ภาพจาก กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
บทนำ
เมื่อนึกถึงประเทศไทยคนมักจะนึกถึงสิ่งพื้นฐานอันเป็นเอกลักษณ์ของความเป็นไทย เช่น วัฒนธรรมที่ประณีตงดงาม วัด พระพุทธรูป ชายหาดที่สวยงาม ช้างคู่บ้านคู่เมือง รวมถึงสิ่งต่าง ๆ ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวนับล้านให้เข้ามาในประเทศในแต่ละปี แต่ในอีกมุมหนึ่งสมาชิกของชุมชนฟินเทคในประเทศไทยกลับมองว่าประเทศไทยมีความพร้อมทางด้านทรัพยากรและมีศักยภาพในการพัฒนาฟินเทคสตาร์ทอัพ[๒] ไปสู่ระดับภูมิภาคและระดับโลกได้ จะเห็นได้จากการที่ประเทศไทยได้จัดงาน Startup Thailand 2016 ขึ้นเมื่อปีที่ผ่านมา งานดังกล่าวเป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้สังคมหันมาสนใจในธุรกิจสตาร์ทอัพ โดยได้มีการรวมตัวกันมากที่สุดเป็นครั้งแรกของสตาร์ทอัพกว่า ๑๘๐ รายและได้กลายเป็นงานสตาร์ทอัพที่มีจำนวนผู้เข้าร่วมงานกว่า ๓๖,๐๐๐ คน ซึ่งถือว่ามากที่สุดในเอเชีย ก่อให้เกิดเม็ดเงินลงทุนมูลค่าสูงถึง ๔,๐๐๐ ล้านบาท จึงเห็นได้ว่าแม้เอกลักษณ์ของความเป็นไทยกับเทคโนโลยีอย่างฟินเทคจะเป็นสิ่งที่คาดไม่ถึงว่าจะสามารถนำมารวมกันได้ แต่ก็ไม่ใช่อุปสรรคที่จะขวางกั้นที่จะทำไม่ให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางฟินเทคในอาเซียน
คำนิยามของ ฟินเทค (Fintech)
ฟินเทค (Fintech) มาจากคำว่า financial technology หมายถึง เทคโนโลยีการเงินที่ช่วยให้การบริการด้านการเงินมีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยได้นำเอาเทคโนโลยีมาเป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดนวัตกรรมในโครงสร้างพื้นฐานด้านการเงิน ผลิตภัณฑ์ บริการ และการกระจายสินค้าและบริการอย่างมีประสิทธิภาพสูง ตัวอย่างบริษัทฟินเทค สตาร์ทอัพ ที่ประสบความสำเร็จ
เช่น
- รูปแบบระบบการจ่ายเงินและการโอนเงินข้ามประเทศ เช่น Omise payment 2c2p everex และการชำระบิลผ่าน 7-Eleven
- ระบบการประกันภัย เช่น Claim Di
- รูปแบบสกุลเงินดิจิทัล เช่น Bitcoin
- เครื่องมือทางธุรกิจและระบบการเงินส่วนบุคคล เช่น Pymlo flowaccount.com และ iTax Pro
- การเปรียบเทียบทางการเงิน เช่น gobear refinn และ rabbit finance
- การศึกษาและการวิจัย เช่น bankerslab และ stock2morrow
- การลงทุนรายย่อย เช่น Jitta Finnomena และ StockRadars
- การซื้อขายหุ้น เช่น Settrade Streaming[๓]
- การกู้เงิน เช่น Duriancorp ซึ่งเป็น Crowdfunding หรือ การระดมทุนผ่านระบบออนไลน์ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ SMEs และ Start Up
ฟินเทคในประเทศไทยและทิศทางการพัฒนาฟินเทคในประเทศไทย
