูมิภาค การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน พลังงาน และโครงการอื่น ๆ ก็ควรจะเป็นการลงทุนสีเขียวด้วย

จีนและสหภาพยุโรปให้คำมั่นว่าจะปฏิบัติตามความตกลงปารีสอย่างเต็มรูปแบบ ดังนั้น จีนไม่ต้องดำเนินการโดยลำพัง แม้ว่าทรัมป์จะได้ถอนตัวจากความตกลงฯ อีกทั้งยังสามารถร่วมมือกับประเทศอื่นในอาเซียนได้

บทวิเคราะห์อาเซียนกับการตัดสินใจของ ๒ ประเทศมหาอำนาจ
เมื่อพิจารณนโยบายของประเทศมหาอำนาจอย่างจีนและสหรัฐฯ ที่ทั้งสองต่างมีจุดยืนในเรื่องการจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่แตกต่างกันนั้น ผู้เขียนเห็นว่าอาเซียนควรนำจีนเป็นแบบอย่างในการเดินหน้าพัฒนาแผนเศรษฐกิจโดยใช้นโยบายพลังงานสีเขียวเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อันจะเป็นการช่วยลดอุณหภูมิโดยรวมของโลก ซึ่งเป็นการสอดคล้องกับความตกลงปารีสที่ทุกประเทศในอาเซียนเป็นภาคีด้วย เพราะปัจจุบันบริษัทชั้นนำทั่วโลกต่างพัฒนาไปสู่ธุรกิจประหยัดพลังงาน หรือเปลี่ยนแปลงการจัดการห่วงโซ่อุปทานโดยใช้พลังงานทดแทนและพยายามลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้น้อยที่สุด และผู้บริโภคส่วนมากก็เริ่มปรับตัวและเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคมาเลือกผลิตภัณฑ์สีเขียวมากขึ้น ดังนั้น การที่อาเซียนเดินหน้าตามความตกลงปารีสจะทำให้เราก้าวไปข้างหน้าพร้อมกับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก ไม่เป็นการทิ้งโลกนี้และอยู่โดดเดี่ยวอย่างสหรัฐฯ

อาเซียนกับความร่วมมือด้านสภาพภูมิอากาศ
ปัจจุบันประเทศในอาเซียนให้ความสนใจในการหาทางจัดการหมอกควันจากไฟป่าในอินโดนีเซีย  ซึ่งไม่เป็นแค่เพียงต้นเหตุของมลภาวะทางอากาศในแถบภูมิภาคเท่านั้น แต่ยังเป็นแหล่งคาร์บอนแหล่งใหญ่ในโลกอีกด้วยเมื่อเปรียบเทียบจากปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากไฟป่านั้นมีปริมาณมากกว่าปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในหนึ่งปีของสหราชอาณาจักรรวมกัน อย่างไรก็ตาม การที่อาเซียนพยายามหาสาเหตุของการเกิดไฟป่ากับสินเชื่อเพื่อโลกสีเขียว และส่งเสริมการลงทุนในโครงสร้างขั้นพื้นฐานและสาธารณูปโภคต่าง ๆ ทางด้านพลังงาน การคมนาคมขนส่ง และอาคาร ให้ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ จะสามารถนำไปสู่ผลลัพธ์เชิงบวกในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ แม้ว่าจะไม่ได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ก็ตาม
 
ทางออกอาเซียน
แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต้องเป็นความร่วมมือระดับโลกอย่างแท้จริง และการที่สหรัฐฯจะกลับมาเข้ามาอยู่ภายใต้ความตกลงก็เป็นสิ่งที่จำเป็น อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์ที่ดีที่สุดในการหาทางออกของอาเซียนนั้นควรจะสร้างความเคลื่อนไหวโดยผลักดันให้ประเทศสมาชิกปฏิบัติตามความตกลงปารีสมากกว่าพยายามหาทางคัดค้านและเจรจากับประธานาธิบดีทรัมป์เพื่อสร้างความตกลงใหม่ เนื่องจากหากประเทศสมาชิกปฏิบัติตามความตกลงปารีสอย่างได้ผลแล้ว ข้อดีที่จะเกิดกับอาเซียน คือ การช่วยชะลอไม่ให้เกิดปัญหาทางสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติทางธรรมชาติในภูมิภาคอาเซียนซึ่งมีสาเหตุมาจากภาวะโลกร้อน เช่น น้ำท่วม ฝนแล้ง และลมพายุ อีกทั้งยังเป็นการช่วยลดปัญหาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ เนื่องจากเกษตรกรคาดเดาสภาพแวดล้อมไม่ได้จากการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศอีกด้วย

บทสรุป
การถอนตัวจากความตกลงปารีสของสหรัฐอเมริกาไม่ทำให้อาเซียนเปลี่ยนจุดมุ่งหมายจากการเดินหน้าปฏิรูปเศรษฐกิจใหม่ในรูปแบบพลังงานสีเขียว อาเซียนควรเร่งเดินหน้าหามาตรการที่จะสามารถปฏิบัติตามความตกลงฯ ได้ โดยหาสาเหตุของการเกิดไฟป่าในอินโดนีเซียเพื่อจัดการแก้ปัญหา และวางแผนทำให้มีสินเชื่อเพื่อโลกสีเขียวและส่งเสริมการลงทุนในโครงสร้างขั้นพื้นฐานของอาเซียน รวมถึงผลักดันให้ประเทศสมาชิกอาเซียนปฏิบัติตามความตกลงปารีสโดยไม่ต้องพึ่งพาสหรัฐฯ มากนัก
จันทพร ศรีโพน
 
 

[๑]  ABC Australia. "Paris climate talks: France releases 'ambitious, balanced' draft agreement at COP21.", http://www.abc.net.au/news/2015-12-12/world-adopts-climate-deal-at-paris-talks/7023712, 12 December 2015.  (สืบค้นเมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๖๐)
[๒] The Washington Post. “Why Nicaragua and Syria didn’t join the Paris climate accord.” https://www.washingtonpost.com/news/worldviews/wp/2017/05/31/why-nicaragua-and-syria-didnt-join-the-paris-climate-accord/?utm_term=.6a7e87b2a712 ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๐  (สืบค้นเมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๖๐)
[๓]  Intergovernmental Panel on Climate Change, "Summary for Policymakers" Climate Change 2007: The Physical Science Basis. Contribution of Working Group I to the Fourth Assessment Report of the Intergovernmental Panel on Climate Change. 5 February 2007
[๔] ABC news, "California, China sign climate deal after Trump's Paris exit.", http://abcnews.go.com/International/wireStory/california-gov-brown-us-stay-climate-fight-47856346
๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๐ (สืบค้นเมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๖๐)
[๕] โรงงานสีเขียวมาจากโครงการอุตสาหกรรมสีเขียวที่ต้องการให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของภาคธุรกิจอุตสาหกรรมมีความสอดคล้องกับศักยภาพ และความเป็นไปได้ของระบบนิเวศ รวมทั้งความผาสุกของสังคม ตัวอย่างเช่น การออกแบบผลิตภัณฑ์รักษ์สิ่งแวดล้อม (Eco Design – Eco Product) การให้การรับรองผลิตภัณฑ์ ฉลากเขียว (Green Label หรือ Eco-Label) การลดมลพิษ และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น
[๖] ตราสารหนี้ที่ออกเพื่อระดมทุนสำหรับสินเชื่อเพื่อโลกสีเขียว (Green Finance) อันเป็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศ

© 2017 Office of the Council of State.