BANNER

ตราสารทางกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายภายในของประเทศสมาชิกอาเซียนเกี่ยวกับการทำแท้ง


 ประชาคมสังคมและวัฒนธรรรมอาเซียน      03 Jul 2017

  


บทนำ
สิทธิของสตรีในการเข้าถึงบริการสุขภาพด้านการสืบพันธุ์โดยรวมไปถึงสิทธิในการทำแท้งนั้น เป็นเรื่องที่ถูกกำหนดไว้เป็นมาตรฐานในด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ซึ่งได้รับรองสิทธิในชีวิตสุขภาพ ความเป็นส่วนตัว และการไม่เลือกปฏิบัติ[๑] แต่ในปัจจุบันจะเห็นได้ว่ามาตรฐานในการกำหนดสิทธิในการทำแท้งของแต่ละประเทศทั่วโลกนั้นยังมีความแตกต่างกัน ซึ่งประเทศสมาชิก ๑๐ ประเทศในอาเซียนยังมีมาตรฐานและกฎเกณฑ์ในการอนุญาตให้ทำแท้งที่ต่างกัน หากเป็นประเทศที่การทำแท้งเป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมายและสามารถเข้าถึงง่ายนั้น กระบวนการทำแท้งเป็นสิ่งที่ปลอดภัยมากกว่า จึงทำให้เห็นว่าการทำแท้งที่ผิดกฎหมายนั้นไม่ได้ทำให้จำนวนการทำแท้งลดลง แต่ในทางกลับกันเป็นการทำให้ความปลอดภัยในการทำแท้งลดลง สถิติขององค์การอนามัยโลกหรือ World Health Organization (WHO) เปิดเผยว่า ในทุก ๆ ปี การทำแท้ง ๒๐ ล้านครั้งจากทั้งหมด ๔๒ ล้านครั้งนั้นผิดกฎหมายและไม่ปลอดภัย เมื่อไม่มีหนทางที่ปลอดภัยในการทำแท้ง ผู้หญิงมักจะทำแท้งโดยใช้อุปกรณ์ปลายแหลม ใช้เคมีภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัย หรือขอความช่วยเหลือจากบุคคลที่ไม่มีความรู้ทางด้านการแพทย์ เป็นผลให้มีผู้หญิงเสียชีวิตจากการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัยทุก ๆ ๑๐ นาที หรือประมาณ ๔๗,๐๐๐ คนทุกปี[๒]
 
เงื่อนไขในการอนุญาตให้มีการทำแท้งตามหลักสากล
ผลการสำรวจนโยบายการทำแท้งจาก ๑๙๓ ประเทศภาคีของสหประชาชาติ และจาก ๓ ประเทศที่มิได้เป็นภาคีของสหประชาชาติ (UN’s World Abortion Policies 2013) นั้น สรุปให้เห็นถึงข้อกฎหมายที่อนุญาตให้ทำแท้ง โดยปรากฎข้อเท็จจริงว่าในปัจจุบันมีบางประเทศที่อนุญาตให้สามารถทำแท้งได้ในทุกกรณี เช่น ประเทศในทวีปอเมริกา เช่น แคนาดา เม็กซิโก หรือประเทศในทวีปยุโรป เช่น ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี รวมถึงประเทศในทวีปเอเชีย เช่น สิงคโปร์ เวียดนาม เนปาล เป็นต้น อย่างไรก็ตาม บางประเทศยังคงอนุญาตให้ทำแท้งได้เฉพาะบางกรณีเท่านั้น โดยเงื่อนไขของแต่ละประเทศกำหนดกฎเกณฑ์ให้อนุญาตทำแท้งในกรณีดังต่อไปนี้[๓]

๑.      เพื่อรักษาชีวิตของหญิงซึ่งตั้งครรภ์
๒.      เพื่อรักษาสุขภาพทางกายของหญิงซึ่งตั้งครรภ์
๓.      เพื่อรักษาสุขภาพทางจิตของหญิงซึ่งตั้งครรภ์
๔.      ในกรณีที่การตั้งครรภ์เกิดจากการถูกข่มขืนกระทำชำเรา หรือเกิดจากการร่วมรักระหว่างพี่น้องสายเลือดเดียวกัน
๕.      เนื่องจากความบกพร่องของทารกในครรภ์
๖.      เพื่อเหตุผลทางเศรษฐกิจหรือเหตุผลทางสังคม
๗.      ตามที่หญิงซึ่งตั้งครรภ์นั้นเรียกร้อง

