BANNER

โอกาสการเติบโตของเศรษฐกิจเอเชียคงที่เมื่อปัจจัยเสี่ยงอันเกี่ยวเนื่องกับนาย Donald Trump ลดลง


 ข่าวต่างประเทศ      11 Jul 2017

  


ศูนย์เพื่อการวิจัยเศรษฐกิจของญี่ปุ่น (Japan Center for Economic Research - JCER) ได้มีการจัดทำแบบสำรวจประจำแต่ละไตรมาสมาอย่างต่อเนื่อง โดยผลสำรวจดังกล่าวมาจากคำตอบจากนักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์ในอินเดียและ ๕ ประเทศสมาชิกของอาเซียน อาทิ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และประเทศไทย โดยล่าสุด JCER และ Nikkei[๑] ได้ร่วมกันจัดทำแบบสำรวจประจำไตรมาสตั้งแต่วันที่ ๙-๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๐
 
นักเศรษฐศาสตร์ได้ประเมินว่าตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๖๐ เป็นต้นไป การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมั่นคงจะดำเนินอย่างต่อเนื่องในประเทศต่าง ๆ ทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินเดีย โดยการคาดการณ์ดังกล่าวนั้นยังคงอยู่ในระดับเดียวกับที่เคยได้มีการสำรวจเมื่อ ๓ เดือนก่อน โดยความกังวลจากการที่นาย Donald  Trump ได้เคยประกาศที่จะเพิ่มอัตราภาษีสินค้านำเข้า รวมถึงปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง แต่ปัจจัยดังกล่าวไม่ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงอันเร่งด่วนเท่าที่เคยเป็นมา โดยนักเศรษฐศาสตร์กำลังมุ่งเน้นไปที่ศักยภาพในการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของเศรษฐกิจในเอเชียมากกว่าเดิม และในขณะเดียวกันนักเศรษฐศาสตร์ก็เริ่มที่จะมองไปถึงปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เช่น การก่อการร้าย และปัจจัยเสี่ยงด้านภูมิศาสตร์การเมือง
 

 
เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ ผลการสำรวจเผยภาพรวมทางเศรษฐกิจที่ลดลงอย่างหนัก ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากผลการเลือกตั้งที่นาย Donald Trump ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความไม่แน่นอนและความกังวลต่อประเด็นเรื่องการเพิ่มอัตราภาษีสินค้านำเข้า และปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เกี่ยวกับประธานาธิบดีรายนี้ แต่ผลการสำรวจในเดือนมีนาคมได้แสดงให้เห็นสัญญาณที่ดีขึ้นหลังจากเวลาได้ผ่านไปในระยะหนึ่งแล้ว ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาการคาดการณ์เศรษฐกิจได้ถูกประเมินในระดับสูงมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ความกังวลต่อปัจจัยเสี่ยงอันเกี่ยวเนื่องกับประธานาธิบดีก็ดูเหมือนจะบรรเทาลง
 
การคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของ ๕ ประเทศสมาชิกในอาเซียนดังกล่าวเติบโตขึ้น ๐.๑ จุด โดยถือเป็นร้อยละ ๔.๖ ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขของมาเลเซีย สิงคโปร์ และประเทศไทยที่สูงขึ้นเช่นกัน โดยนาย Lim Chee Sing แห่งสถาบันวิจัย RHB ในมาเลเซียกล่าวว่า “การเติบโตโดยรวมในไตรมาสแรกมาจากการส่งออกสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าอื่น ๆ ที่เข็มแข็งขึ้น ซึ่งส่งผลให้ความต้องการภายในประเทศเพิ่มขึ้นอีกด้วย”
 
สำหรับอินโดนีเซียนั้น มีการคาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ ๕.๒ ใน พ.ศ. ๒๕๖๐ โดยเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ที่ร้อยละ ๕.๐ โดยนาย Dendi Ramdani แห่งธนาคาร Mandiri ในอินโดนีเซียกล่าวว่า “การเติบโตของการบริโภคของภาคเอกชน งบประมาณรายจ่ายของภาครัฐ และการลงทุนจะเป็นรูปธรรมและเข้มแข็งมากขึ้น”
 