ในปัจจุบันเราคงจะได้ยินคำว่าฟินเทคกันอยู่บ่อย ๆ ซึ่งฟินเทคนั้นดูเหมือนจะเป็นนวัตกรรมที่เพิ่งเกิดขึ้นมาไม่นานนัก แต่จริง ๆ แล้วในประเทศไทยนั้นฟินเทคอาจจะไม่ใช่ของใหม่ เพราะที่ผ่านมาได้มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในธุรกิจด้านการเงินก่อนอุตสาหกรรมอื่น ๆ ก่อนหน้านี้เราก็เห็นจากการที่มีการย้ายสถานะ “เงินสด” มาสู่ “เงินอิเล็กทรอนิกส์” ผ่านการใช้บัตรเครดิตและบัตรเดบิต กันมาเยอะแล้ว และในปัจจุบันได้พัฒนามาอยู่ในหลากหลายรูปแบบ
นอกจากนี้ ในปัจจุบันจะเห็นได้ว่ามีการร่วมมือกันของหลายภาคส่วนในการพัฒนาฟินเทค อาทิเช่น การจัดตั้งสมาคมฟินเทคแห่งประเทศไทย ในปี พ.ศ. ๒๕๕๙ โดยสมาคมฟินเทคแห่งประเทศไทยเป็นเครือข่ายที่อำนวยความสะดวกในการประสานความร่วมมือระหว่างธุรกิจฟินเทคสตาร์ทอัพ ภาครัฐ ธนาคารขนาดใหญ่ และนักลงทุน โดยชมรมได้ยื่นขอจดทะเบียนเป็นสมาคมกับกระทรวงมหาดไทยในปี พ.ศ. ๒๕๖๐ และสมาคมฯเชื่อว่าฟินเทคในไทยมีจุดแข็งและสามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนและตลาดอื่น ๆ ได้ สมาคมฯมุ่งมั่นที่จะมีส่วนร่วมในการพัฒนาธุรกิจฟินเทคในประเทศไทย และส่งเสริมการขยายตัวของธุรกิจฟินเทคสตาร์ทอัพ และผลักดันเข้าสู่ตลาดโลก โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยเหลือธุรกิจในทุกระดับ เพราะเชื่อว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตได้[๔]
สำหรับทางด้านภาคการธนาคารก็มีหน่วยงานที่สนับสนุนฟินเทคด้วยเช่นกัน เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ มี Digital Ventures ส่วนธนาคารกรุงศรีอยุธยาก็มี Krugsri Rise ส่วนธนาคารกรุงไทยและออมสินก็มีกองทุนเพื่อ SMEs ที่สนับสนุนเรื่องฟินเทคอยู่ และธนาคารกสิกรไทก็ได้จัดตั้งหน่วยงาน KBTG เพื่อดูแลทางด้านฟินเทค[๕]
ฟินเทคเข้ามามีบทบาทในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยจากการวิเคราะห์ของ Moody’s Analytics พบว่า เศรษฐกิจในประเทศไทยเติบโตสูงสุดในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นผลมาจากการเติบโตของการจ่ายเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น การใช้จ่ายของบัตรธนาคาร ที่มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ ๐.๑๙ ของ GDP ประเทศไทยช่วงเวลาปี พ.ศ. ๒๕๕๓ ถึง ๒๕๕๘ หรือ คิดเป็นเม็ดเงินที่มีมูลค่าสูงถึง ๓.๑๘ พันล้านเหรียญสหรัฐ
ในขณะนี้ ก็มีการประกอบธุรกิจฟินเทคสตาร์ทอัพ ในประเทศไทย โดยฟินเทคสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จสูงสุด คือ Omise (โอมิเซะ) ก่อตั้งขึ้นโดยผู้ก่อตั้งชาวไทย คุณอิศราดร หะริณสุต และผู้ร่วมก่อตั้งชาวญี่ปุ่น คุณ Jun Hasegawa โดยมีลักษณะเป็นแพลตฟอร์มการชำระเงินหลังบ้านของหลายองค์กรธุรกิจ หรือมีลักษณะเป็นเครื่องรูดบัตรเครดิตออนไลน์สำหรับเจ้าของเว็ปไซต์ หรือผู้ทำธุรกิจ e-commerce โดยไม่มีการเก็บค่าแรกเข้า ค่าธรรมเนียมรายเดือนหรือรายปี ไม่มียอดขั้นต่ำในการใช้บริการ การให้บริการดังกล่าวจะคิดค่าธรรมเนียมโดยหักจากการโอนเงินร้อยละ ๓.