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าแต่ละประเทศจะมีหลักเกณฑ์อนุญาตให้ทำแท้งแตกต่างกันออกไป แต่หลักเกณฑ์ภายใต้กฎหมายอาญาทั่วไปภายใต้หลักความจำเป็น (principles of necessity) ให้การทำแท้งสามารถทำได้เพื่อรักษาชีวิตของหญิงซึ่งตั้งครรภ์เสมอ
 
ตราสารทางกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการทำแท้ง
กฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการทำแท้งโดยตรงยังไม่มีในปัจจุบัน แต่มีสนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนภายใต้สหประชาชาติจำนวน ๖ ฉบับที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการทำแท้งดังต่อไปนี้

๑.  อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination against Women - CEDAW)
๒.  อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child - CRC)
๓.  กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights - ICCPR)
๔.  กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (International Covenant on Economics, Social and Cultural Rights - ICESCR)
๕.  อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (International Convention on the Elimination of All Forms of Racial Discrimination - CERD)
๖.  อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่น ๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture, and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment - CAT)
 
กฎหมายของประเทศสมาชิกอาเซียนที่เกี่ยวข้องกับการทำแท้ง

๑. บรูไนดารุสซาลาม
บรูไนดารุสซาลามเป็นภาคีของ CEDAW, CRC และ CAT
มาตรา ๓๑๒-๓๑๖ แห่งประมวลกฎหมายอาญาของบรูไนฯ[๔] ได้บัญญัติห้ามการทำแท้งโดยเด็ดขาด โดยอนุญาตให้ทำแท้งได้เพียงกรณีเดียวคือ การทำแท้งเพื่อรักษาชีวิตของหญิงซึ่งต้องมีเหตุผลที่สุจริตด้วย การทำแท้งที่ฝ่าฝืนกฎหมายโดยหญิงซึ่งตั้งครรภ์ยินยอม ผู้ฝ่าฝืนจะต้องได้รับโทษจำคุกสูงสุด ๓ ปี หรือได้รับโทษปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าหากผู้ใดทำแท้งโดยหญิงนั้น “quick with child”[๕] ผู้ที่ทำแท้งต้องรับโทษจำคุกสูงสุด ๗ ปี และได้รับโทษปรับ และถึงแม้ว่าหญิงนั้น จะทำแท้งด้วยตนเองก็อาจได้รับโทษเท่ากัน
หากผู้ใดทำแท้งโดยไม่ได้รับความยินยอมจากหญิงต้องได้รับโทษจำคุกสูงสุด ๑๐ ปีหรือโทษปรับ ไม่ว่าจะตั้งครรภ์ในระยะใดก็ตาม ในกรณีที่หญิงยินยอม ถ้าหากทำแท้งโดยทำให้หญิงเสียชีวิตอาจต้องรับโทษจำคุกสูงสุด ๑๐ ปี หรือในกรณีที่หญิงไม่ยินยอมอาจต้องรับโทษจำคุกสูงสุด ๑๕ ปี
 