สำหรับฟิลิปปินส์นั้น ในปีนี้ได้มีการคาดการณ์ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจจะลดลงเนื่องจากความล่าช้าในการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานตอนต้นปี  อย่างไรก็ตาม ตัวเลขอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจยังคงอยู่ในระดับสูงสุดในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนโดยอยู่ที่ร้อยละ ๖.๔  ทั้งนี้ นาย Edward Lee แห่งธนาคาร Standard Chartered กล่าวว่า “ความต้องการภายในประเทศที่มั่นคงและการเติบโตของภาคบริการอย่างต่อเนื่องจะยังคงสนับสนุนตัวเลขดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง”
 
นอกจากนี้ ภาพรวมในด้านเศรษฐกิจของอินเดียก็สูงขึ้นเช่นกัน ถึงแม้ในปีที่แล้วจะเกิดความสับสนอยู่ในระยะหนึ่งหลังการประกาศยกเลิกธนบัตรเมื่อเดือนพฤศจิกายน ประกอบกับการนำเสนอภาษีสินค้าและบริการในเดือนกรกฎาคม แต่นักเศรษฐศาสตร์ยังคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของอินเดียจะเติบโตกว่าร้อยละ ๗ ไปจนถึงปี พ.ศ. ๒๕๖๒-๖๓ โดยนาย Tirthankar Patnaik แห่งธนาคาร Mizuho กล่าวว่า “การบริโภคภายในประเทศยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของอินเดีย”
 
มุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ต่อปัจจัยเสี่ยงได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วง ๓ เดือนที่ผ่านมาอย่างปัจจัยเสี่ยงซึ่งเกี่ยวข้องกับประธานาธิบดี Trump เช่น “การเพิ่มอัตราภาษีสินค้านำเข้า” เป็นความกังวลหลักที่ปรากฎในการสำรวจหลังจากที่ได้ทราบผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ แล้ว โดยจากผลการสำรวจของเดือนมีนาคมที่ผ่านมาปรากฎว่าปัจจัยดังกล่าวถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ใหญ่ที่สุดสำหรับสิงคโปร์และประเทศไทย และถือเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับ ๓ ของอินเดียและฟิลิปปินส์  นอกจากนี้ “ความปั่นป่วนด้านการเงินซึ่งได้รับการกระตุ้นจากนโยบายของประธานาธิบดี Trump” ก็ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ใหญ่ที่สุดสำหรับอินโดนีเซียและเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับ ๒ ในประเทศไทย
 
อย่างไรก็ตาม ในการสำรวจเดือนมิถุนายนพบว่ายังคงมีความกังวลเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงนี้อยู่ แต่ได้ลดความเร่งด่วนลง โดยปัจจัยเสี่ยงด้าน “การเพิ่มอัตราภาษีสินค้านำเข้า” ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ใหญ่ที่สุดในสิงคโปร์เท่านั้น แต่สำหรับอินเดียและประเทศไทยนั้นถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ใหญ่เป็นอันดับ ๒ และ ๓ ตามลำดับ และ “ความปั่นป่วนด้านการเงินซึ่งได้รับการกระตุ้นจากนโยบายของประธานาธิบดี Trump” นั้นกลับไม่ใช่ ๑ ใน ๓ ปัจจัยที่เสี่ยงที่สุดของประเทศใดเลย
 
นาย Euben Paracuelles แห่งบริษัท Nomura ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติสิงคโปร์ กล่าวว่า “เราไม่คิดว่าจะมีการเพิ่มอัตราภาษีสินค้านำเข้าที่มีนัยสำคัญแล้ว และเชื่อว่าโอกาสในการเพิ่มการจัดเก็บภาษีในสหรัฐฯ ได้หมดไปแล้ว” ดร. พชรพจน์ นันทรามาศ แห่งหน่วยงาน Economic Intelligence Center ของธนาคารไทยพาณิชย์ในประเทศไทยก็มองว่า “การปฏิบัติตามนโยบายเศรษฐศาสตร์ของสหรัฐฯ ภายใต้การบริหารของ Trump นั้นดำเนินช้ากว่าที่คาดการณ์เอาไว้”
 