๖๕ ต่อหนึ่งรายการ เช่น หากทำรายการ ๑,๐๐๐ บาทจะมีค่าธรรมเนียม ๓๖ บาท โดยโอมิเซรองรับทุกบัตรทั่วโลกไม่ว่าจะ Mastercard Visa และอื่น ๆ จึงเป็นการเปิดโอกาสให้ร้านค้าออนไลน์ที่จะเข้าถึงลูกค้ามากยิ่งขึ้นและทำให้ร้านค้าออนไลน์มีความเป็นมืออาชีพมากยิ่งขึ้น ในปี พ.ศ. ๒๕๕๙ บริษัทได้ระดมทุนจำนวน ๑๗.๕ ล้านเหรียญ หรือ ๖๐๐ ล้านบาท ในอนาคตคาดว่าจะเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์เพื่อระดมทุนจากมหาชน โดยขณะนี้ Tokyo Stock Exchange ได้เข้ามาติดต่อเพื่อดึงบริษัทเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่น โอมิเซะจึงนับว่าเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพไทยที่มีการระดมทุนมากที่สุดในอุตสาหกรรมฟินเทคในไทยและอาเซียน นับว่าเป็นเรื่องที่สร้างแรงบันดาลใจต่อธุรกิจฟินเทคสตาร์ทอัพอื่น ๆ ในไทย และทิศทางในอนาคตของโอมิเซะนั้นมุ่งที่จะเข้าถึงกลุ่มคนที่ไม่สามารถเป็นลูกค้าธนาคารได้ด้วยเพราะมีข้อจำกัดต่าง ๆ ซึ่งคิดเป็นร้อยละถึง ๗๐ ของประชากรไทย ให้บุคคลเหล่านี้สามารถทำธุรกรรมการเงินได้ง่ายยิ่งขึ้น ถือเป็นสัดส่วนประชากรที่เยอะมาก ดังนั้น จึงแสดงถึงความเป็นไปได้ที่บริษัทฟินเทคสตาร์ทอัพในไทยจะเติบโตขึ้นได้อีกมาก
ความร่วมมือในระดับภูมิภาคอาเซียน
ในการพบกันของนักธุรกิจจะมีการพูดคุยถึงเรื่องโอกาสการขยายธุรกิจฟินเทคในประเทศไทยอยู่บ่อยครั้ง ตัวอย่างเช่น บริษัท TechGrind ซึ่งมีเป้าหมายที่จะสร้างซิลิคอน วัลเลย์ (Silicon Valley)[๖] ในกรุงเทพฯ โดยเห็นถึงศักยภาพของประเทศไทยพอที่จะเป็นศูนย์กลางและเป็นสำนักงานหลักของ TechGrind ในอาเซียน โดยบริษัทฯ จะเลือกลงทุนในบริษัทที่สามารถแข่งขันในระดับภูมิภาคเท่านั้นเพื่อขยายฟินเทคสตาร์ทอัพไปสู่ระดับภูมิภาค เพราะเชื่อว่าแม้ว่าประเทศไทยจะมีสตาร์ทอัพที่ดี แต่ถ้าไม่ได้ผลักดันสู่ระดับภูมิภาคหรือระดับโลกแล้ว สตาร์ทอัพนั้นจะล้าสมัยภายใน ๒ ถึง ๓ ปีข้างหน้า[๗] ธุรกิจสตาร์ทอัพจึงควรที่จะมีความสามารถในการทำธุรกิจระหว่างประเทศ ในระดับระดับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นอย่างน้อย ซึ่งจะเพิ่มโอกาสในการชนะคู่แข่งทางการค้าอื่น ๆ ได้ไม่ยาก
เมื่อนักลงทุนฟินเทคส่วนใหญ่ต้องการที่จะขยายตัวสู่ระดับภูมิภาคอาเซียน กลุ่มประเทศอาเซียนก็ได้มีการบูรณาการมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อที่จะส่งเสริมให้การทำธุรกิจในระดับภูมิภาคนั้นเป็นเรื่องที่ง่ายและสร้างกำไรมากยิ่งขึ้น โดยได้มีการกำหนดการบูรณาการเรื่องกรอบการดำเนินงานด้านการบูรณาการทางการเงินของอาเซียน (ASEAN Financial Integration Framework - AFIF) โดยกรอบการดำเนินงานดังกล่าวได้รับการยอมรับจากผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งอาเซียนและได้รับการรับรองจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียนในปี พ.ศ. ๒๕๕๔ และคาดว่าจะมีการบูรณาการทางการเงินมากขึ้นภายในปี พ.