๒. กัมพูชา
กัมพูชาเป็นภาคีของสนธิสัญญาทั้ง ๖ ฉบับข้างต้น
แต่เดิมนั้น กัมพูชาเป็นเมืองขึ้นของประเทศฝรั่งเศส จึงได้รับอิทธิพลจากประเทศฝรั่งเศสค่อนข้างมาก โดยประมวลกฎหมายอาญาฝรั่งเศสไม่ได้มีบทบัญญัติในด้านการทำแท้งหรือลงโทษการกระทำดังกล่าวแต่อย่างใด
ก่อนปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ไม่มีบทลงโทษใด ๆ ในการทำแท้ง และไม่มีขั้นตอน วิธีการ หรือมาตรการใด ๆ ในการควบคุมการทำแท้ง จึงทำให้มีการทำแท้งอย่างแพร่หลาย รัฐบาลกัมพูชาจึงได้ตระหนักถึงความสำคัญในการมีกฎหมายเพื่อควบคุมการทำแท้งเพื่อลดอัตราของการเสียชีวิตจากการทำแท้ง
ภายใต้พระราชบัญญัติว่าด้วยการทำแท้ง (Kram on Abortion)[๖] ที่ตราขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๐ หญิงซี่งตั้งครรภ์สามารถเรียกร้องให้ทำแท้งได้ในช่วง ๑๒ สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ หากพ้นช่วงเวลาดังกล่าว หญิงจะสามารถทำแท้งได้ในกรณีดังต่อไปนี้
          (๑)   เมื่อมีโอกาสที่ทารกในครรภ์จะพัฒนาอย่างผิดปกติ หรือหากการตั้งครรภ์จะเป็นอันตรายต่อชีวิตของหญิงนั้น
          (๒)   หากทารกที่จะเกิดมีโอกาสที่จะมีหรือเป็น “โรคที่ไม่สามารถรักษาได้”
          (๓)   หากการตั้งครรภ์เป็นผลเนื่องมาจากการถูกข่มขืน
ในกรณีดังกล่าวข้างต้น การทำแท้งจะต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลจำนวน ๒ ถึง ๓ คน และหมอหรือผู้ช่วยทางการแพทย์เท่านั้นที่สามารถเป็นผู้ทำแท้งได้ โดยจะต้องได้รับความยิมยอมจากหญิงซึ่งตั้งครรภ์ พร้อมทั้งต้องารถตั้งครรภ์ได้อีกรอบ่โรงพยาบาลจำนวน ๒ ถึง ๓ คนตาม อธิบายให้หญิงดังกล่าวเข้าใจถึงผลกระทบในการทำแท้งที่อาจเกิดขึ้น และระยะเวลาที่ต้องเว้นช่วงไว้ก่อนที่จะสามารถตั้งครรภ์ได้อีกรอบ การทำแท้งจะต้องทำในโรงพยาบาล หรือสถานพยาบาลต่าง ๆ ที่ผ่านการรับรองจากกระทรวงสาธารณสุขของกัมพูชา โดยหากผู้ใดฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมายข้างต้น อาจโดนตักเตือน ปรับ หรือจำคุก แล้วแต่กรณี
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากบริการด้านสุขภาพของกัมพูชายังไม่พัฒนาไปไกลมากนัก อีกทั้งประชากรส่วนใหญ่ของกัมพูชายังไม่สามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้ ปัจจุบันจึงอาจยังมีปัญหาด้านการทำแท้งที่ผิดกฎหมายและไม่ปลอดภัยเกิดขึ้น และจำเป็นต้องพัฒนาต่อไป[7]
 
๓. อินโดนีเซีย
อินโดนีเซียเป็นภาคีของสนธิสัญญาทั้ง ๖ ฉบับข้างต้น
ประมวลกฎหมายอาญาของอินโดนีเซียได้รับอิทธิพลมาจากประมวลกฎหมายอาญาของเนเธอร์แลนด์ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๑ โดยได้กำหนดเงื่อนไขการทำแท้งที่จำกัดอย่างมากและไม่อนุญาตให้ทำแท้งในทุกกรณี หากผู้ใดฝ่าฝืนจะทำให้ต้องรับโทษจำคุกเป็นระยะเวลา ๖ ปีครึ่ง ดังนั้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๕ รัฐบาลอินโดนีเซียจึงได้ตระหนักถึงปัญหาเรื่องการทำแท้งที่ผิดกฎหมายที่มีเสมอมา จึงได้บัญญัติกฎหมายสุขภาพฉบับที่ ๒๓/๑๙๙๒ ซึ่งมีการกล่าวถึงการทำแท้งโดยตรง แต่ถึงกระนั้น กฎหมายดังกล่าวยังคงมีข้อจำกัดโดยอนุญาตให้ทำแท้งได้เฉพาะในกรณีที่เป็นอันตรายต่อชีวิตหญิงซึ่งตั้งครรภ์หรือเป็นอันตรายต่อทารก อีกทั้งการทำแท้งนั้นจะต้องมีเงื่อนไขเพิ่มเติมดังนี้[๘]
          (๑)   ต้องมีสัญญาณทางการแพทย์บ่งบอกซึ่งบังคับให้เจ้าหน้าที่ด้านสุขภาพจำเป็นต้องทำแท้ง
          (๒)   การทำแท้งต้องทำโดยเจ้าหน้าที่หรือแพทย์ซึ่งมีความชำนาญ
          (๓)   จะต้องได้รับความยินยอมจากหญิงซึ่งตั้งครรภ์ สามีของหญิง หรือสมาชิกในครอบครัวของหญิงนั้น
          (๔)   สามารถทำแท้งได้ที่สถานพยาบาลบางแห่งเท่านั้น
เงื่อนไขตามข้อ (๓) ข้างต้น ระบุให้สามีหรือสมาชิกในครอบครัวจะต้องให้ความยินยอมเฉพาะในกรณีที่หญิงนั้นไม่มีสติสัมปชัญญะ หรือไม่อยู่ในสภาพที่หญิงนั้นจะให้ความยินยอมได้
แม้จะมีกฎหมายซึ่งจำกัดสิทธิในการทำแท้งดังกล่าว แต่การบังคับใช้กฎหมายให้เกิดผลในทางปฏิบัติเป็นไปได้ยาก เนื่องจากกฎหมายนี้มีข้อจำกัดอยู่มาก ส่งผลให้ผู้หญิงอินโดนีเซียที่ประสงค์จะทำแท้งต้องไปทำที่อื่น เป็นเหตุให้เกิดการเสียชีวิตและการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัยและไม่ถูกสุขอนามัยสูง[๙]
 
