เป็นเวลา ๑ ปีแล้วหลังจากที่จีนได้ปฏิเสธคำพิพากษาของศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศซึ่งได้มีคำตัดสินปฏิเสธข้อกล่าวอ้างของจีนว่ามีอำนาจอธิปไตยเหนือพื้นที่ทะเลจีนใต้ แต่จีนยังมีท่าทีแน่วแน่ในการตั้งฐานทัพทหารในพื้นที่พิพาทดังกล่าว
เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๕ จีนได้ควบคุมพื้นที่หมู่เกาะ Scarborough และเขตตกปลาในบริเวณรอบ ๆ ซึ่งแต่เดิมเป็นพื้นที่ของชาวประมงฟิลิปปินส์ โดยจีนได้อ้างอำนาจอธิปไตยเหนือทะเลดังกล่าวและเรียกว่า Huangyan Dao โดยพื้นที่นี้มีที่ตั้งอยู่ในแผนที่ “เส้นประ ๙ เส้น” ซึ่งเป็นแผนที่ที่จีนอ้างในการกำหนดเขตแดนเหนือพื้นที่ส่วนใหญ่ของทะเลจีนใต้
คำตัดสินในคดีดังกล่าวเป็นผลมาจากการฟ้องร้องคดีต่อศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศที่กรุงเฮกโดยรัฐบาลของนาย Benigno Aquino ซึ่งเป็นประธานาธิบดีของฟิลิปปินส์ในสมัยนั้น และในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ ศาลมีคำพิพากษาปฏิเสธข้อกล่าวอ้างของจีนเหนือเขตดังกล่าว แต่ในขณะนี้คำตัดสินนั้นไม่มีประโยชน์อีกต่อไป ทั้งนี้ เนื่องมาจากการที่นาย Rodrigo Duterte ประธานาธิบดีของฟิลิปปินส์คนปัจจุบันมีท่าทีประนีประนอมกับจีน ซึ่งกำลังส่งผลให้เกิดความล่าช้าเกี่ยวกับสถานการณ์นี้ในระดับนานาชาติ
ในปลายเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว Duterte ได้รับเลือกตั้งให้เป็นประธานาธิบดีของฟิลิปปินส์และมีการดำเนินการอย่างประนีประนอมต่อจีน โดยให้ความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจมากกว่าการพิพาทในดินแดนดังกล่าว และต่อมาในเดือนตุลาคมได้มีการประชุมกับนาย Xi Jinping ประธานาธิบดีของจีน โดย Duterte ได้รับความร่วมมือจากจีนในด้านเศรษฐกิจเพื่อแลกกับการที่ฟิลิปปินส์จะสงวนข้อกล่าวอ้างในเขตแดนของตนไว้ก่อน เมื่อเป็นดังนี้ สถานการณ์ตอนนี้ในพื้นที่โดยรอบหมู่เกาะ Scarborough Shoal จึงสงบลง
ในการแถลงข่าวกลางเดือนกรกฎาคม นาย Geng Shuang โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน ได้เน้นย้ำจุดยืนของจีนที่ไม่ยอมรับคำตัดสินของศาลกรุงเฮก โดยเขาได้กล่าวว่า จีนได้รักษาจุดยืนในประเด็นนี้มาอย่างมั่นคงโดยตลอดและจะแสดงจุดยืนเดิมอย่างหนักแน่นในเรื่องอำนาจเหนือดินแดนและสิทธิทางทะเลของจีนต่อไป ซึ่งทางฟิลิปปินส์ได้แถลงข่าวว่า ประเด็นพิพาทในดินแดนดังกล่าวนั้นควรตกลงกันบนฐานของความปรองดอง
ความปั่นป่วนระดับนานาชาติ
จีนมีข้อพิพาทเรื่องดินแดนในพื้นที่ทะเลจีนใต้กับประเทศอื่นเช่นเดียวกันซึ่งรวมไปถึงเวียดนามด้วย โดยอาเซียนได้มีการคัดค้านข้อกล่าวอ้างของจีนมาอย่างต่อเนื่องผ่านการแถลงข่าวร่วมกันในการประชุมอาเซียน