ศ. ๒๕๖๓ ซึ่งเป็นแนวทางในการริเริ่มการเปิดเสรีภาพในการให้บริการทางการเงินและการรวมตัวภายใต้ AEC โดยมีวัตถุประสงค์หลักที่แต่ละประเทศสมาชิกจะต้องปฏิบัติตามดังต่อไปนี้ ได้แก่ การขจัดข้อจำกัดในการให้บริการทางการเงินโดยสถาบันการเงินในอาเซียน การสร้างขีดความสามารถและโครงสร้างขั้นพื้นฐานในการพัฒนาและการรวมตลาดทุนในอาเซียน การเปิดเสรีภาพให้มีเงินทุนหมุนเวียนทั่วภูมิภาคอาเซียน การรวมระบบการชำระเงินและการติดตั้งระบบให้เป็นหนึ่งเดียว และการเสริมสร้างความสามารถในการจัดการเงินทุนระดับภูมิภาคและส่งเสริมการเฝ้าระวังในระดับภูมิภาค
นอกจากนี้ ยังมีเครือข่ายนวัตกรรมทางการเงินของอาเซียน (ASEAN Financial Innovation Network -AFIN) ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนวัตกรรมและการพัฒนาฟินเทคในวงกว้างและเสริมสร้างการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน โดยเครือข่ายดังกล่าวได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโดยบรรษัทการเงินระหว่างประเทศ (International Financial Corperation – IFC) สมาชิกของธนาคารโลกและธนาคารกลางสิงคโปร์ เมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ และวางแผนที่จะจัดตั้งเครือข่ายระดับภูมิภาคเพื่อช่วยเหลือสถาบันการเงิน บริษัทฟินเทค และหน่วยงานกำกับดูแลในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับ การเชื่อมต่อ การปฏิบัติตามข้อกำหนดในท้องถิ่น และความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยเครือข่ายจะประเมินตัวเลือกในการสร้าง sandbox ในอุตสาหกรรมเพื่อทำให้เกิดสภาพแวดล้อมในการทดลองแบบ Cloud-Based โดยธนาคารและผู้ประกอบการฟินเทคสามารถพัฒนาระบบทดสอบและเทคโนโลยีเพื่อสรุปวิธีแก้ไขปัญหาได้
อุปสรรคของการพัฒนาฟินเทคของประเทศไทย
อุปสรรคทางกฎหมาย
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
๑. มาตรา ๑๑๐๒ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์[๘] ห้ามไม่ให้ชี้ชวนประชาชนซื้อหุ้น ทำให้ฟินเทคสตาร์ทอัพไม่สามารถดึงบุคคล เช่น กรรมการบริหารบริษัท พนักงาน หรือผู้เชี่ยวชาญที่มีความชำนาญและความสามารถเข้ามาช่วยบริหารจัดการธุรกิจสตาร์ทอัพและสร้างความเข็มแข็งให้กับองค์กรในอนาคตได้
๒. มาตรา ๑๒๒๙ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์[๙] ห้ามประชาชนออกหุ้นกู้ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อธุรกิจฟินเทคสตาร์ทอัพในการระดมเงินทุนหรือขยายกิจการโดยออกออกหุ้นกู้ เนื่องจากธุรกิจสตาร์ทอัพแตกต่างจาก SME ทั่วไปที่ค่อย ๆ เติบโตอย่างมั่นคง แต่สตาร์ทอัพจะมีการเติบโตอย่างรวดเร็วโดยอาศัยเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาซึ่งผู้ประกอบการต้องจ้างผู้เชี่ยวชาญทางเทคโนโลยี จึงต้องการเงินทุนจำนวนมากในครั้งเดียว