๔. ลาว
ลาวเป็นภาคีของสนธิสัญญาทั้ง ๖ ฉบับข้างต้น
ประมวลกฎหมายของประเทศลาวได้บัญญัติให้การทำแท้งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายโดยเด็ดขาด ไม่มีข้อยกเว้น หากผู้ใดทำแท้งให้หญิงซึ่งตั้งครรภ์ จะต้องได้รับโทษจำคุก ๒ ปีถึง ๕ ปี และหากการกระทำนั้นเป็นอันตรายต่อสุขภาพของหญิงหรือทำให้หญิงนั้นเสียชีวิตจะต้องได้รับโทษจำคุก ๕ ปีถึง ๑๐ ปี ส่วนกรณีของหญิงซึ่งทำแท้งนั้น หากให้ผู้อื่นทำแท้งให้หรือทำแท้งด้วยตนเอง จะต้องได้รับโทษจำคุก ๓ เดือนถึง ๓ ปี
 
๕. มาเลเซีย
มาเลเซียเป็นภาคีของ CEDAW และ CRC เพียง ๒ ฉบับเท่านั้น
แต่เดิมก่อนปี พ.ศ. ๒๕๓๒ มาตรา ๓๑๒ แห่งประมวลกฎหมายอาญาของมาเลเซีย บัญญัติอนุญาตให้มีการทำแท้งได้ในกรณีเดียว คือ เพื่อรักษาชีวิตของหญิงซึ่งตั้งครรภ์ แต่ต่อมาได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติของกฎหมายโดยอนุญาตให้ทำแท้งได้ในกรณีที่แพทย์มีความเห็นโดยสุจริตว่าการตั้งครรภ์ต่อไปจะเป็นเหตุให้หญิงนั้นได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิต หรือหญิงซึ่งตั้งครรภ์นั้นจะได้รับผลกระทบทางจิตใจหรือร่างกายมากกว่าการทำแท้ง
หากผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๓๑๒-๓๑๔ ที่แก้ไขใหม่นี้จะต้องได้รับโทษดังต่อไปนี้
          (๑)   ในกรณีที่หญิงนั้น “quick with child” โดยหญิงซึ่งตั้งครรภ์นั้นยินยอม ทั้งผู้ทำแท้งและหญิงซึ่งตั้งครรภ์นั้นจะต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน ๗ ปี หรือโทษปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ[๑๐]
          (๒)   ในกรณีที่หญิงนั้นไม่ได้ “quick with child” โดยหญิงซึ่งตั้งครรภ์นั้นยินยอม ทั้งผู้ทำแท้งและหญิงซึ่งตั้งครรภ์นั้นจะต้องได้รับโทษจำคุกไม่เกิน ๓ ปี หรือโทษปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ[๑๑]
          (๓)   ในกรณีที่หญิงซึ่งตั้งครรภ์นั้นไม่ยิมยอม ไม่ว่าครรภ์จะอยู่ในระยะใดก็ตาม ผู้ทำแท้งจะต้องได้รับโทษจำคุกไม่เกิน ๒๐ ปี หรือโทษปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ[๑๒]
          (๔)   ในกรณีที่หญิงเสียชีวิตจากการทำแท้ง โดยหญิงนั้นยินยอม ผู้ทำแท้งจะต้องได้รับโทษจำคุกไม่เกิน ๑๐ ปี หรือโทษปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ[๑๓]
          (๕)   ในกรณีที่หญิงเสียชีวิตจากการทำแท้ง โดยหญิงนั้นมิได้ยินยอม ผู้ทำแท้งจะต้องได้รับโทษจำคุกไม่เกิน ๒๐ ปี[๑๔]
   