แต่การเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างประเทศของฟิลิปปินส์ ผู้ซึ่งเป็นเป็นประธานอาเซียนในปีนี้นั้น ทำให้การสร้างกลุ่มร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อต่อต้านจีนนั้นเป็นไปอย่างล่าช้า การตีกรอบรอบจีนโดยสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และประเทศอื่น ๆ กำลังพังทลายลง
จากเหตุการณ์ความปั่นป่วนระดับนานาชาตินี้ จีนจึงได้เร่งการก่อสร้างฐานทัพทหารในพื้นที่พิพาทดังกล่าวเพื่อให้ได้รับประโยชน์จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเมื่อเดือนมิถุนายน Center for Strategic and International Studies (CSIS) ในสหรัฐอเมริกาได้เผยว่าจีนสร้างฐานขีปนาวุธในแนวปะการัง Fiery Cross และแนวปะการังอีก ๒ แห่งในหมู่เกาะ Spratly โดยการเปลี่ยนแปลงเกาะเหล่านั้นเป็นฐานทัพทหารของจีนใกล้จะเสร็จสมบูรณ์แล้ว
ในเดือนพฤษภาคม จีนและอาเซียนได้ตกลงร่างกรอบการใช้ระเบียบปฏิบัติ (code of conduct – COC) ในเขตทะเลจีนใต้ ซึ่งจีนได้ให้ความสำคัญกับกรอบการปฏิบัติดังกล่าวเป็นอย่างมาก ถึงแม้ว่า COC ดังกล่าวนั้นจะแทบไม่มีผลเนื่องจากไม่มีผลผูกพันตามกฎหมาย โดยจีนใช้ COC อ้างว่ากลุ่มประเทศที่เกี่ยวข้องทั้งหมดกำลังเจรจากันอย่างดี เพื่อไม่ให้สหรัฐฯ เข้ามายุ่งเกี่ยวกับข้อพิพาท
มีโอกาสสูงที่จีนจะใช้ COC เป็นข้ออ้างในการถ่วงเวลาเพื่อให้ก่อสร้างฐานทัพเสร็จสมบูรณ์
ตามการรายงานของสำนักข่าว BBC แม้ในขณะนี้ฟิลิปปินส์จะมีท่าทีประนีประนอมต่อจีน แต่ทางเวียดนามได้ให้อนุญาตแก่บริษัทต่างชาติเพื่อมาขุดเจาะน้ำมันในทะเลจีนใต้ อีกทั้งสหรัฐฯ ก็กล่าวว่าจะยังคงส่งเรือเข้ามาในเขตพื้นที่อย่างต่อเนื่องตามหลักเสรีภาพในการเดินเรือ
การแสดงท่าทีข้างต้นของทั้งเวียดนามและสหรัฐฯ ได้สร้างการประท้วงอย่างรุนแรงจากจีน โดยมีแหล่งข่าวทางการทูตเตือนว่าการดำเนินการของจีนในทะเลจีนใต้นั้นจะเป็นไปอย่างแข็งแกร่ง และได้คาดการณ์ว่าในท้ายที่สุดกำลังทางทหารของจีนก็จะปกคลุมทั่วหมู่เกาะ Scarborough Shoals อยู่ดี
ปัจจุบัน ชาวประมงวัย ๔๓ ปีรายหนึ่งซึ่งอาศัยอยู่เมือง Subic ที่อยู่ทางใต้ของหมู่เกาะ Scarborough Shoal กว่า ๒๐๐ กิโลเมตร ยินดีกับการเริ่มต้นการประมงใหม่รอบ ๆ หมู่เกาะ โดยได้กล่าวว่า “พวกเราไม่ถูกไล่โดยเรือสัญชาติจีนเหมือนแต่เดิมแล้ว อย่างไรก็ตาม จีนจะมาตอนกลางคืนและจับปลาตัวใหญ่ไป” แสดงให้เห็นว่าพื้นที่ดังกล่าวยังคงสงบ แต่อย่างไรก็ต้องจับตาดูสถานการณ์กันต่อไป
เรียบเรียงจาก http://asia.nikkei.com/Politics-Economy/International-Relations/One-year-on-Beijing-steps-up-military-drive-in-South-China-Sea