๓. ประเทศไทยไม่มีกฎหมายรองรับให้บริษัทจำกัดออกหุ้นให้พนักงานถือหุ้นได้ จึงทำให้เกิดอุปสรรคในการเปิดโอกาสให้ผู้มีความสามารถและทักษะสูงเข้ามาทำงานร่วมกับ
สตาร์ทอัพและมีโอกาสก้าวหน้าไปพร้อม ๆ กับบริษัท
๔. ประเทศไทยไม่มีกฎหมายอนุญาตให้บริษัทจำกัดออกตราสารหนี้แปลงสภาพให้สามารถเปลี่ยนสภาพหนี้ให้กลายเป็นทุนได้ จึงยังเป็นอุปสรรคต่อการระดมทุนสำหรับธุรกิจสตาร์ทอัพซึ่งปัจจุบัน สิงคโปร์ก็ได้ปรับเปลี่ยนกฎหมายเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นหนึ่งเหตุผลที่ทำให้นักลงทุนไม่อยากมาลงทุนกับบริษัทที่จดทะเบียนในไทย จึงไปจดทะเบียนนอกประเทศกันเสียมากกว่า
๕. ปัจจุบันไม่มีกฎหมายที่รองรับให้บริษัทจำกัดสามารถให้สิทธิผู้บริหารหรือพนักงานที่จะซื้อหุ้นได้ในราคาที่กำหนด (Employee Stock Option Plan – ESOP) ซึ่งจะมีกฎหมายรับรองเฉพาะกับบริษัทมหาชนเท่านั้นซึ่งจะทำให้สตาร์ทอัพซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทจำกัดไม่สามารถสร้างแรงจูงใจให้ผู้บริหารหรือพนักงานร่วมทำงานให้บริษัทอย่างมีประสิทธิภาพได้เหมือนเป็นเจ้าของกิจการ
๖.ประมวลแพ่งและพาณิชย์ของไทยไม่มีบทบัญญัติให้สามารถแปลงหุ้นบุริมสิทธิเป็นหุ้นสามัญได้ หากบริษัทขายหุ้นบุริมสิทธิให้กับพนักงานแล้ว แม้บริษัทมีอัตราการเติบโต
ก็จะไม่สามารถที่จะแปลงหุ้นบุริมสิทธิเป็นหุ้นสามัญได้ ซึ่งหุ้นบุริมสิทธินี้ ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิไม่มีสิทธิออกเสียงในการบริหารเหมือนผู้ถือหุ้นสามัญ
กฎหมายอื่น ๆ
การทำฟินเทคสตาร์ทอัพจะต้องได้รับความช่วยเหลือและความสนับสนุนจากผู้ประกอบการจากทั่วโลก ผู้เชี่ยวชาญ และกลุ่มคนทำงานโดยอาศัยเทคโนโลยีเป็นหลัก (Digital Nomads) แต่คนส่วนใหญ่ในกลุ่มดังกล่าวมักเป็นชาวต่างชาติซึ่งยังไม่มีกฎหมายไทยที่รองรับการออกวีซ่าให้แก่กลุ่มคนดังกล่าวได้ อย่างในยุโรปและอเมริกาที่มี Entrepreneur Visa หรือ Startup Visa
อุปสรรคด้านการลงทุน
ทั้งนี้ ธุรกิจสตาร์ทอัพในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ยังไม่สามารถเติบโตได้เท่าที่ควร เพราะประสบปัญหาเรื่องของการเข้าถึงแหล่งเงินทุน รวมถึงเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูงในระยะแรกเริ่มกิจการ และบริษัทเงินทุนในภูมิภาคมักประเมินเครดิตโดยการประเมินจากรายได้ของบริษัทตามธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันมาเป็นเวลาช้านานในอุตสาหกรรมธุรกิจค้าปลีกและอสังหาริมทรัพย์ แทนการประเมินจากการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะของกิจการ (due diligence) และศักยภาพในการเติบโตของธุรกิจสตาร์ทอัพ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งกว่าในการลงทุนทางเทคโนโลยี จึงทำให้สถาบันการเงินมักจะไม่ปล่อยสินเชื่อให้ธุรกิจสตาร์ทอัพ ซึ่งประเด็นนี้ส่งผลให้สตาร์ทอัพไม่สามารถหาแหล่งเงินทุน จึงเป็นเหตุให้ผู้ประกอบธุรกิจบางรายไม่สามารถดำเนินธุรกิจจนประสบความสำเร็จได้