๖. เมียนมา
เมียนมาเป็นภาคีของ CEDAW และ CRC และได้ลงนามใน ICESCR ซึ่งส่งผลให้เมียนมาไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายกับตราสารระหว่างประเทศดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตามในฐานะของรัฐผู้ได้ลงนามในตราสาร เมียนมาก็มีหน้าที่ไม่กระทำการใดที่จะเป็นการขัดกับวัตถุประสงค์และเป้าหมายของตราสาร[๑๕]
มาตรา ๓๑๒-๓๑๖ แห่งประมวลกฎหมายอาญาของเมียนมา​[๑๖] ได้บัญญัติเรื่องการทำแท้งไว้โดยไม่อนุญาตให้ทำแท้งในทุกกรณี มีเพียงข้อยกเว้นในกรณีที่เป็นอันตรายแก่ชีวิตของหญิงซึ่งตั้งครรภ์ ผู้ฝ่าฝืนบทกฎหมาย ดังกล่าวจะต้องได้รับโทษตามที่กฎหมายกำหนด
 
๗. ฟิลิปปินส์
ฟิลิปปินส์เป็นภาคีของสนธิสัญญาทั้ง ๖ ฉบับข้างต้น
การทำแท้งในฟิลิปปินส์เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายในทุกกรณีโดยไม่มีข้อยกเว้น หากฝ่าฝืนบทกฎหมายดังกล่าวจะต้องรับโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้
ถึงแม้ว่าบทลงโทษของกฎหมายจะหนักแต่การทำแท้งนั้นมีอยู่ทั่วไปในฟิลิปปินส์โดยถือเป็นวิธีการหนึ่งในการคุมกำเนิดและมักจะไม่ถูกดำเนินคดี ผลการสำรวจเผยว่าหญิงที่จำเป็นต้องทำแท้งนั้น มักเป็นหญิงซึ่งมีสถานะทางสังคมต่ำและจำเป็นต้องทำแท้งเนื่องจากไม่สามารถเลี้ยงลูกได้ โดยรัฐบาลฟิลิปปินส์มีความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับการทำแท้งและหวังจะลดการทำแท้งที่ผิดกฎหมายให้น้อยลงโดยการส่งเสริมให้มีกิจกรรมการวางแผนครอบครัวและส่งเสริมการเผยแพร่ข้อมูล ทั้งด้านบริการการศึกษาและการสื่อสารให้แพร่หลายยิ่งขึ้น[๑๗]
 
๘. สิงคโปร์
สิงคโปร์เป็นภาคีของ CEDAW และ CRC และได้ลงนามใน CERD ซึ่งมีหน้าที่ไม่กระทำการใดที่จะเป็นการขัดกับวัตถุประสงค์และเป้าหมายของตราสารดังที่ได้กล่าวถึงแล้วในกรณีของเมียนมา
ตราบใดที่หญิงนั้นตั้งครรภ์ไม่เกิน ๒๔ สัปดาห์และมีเหตุผลทางสังคมไม่ว่าจะเป็นด้วยเหตุทางการเงิน หรือผู้หญิงซึ่งตั้งครรภ์นั้นมีอายุน้อยเกินกว่าที่จะมีบุตรได้ หรือผู้หญิงซึ่งตั้งครรภ์ไม่อาจทนได้หากมีบุตร/เลี้ยงบุตรเพิ่มได้เนื่องจากจะทำให้ครอบครัวมีปัญหาเพิ่ม ถือว่าสามารถทำแท้งได้โดยชอบด้วยกฎหมาย แต่จะต้องได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากหญิงนั้นและต้องทำโดยแพทย์ที่ได้รับการรับรองจากรัฐ หญิงที่เป็นคนต่างชาติและหญิงซึ่งอยู่ในสิงคโปร์เป็นเวลาน้อยกว่า ๔ เดือนจะทำแท้งได้เฉพาะในโรงพยาบาลเอกชนเท่านั้น โดยสิทธิทำแท้งในโรงพยาบาลของรัฐสงวนไว้เพื่อประชาชนชาวสิงคโปร์ ภรรยาของคนสัญชาติสิงคโปร์ หรือหญิงซึ่งอยู่ในสิงคโปร์เป็นเวลาตั้งแต่ ๔ เดือนขึ้นไปเท่านั้น
นอกจากนี้ พระราชบัญญัติว่าด้วยการทำแท้ง พ.ศ. ๒๕๑๗ (ประมวลกฎหมายอาญา บทที่ ๑๑๙ มาตรา ๓๑๒-๓๑๖) ซึ่งถูกแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเลขที่ ๑๒ ปี พ.ศ. ๒๕๒๓ กำหนดให้หญิงซึ่งตั้งครรภ์นั้นจำเป็นต้องได้รับคำปรึกษาจากผู้ให้คำปรึกษาซึ่งรัฐรับรอง และต้องให้เวลาเพิ่มเติมอีก ๔๘ ชั่วโมงก่อนจึงจะสามารถทำแท้งได้ แม้แต่หญิงซึ่งมีอายุไม่เกิน ๑๖ ปี ก็มีสิทธิได้รับบริการทำแท้งได้โดยไม่ต้องรับความยินยอมจากชายซึ่งทำให้ตั้งครรภ์แต่อย่างใด ทั้งนี้ภายใต้กฎหมายสิงคโปร์ การมีเพศสัมพันธ์กับหญิงซึ่งมีอายุไม่เกิน ๑๖ ปีนั้นถือว่าเป็นการข่มขืนใจหญิงไม่ว่าหญิงนั้นจะยินยอมหรือไม่[๑๘]
 