Japan Center for Economic Research (JCER) ได้นำเสนอสัญญาณเตือนภัย JCER ซึ่งเป็นเครื่องมือที่สามารถอธิบายระดับความรุนแรงของปัจจัยเสี่ยงในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ได้ดีขึ้น โดยเมื่อนักเศรษฐศาสตร์ทั้งหมดถือว่าปัจจัยนั้น ๆ ถือเป็นปัจจัยเสี่ยง ๓ อันดับแรก ก็จะมีการคำนวณคะแนนออกมาเป็นตัวเลขที่สูงกว่า ๖๐ คะแนนซึ่งจะหมายความว่าปัจจัยนั้นถูกมองว่าเป็น “ข้อควรระวัง” (สีเหลือง) และปัจจัยเสี่ยงใด ๆ จะถือว่า “น่าตระหนก” (สีแดง) จะมีการคำนวณคะแนนเป็นตัวเลขที่สูงกว่า ๗๐ คะแนน
 
ในการสำรวจเมื่อเดือนมิถุนายนปรากฎว่าปัจจัย “การเพิ่มอัตราภาษีสินค้านำเข้า” ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงของสิงคโปร์เท่านั้น โดยได้รับสัญญาณ JCER เป็น “สีเหลือง” แต่สำหรับเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่ามีสัญญาณเตือนสีแดง ๒ ครั้งในด้าน “การเพิ่มอัตราภาษีสินค้านำเข้า” ในมาเลเซียและสิงคโปร์ และสัญญาณสีเหลืองกับปัจจัยเสี่ยงด้าน “ความปั่นป่วนด้านการเงิน” จากนโยบายของประธานาธิบดี Trump ในอินโดนีเซีย
 
ปัจจุบันนักเศรษฐศาสตร์มีความกังวลในประเด็นที่หลากหลายกว่าเดิม โดย “ปัจจัยเสี่ยงด้านการก่อการร้ายและภูมิศาสตร์การเมือง” ขึ้นเป็นอันดับ ๒ ในฟิลิปปินส์เป็นครั้งแรกตั้งแต่การสำรวจเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๕๙ คำตอบดังกล่าวเป็นการสะท้อนสถานการณ์ในหมู่เกาะมินดาเนา ซึ่งนาย Rodrigo Duterte ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ได้ประกาศใช้กฎอัยการศึกเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาสืบเนื่องมาจากความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มผู้ต่อต้าน โดยนาย Alvin Ang แห่งมหาวิทยาลัย Ateneo de Manila กล่าวว่า “รัฐบาลเข้มแข็งพอที่จะจำกัดขอบเขตไม่ให้ปัญหาออกนอกพื้นที่เมืองมาราวี ในหมู่เกาะมินดาเนา  อย่างไรก็ตาม การก่อการร้ายในครั้งนี้จะส่งผลถึงการตัดสินใจลงทุนในระยะสั้น”
 
นอกจากนี้ การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนเป็น ๑ ใน ๓ ปัจจัยเสี่ยงของมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และประเทศไทย และความไม่มั่นคงทางการเมืองถือเป็นปัจจัยเสี่ยงอีกประการหนึ่งในฟิลิปปินส์ และประเทศไทยอีกด้วย

เรียบเรียงจาก   http://asia.nikkei.com/Politics-Economy/Economy/Growth-prospects-steady-in-Asian-economies-as-Trump-risk-recedes
 

[๑] Nikkei เป็นคำเรียกอย่างสั้นของหุ้น Nikkei 225 ของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นหุ้นชั้นนำของญี่ปุ่น โดยสามารถเทียบเคียงได้กับหุ้น Dow Jones ของสหรัฐอเมริกา

© 2017 Office of the Council of State.