อุปสรรคด้านอื่น ๆ
อีกหนึ่งอุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยคือความไม่ใว้ใจในระบบการจ่ายเงินแบบดิจิทัล เนื่องจากประชาชนมีความกังวลว่าสถาบันการเงินหรือรัฐบาลจะนำข้อมูลส่วนตัวไปใช้[๑๐] และการค้นหาผู้ประกอบการสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพที่พร้อมที่จะล้มและลุกขึ้นยืนใหม่ เนื่องจากการประกอบธุรกิจสตาร์ทอัพมีความเสี่ยงสูง และสถิติจากทั่วโลกพบว่า ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพเพียงแค่ ๕ รายจาก ๑๐๐ รายเท่านั้น ที่จะประสบความสำเร็จ ประเทศไทยจะสามารถสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการเหล่านี้ ล้มและลุกอย่างรวดเร็วได้อย่างไร เพราะการยอมรับและเรียนรู้จากความล้มเหลว และลุกขึ้นยืนอย่างรวดเร็ว ถือเป็นสิ่งที่สำคัญของผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ[๑๑]
แนวทางการกำกับดูแล Fintech
หากเราต้องการศึกษาแนวทางการกำกับดูแลฟินเทค เราสามารถเรียนรู้แนวทางได้จากประเทศฮ่องกงเป็นกรณีศึกษาได้ เนื่องจากฮ่องกงเป็นประเทศผู้นำด้านฟินเทคซึ่งมองว่าแอปพลิเคชันด้านข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยีการสื่อสารในการบริการทางการเงินมีความสำคัญมาก โดยมีธนาคารกลางฮ่องกง (Hong Kong Monetary Authority : HKMA) เป็นหน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินในฮ่องกง ซึ่งมีหน้าที่ในการกำกับดูแลและกำหนดกรอบการดำเนินงาน เนื่องจากการกำกับดูแลเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดการพัฒนาฟินเทคในฮ่องกงอย่างยั่งยืน เพราะการกำกับดูแลสามารถพัฒนาให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสภาพแวดล้อมด้านเทคโนโลยี และเสริมสร้างความเข้าใจด้านสภาพแวดล้อมในธุรกิจฟินเทค โดยหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลจะต้องวางรากฐานอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การดำเนินงานของธนาคารกลางฮ่องกงซึ่งได้จัดตั้ง Fintech Facilitation Office (FFO) เมื่อวันที่ ๒๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาของระบบนิเวศฟินเทคในฮ่องกง และส่งเสริมให้ฮ่องกงเป็นศูนย์กลางฟินเทคในเอเชีย โดย FFO ทำหน้าที่เป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิด เชื่อมต่อระหว่างผู้มีส่วนร่วมในตลาดกับหน่วยงานกำกับดูแล และริเริ่มทำวิจัยในอุตสาหกรรม ในการพัฒนาฟินเทคต้องอาศัยเครื่องมือดิจิทัล เพื่อเป็นการเชื่อมต่อระหว่างผู้ประกอบการและผู้สร้างนวัตกรรม ทำให้สามารถระบุแนวโน้มที่จะเกิดขึ้น และสามารถเน้นจุดสำคัญของฟินเทคซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการเกิดมุมมองด้านนวัตกรรม เครื่องมือดิจิทัลดังกล่าวจะเป็นตัวขับเคลื่อนให้บริษัทฟินเทคต่าง ๆ และมีศักยภาพในการแก้ปัญหาทางธุรกิจ และสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันขององค์กรได้ในที่สุด[๑๒]