๙. ไทย
ไทยเป็นภาคีของสนธิสัญญาทั้ง ๖ ฉบับข้างต้น
บทกฎหมายเรื่องการทำแท้งในไทยปรากฏอยู่ในมาตรา ๓๐๑-๓๐๕ แห่งประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายอาญาของไทยได้กำหนดห้ามทำแท้งไว้ อย่างไรก็ตาม มาตรา ๓๐๕[๑๙] บัญญัติข้อยกเว้นของหลักทั่วไปดังกล่าวไว้ โดยระบุว่าการทำแท้งนั้นต้องเป็นการกระทำของนายแพทย์ และ
          (๑)   จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากสุขภาพของหญิงนั้น หรือ
          (๒)   หญิงมีครรภ์เนื่องมาจากการกระทำความผิดอาญา ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๗๖ มาตรา ๒๘๒ มาตรา ๒๘๓ หรือมาตรา ๒๘๔ (ความผิดเกี่ยวกับเพศ)
ข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ตามมาตรา ๓๐๕ แห่งประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. ๒๕๔๘[๒๐] ข้อ ๕  ได้ตีความคำว่า “สุขภาพ” ตามมาตรา ๓๐๕ (๑) ออกเป็นสุขภาพทางกายและสุขภาพทางจิต ซึ่งการจะยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ตามข้อบังคับนี้ได้ ต้องมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ที่ชัดเจนว่าหญิงนั้นมีปัญหาสุขภาพทางกายหรือทางจิตและต้องมีการบันทึกการตรวจและวินิจฉัยโรคไว้ในเวชระเบียนเพื่อเป็นหลักฐานอีกด้วย
แต่ในทางปฏิบัตินั้นไม่ได้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดเนื่องจากการสำรวจโรงพยาบาลทั้งที่อยู่ในสังกัดและไม่ได้อยู่ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข จำนวน ๒๔ แห่งในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ พบว่าข้อมูลการทำแท้งแบ่งออกเป็นการทำแท้งเองร้อยละ ๕๖.๙ ขอให้บุคคลอื่นทำแท้งให้ร้อยละ ๔๓.๑ โดยสาเหตุการทำแท้งมาจากเหตุผลด้านสุขภาพร้อยละ ๓๗.๔ และเหตุผลด้านเศรษฐกิจ สังคม และครอบครัวร้อยละ ๒๘.๖ ในปี พ.ศ. ๒๕๕๙ ไทยได้ตราพระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. ๒๕๕๙ ขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดอัตราการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น โดยให้เด็กและเยาวชนได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เพื่อรู้และเข้าใจถึงเพศวิถีศึกษา การเข้าถึงบริการอนามัย การเจริญพันธุ์และสวัสดิการสังคม[๒๑]
 