แนวโน้มของกฎหมายที่จะรองรับ Fintech
ในขณะที่พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีนำเสนอทางออกใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคและเปิดประตูธุรกิจ เมื่อเป็นเช่นนี้ หน่วยงานกำกับดูแลต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ความท้าทายอย่างหนึ่งคือการหาความสมดุลระหว่างการพัฒนาฟินเทคและการคุ้มครองผู้บริโภค โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นและความพร้อมในการใช้นวัตกรรมในสภาพแวดล้อมทางการเงิน งานของหน่วยงานกำกับดูแลคือดูแลเสถียรภาพทางการเงิน สภาพคล่อง และการควบคุมที่เพียงพอเหมาะสมของผู้ฝากเงินและนักลงทุนจะมีความเท่าเทียมกันทั้งรายเก่าและรายใหม่
ดังนั้น เพื่อตอบโจทย์ความท้าทายดังกล่าว หน่วยงานผู้กำกับดูแลจะต้องพัฒนาระบบนิเวศที่เหมาะสมสำหรับธุรกิจสตาร์ทอัพ และผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบให้เอื้อต่อการทำธุรกิจ โดยทั้งนี้ หน่วยงานผู้กำกับดูแลจะต้องพัฒนาสนามทดสอบ (Regulatory Sandbox) ที่สามารถให้สตาร์ทอัพได้ทดลองดำเนินธุรกิจที่กฎหมายอาจปรับเปลี่ยนตามไม่ทัน เพื่อส่งเสริมให้นวัตกรรมสามารถเกิดได้อย่างรวดเร็ว สำหรับฟินเทคสตาร์ทอัพในระดับประเทศ ซึ่งจะทำให้ผู้ร่วมทดสอบสามารถทดสอบผลิตภัณฑ์ พบกับคู่ค้าที่มีศักยภาพ ระดมเงินทุนสำหรับการเริ่มต้นธุรกิจ และพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมเทคโนโลยีทางการเงิน
นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งความท้าทายด้านกฎหมายที่จะต้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการจากทั่วโลก ผู้เชี่ยวชาญ และกลุ่ม Digital Nomads สามารถเข้ามาร่วมดำเนินธุรกิจกับคนไทยได้ รวมถึงเร่งผลักดันสตาร์ทอัพให้มีความสามารถในการขยายตลาดออกไปสู่ต่างประเทศได้ การเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบไม่ใช่เป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ภายในวันเดียว แต่เป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลาในการดำเนินการ และนำแนวทางการกำกับดูแลใหม่ ๆ มาใช้และมีการควบคุมกรอบการดำเนินงานให้เป็นไปในแนวทางที่ถูกต้อง
ผู้ที่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพจะทำให้เกิดโอกาสใหม่ ดังนั้นหน่วยงานผู้กำกับดูแลควรดำเนินการเพื่อปรับปรุงและพัฒนากฎหมายให้เกิดความสมดุลระหว่างการพัฒนาฟินเทคและการคุ้มครองผู้บริโภค ๔ ประการดังต่อไปนี้
๑. ตรวจสอบการพัฒนาที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด โดยมองวิวัฒนาการของตลาด ก่อนที่จะประเมินว่าหลักการกำกับดูแลควรเป็นไปในทิศทางใด วิธีการใหม่ ๆ จะทำให้ผู้เกี่ยวข้องในตลาดเกิดความมั่นใจกับกฎหมายได้หรือไม่ และการกำกับดูแลจะทำให้สามารถพัฒนานวัตกรรมได้ โดยปราศจากอุปสรรคด้านเสถียรภาพทางการเงินหรือไม่
๒. กำหนดวัตถุประสงค์เพื่อให้สภาพแวดล้อมด้านการกำกับดูแลมีเสถียรภาพ ที่จะทำให้ระบบการเงินมีความปลอดภัย และเมื่อมีผู้ประกอบการในตลาดมากขึ้น
๓. ทำให้แน่ใจว่าผู้ประกอบการแต่ละรายในตลาดจะสามารถให้บริการด้านการเงินที่สอดคล้องกับกฎระเบียบ ของหน่วยงานกำกับดูแล
๔. ทำให้แน่ใจว่ากฎหมายและกฎระเบียบของการกำกับดูแลจะต้องไม่ขัดขวางต่อการพัฒนานวัตกรรมทางการเงิน
นางสาวจันทพร ศรีโพน
[๑] นักวิเคราะห์และจัดทำข้อมูลฝ่ายกฎหมาย ฝ่ายอาเซียนและกิจการต่างประเทศ กองกฎหมายต่างประเทศ
[๒] Startup หมายถึง กิจการที่เริ่มต้นธุรกิจจากจุดเล็ก ๆ และสามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดด โดยมีการออกแบบให้ธุรกิจมีการทำซ้ำได้โดยง่าย และสามารถขยายกิจการได้ง่าย โดยมีการนำเทคโนโลยี และ/หรือนวัตกรรมมาใช้เป็นหัวใจหลักในการสร้างธุรกิจ ธุรกิจ startup มักเป็นธุรกิจที่เกิดขึ้นจากแนวคิดเพื่อแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน หรือเห็นโอกาสทางธุรกิจที่ยังไม่มีใครเคยคิดหรือทำมาก่อน
[๓] Settrade Streaming คือ การใช้โปรแกรม Streaming ในการซื้อขายหุ้นแทนการซื้อขายในห้อง
[๔] จากบทสัมภาษณ์ของนายอัครเดช ดิษยเดช กรรมการสมาคมฟินเทคแห่งประเทศไทย
[๕] InfoFed. “Thailand ฟินเทค Landscape 2016”, https://www.youtube.com/watch?v=ipLsJozuoXE&list=
PLnW93fzu 5o45f0RFv4cfUnL0kjFI8c9Pf&index=1. ๑๔ กันยายน ๒๕๕๙. (สืบค้นเมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๖๐)
[๖] Silicon Valley คือศูนย์กลางแห่งเทคโนโลยี ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของ San Francisco มีพื้นที่ ๑,๕๐๐ ตารางไมล์ โดยเป็นที่ตั้งของบริษัทไอทีมากกว่า ๑๐๐ แห่ง รวมถึง Google Facebook Twitter Microsoft Apple Intel eBAY Oracle Logitech Pixar LinkedIn ฯลฯ
[๗] จากบทสัมภาษณ์ของนาย Efraim Pettersson Ivener หนึ่งในหุ้นส่วนผู้ก่อตั้งของ TechGrind
[๘] มาตรา ๑๑๐๒ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติว่า ห้ามมิให้ชี้ชวนประชาชนให้ซื้อหุ้น
[๙] มาตรา ๑๒๒๙ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติว่า บริษัทจะออกหุ้นกู้ไม่ได้
[๑๐] จากบทสัมภาษณ์ของคุณกรณ์ จาติกวณิช
[๑๑] รัฐบาลไทย. “งาน “Startup Thailand 2017 - Scale up Asia” ปิดฉากส่งท้ายสวยหรู”, http://www.thaigov.go.th/news/contents/details/5090. ๗ กรกฎาคม ๒๕๖๐. (สืบค้นเมื่อวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๖๐)
[๑๒] พ.อ. ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ. “งาน “แนวทางการกำกับดูแล Fintech : กรณีศึกษาเขตบริหารพิเศษฮ่องกง”, https://www.it24hrs.com/2016/fintech-hong-kong-financial-technologies/. ๓๐ สิงหาคม ๒๕๖๐. (สืบค้นเมื่อวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๖๐)