๑๐. เวียดนาม
เวียดนามเป็นภาคีของสนธิสัญญาทั้ง ๖ ฉบับข้างต้น
“รัฐธรรมนูญของเวียดนามบัญญัติให้ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกันในทุกด้านและทุกสถานการณ์เช่นด้านการเจริญพันธุ์ โดยรัฐ สังคม ครอบครัวและประชาชนมีหน้าที่ร่วมกันในการสนับสนุนให้มีการดูแลทางด้านสุขภาพและการป้องกันให้แก่มารดาและเด็ก และทำตามแผนประชากรและการวางแผนครอบครัว”
เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๓ องค์ประชุมแห่งชาติเวียดนามได้ร่างกฎหมายเกี่ยวกับการสมรสและครอบครัว ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของหลักการ ๔ ประการกล่าวคือ เสรีภาพในการสมรส การมีภรรยาหรือสามีคนเดียว ความเท่าเทียมทางเพศ และการป้องกันสิทธิของสตรีและเด็ก และภายในปี พ.ศ. ๒๕๓๒ กฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันสุขภาพของประชาชนก็ได้ผ่านการรับรองและมีผลบังคับใช้ โดยยืนยันถึงสิทธิของประชาชนด้านกระบวนการคุมกำเนิด นอกจากนี้ กฎหมายดังกล่าวบัญญัติให้ “สตรีมีสิทธิได้รับการทำแท้ง การวินิจฉัย และการรักษาด้านนรีเวช สามารถตรวจสุขภาพระหว่างตั้งครรภ์ได้ และได้รับบริการทางการแพทย์ที่สถานพยาบาลเพื่อทำคลอด”
กฎหมายเวียดนามหลายฉบับได้ระบุอย่างชัดเจนถึงสิทธิในการทำแท้ง เช่น กฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันสุขภาพของประชาชนได้ระบุอย่างชัดเจนให้ “สตรีมีสิทธิได้รับการทำแท้งหากสตรีนั้นต้องการ” โดยมีองค์ประชุมใหญ่สรุปว่ารัฐมีหน้าที่ต้องให้บริการสุขภาพประชาชนด้านการทำแท้ง รวมถึงการคุมกำเนิดโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายให้แก่บุคคลซึ่งทำงานให้รัฐ บุคคลซึ่งได้รับสิทธิตามนโยบายของรัฐ และบุคคลซึ่งมีฐานะยากจนที่ลงทะเบียนด้านการวางแผนครอบครัว และที่สำคัญที่สุด ประมวลกฎหมายอาญาของเวียดนามไม่มีบทบัญญัติใด ๆ ทั้งสิ้นเกี่ยวกับการทำแท้ง ซึ่งเป็นหลักฐานที่ดีที่สุดว่ากระบวนการทำแท้งนั้นไม่ใช่ความผิดทางอาญาแต่อย่างใด[๒๒]
 
บทสรุป
 สิ่งที่เห็นได้ชัดจากบทกฎหมายของแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียน ๑๐ ประเทศ คือความหลากหลายของเงื่อนไขที่อนุญาตให้ทำแท้ง กล่าวคือ มีประเทศที่อนุญาตให้ทำแท้งทุกกรณีอย่างกัมพูชา สิงคโปร์ และเวียดนาม ไปจนถึงประเทศที่ไม่อนุญาตให้ทำแท้งอย่างเคร่งครัดอย่างบรูไนฯ ลาว และเมียนมา จากข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงเป็นที่ประจักษ์ว่าประเทศสมาชิกในอาเซียนบางประเทศยังไม่ได้ปฏิบัติตามพันธกรณีที่ตนเองมีต่อตราสารทางกฎหมายระหว่างประเทศที่ตนเองให้สัตยาบันหรือภาคยานุวัติไว้ ซึ่งจะทำให้นานาประเทศมองว่าประเทศสมาชิกในอาเซียนไม่ให้ความเคารพแก่กฎหมาย ดังนั้นจึงควรมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายของแต่ละประเทศให้มีความสอดคล้องกับหน้าที่และพันธกรณีที่มีต่อสนธิสัญญาแต่ละฉบับ
ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัด คือ ทุกประเทศสมาชิกในอาเซียนเป็นภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW) ซึ่งบัญญัติให้รัฐภาคี “ตกลงที่จะติดตามนโยบายเกี่ยวกับการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีโดยวิธีที่เหมาะสมทุกประการและโดยไม่ชักช้า”[๒๓] และรัฐภาคีจำต้อง “ใช้มาตรการที่เหมาะสมทุกอย่าง เพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในด้านการรักษาสุขภาพเพื่อประกันการมีโอกาสได้รับการบริการในการรักษาสุขภาพ รวมทั้งบริการที่เกี่ยวกับการวางแผนครอบครัวบนพื้นฐานของความเสมอภาคของบุรุษและสตรี”[๒๔] ทั้งนี้ การมีข้อจำกัดด้านการทำแท้งถือเป็นการไม่ปฏิบัติตามพันธกรณีที่ประเทศมีต่อ CEDAW
จึงมีควรมีการแก้ไขปรับปรุงให้เหมาะสมต่อไป

ดาวน์โหลดบทความ pdf

__________________________________________________________________________________________________________________________________________________
[๑] Abortion and Human Rights Government Duties to Ease Restrictions and Ensure Access to Safe Services, สืบค้นเมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๖๐, เข้าถึงได้จาก https://www.reproductiverights.org/sites/crr.civicactions.net/files/documents/BRB_abortion_hr_revised_3.09_WEB.PDF
[๒] สืบค้นเมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๖๐, เข้าถึงได้จาก https://www.womenonweb.org/en/page/508/abortion-a-matter-of-human-rights-and-social-justice
[๓] The World Abortion Policies 2013, สืบค้นเมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๖๐, เข้าถึงได้จาก http://www.un.org/en/development/desa/population/publications/policy/world-abortion-policies-2013.shtml
[๔] ประมวลกฎหมายอาญาของบรูไนฯ สืบค้นข้อมูลจาก https://www.unodc.org/tldb/pdf/Brunei_Penal_Code_1951_Full_text.pdf, หน้า ๑๓๔-๑๓๕
[๕] แม้ว่าประมวลกฎหมายอาญาของบรูไนฯ จะมิได้กำหนดความหมายของคำว่า “quick with child” ไว้ก็ตาม ในทางปฏิบัติ ส่วนมากจะตีความคำว่า “quick” ว่ามีลักษณะเป็นกรตั้งครรภ์ในระยะกลางโดยมีอายุของครรภ์ประมาณ ๔ เดือน
[๖] Kram on Abortion สืบค้นข้อมูลจาก http://www.sithi.org/admin/upload/law/Law%20on%20Abortion%20(1997).ENG.pdf
[๗] UN’s abortion policies on Cambodia สืบค้นข้อมูลจาก http://www.un.org/esa/population/publications/abortion/doc/cambod1.doc
[๘] มาตรา ๑๕ แห่งกฎหมายสุขภาพฉบับที่ ๒๓/๑๙๙๒ สืบค้นข้อมูลจาก www.oit.org/dyn/natlex/docs/ELECTRONIC/91601/.../IDN91601%20Eng.pdf, หน้า ๕
[๙] UN’s abortion policies on Indonesia สืบค้นข้อมูลจาก http://www.un.org/esa/population/publications/abortion/doc/indonesia.doc
[๑๐] มาตรา ๓๑๒ แห่งประมวลกฎหมายอาญามาเลเซีย สืบค้นข้อมูลจาก http://www.agc.gov.my/agcportal/uploads/files/Publications/LOM/EN/Penal%20Code%20%5BAct%20574%5D2.pdf
[๑๑] Ibid.
[๑๒] Ibid., มาตรา ๓๑๓
[๑๓] Ibid., มาตรา ๓๑๔
[๑๔] Ibid.
[๑๕] มาตรา ๑๘ แห่งอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา สืบค้นข้อมูลจาก https://treaties.un.org/doc/publication/unts/.../volume-1155-i-18232-english.pdf, หน้า ๖
[๑๖] ประมวลกฎหมายอาญาเมียนมา สืบค้นข้อมูลจาก www.burmalibrary.org/docs17/1861-Penal_Code-ocr-en+bu.pdf
[๑๗] UN’s abortion policies on Philippines สืบค้นข้อมูลจาก http://www.un.org/esa/population/publications/abortion/doc/philippines.doc
[๑๘] สืบค้นข้อมูลจาก https://www.womenonwaves.org/en/page/5137/abortion-law-singapore
[๑๙] ประมวลกฎหมายอาญาไทย สืบค้นข้อมูลจาก http://web.krisdika.go.th/data/law/law4/%BB06/%BB06-20-9999-update.pdf หน้า ๘๐
[๒๐]ข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ตามมาตรา ๓๐๕ แห่งประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. ๒๕๔๘ สืบค้นข้อมูลจาก https://www.reproductiverights.org/sites/crr.civicactions.net/files/documents/abortion_regulation_in_Thai.pdf
[๒๑]  สืบค้นข้อมูลจาก https://www.thairath.co.th/content/868386
[๒๒] UN’s abortion policies on Vietnam สืบค้นข้อมูลจาก http://www.un.org/esa/population/publications/abortion/doc/vietnam.doc
[๒๓] ข้อ ๒ CEDAW สืบค้นข้อมูลจาก http://www.ohchr.org/Documents/ProfessionalInterest/cedaw.pdf
[๒๔] Ibid., ข้อ ๑๒

© 2017 Office of the Council of State.