BANNER

แนวโน้มของอูเบอร์ (Uber)ในการฝ่าฟันวิกฤตด้านกฎหมายในอาเซียน


 ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน      03 Jul 2017

  



ภาพจาก techinasia
 
 บทนำ
อูเบอร์ (Uber) คือบริษัทเทคโนโลยีผู้ให้บริการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ โดยผู้ใช้บริการจะต้องจองรถก่อนใช้บริการ ความแตกต่างของอูเบอร์กับรถแท็กซี่คือ แท็กซี่สามารถเรียกโดยตรงบนท้องถนนและผ่านแอปพลิเคชัน แต่รถยนต์อูเบอร์นั้นผู้ใช้บริการจะต้องเรียกผ่านการใช้แอปพลิเคชันอูเบอร์เพียงอย่างเดียว โดยก่อนที่ผู้โดยสารจะตกลงใช้บริการ แอปพลิเคชันจะแสดงอัตราค่าโดยสารตลอดการเดินทางให้ผู้ใช้บริการทราบ

ข้อแตกต่างระหว่างอูเบอร์กับแท็กซี่ทั่วไปไม่ได้อยู่ที่รูปแบบการให้บริการและราคาเท่านั้น แต่แตกต่างที่โมเดลธุรกิจ ซึ่งโมเดลของอูเบอร์มีพื้นฐานมาจากแนวคิดระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ที่เรียกว่า “ระบบเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน” (sharing economy) ซึ่งเป็นการช่วยให้บุคคลหรือองค์กรสามารถสร้างรายได้จากทรัพย์สินที่ตนมีมากเกินความจำเป็นหรือไม่ได้ใช้แล้ว (excess capacity) ผ่านการให้บริการบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต หรือสมาร์ทโฟน เพื่อเชื่อมต่อระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับบริการในการเข้าถึงสินค้าหรือบริการ โดยผู้รับบริการจะอาศัยข้อมูลบนเครือข่ายสังคมออนไลน์เป็นพื้นฐานที่ช่วยในการตัดสินใจในการให้บริการของอูเบอร์[๑] ผู้ขับขี่อูเบอร์ใช้รถยนต์ส่วนบุคคลในการให้บริการรับส่งผู้โดยสาร โดยมองว่าสามารถใช้รถที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ยิ่งขึ้น และจะเป็นประโยชน์ร่วมกันระหว่างผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการด้วย

ด้วยบริการอันเป็นเอกลักษณ์ทำให้อูเบอร์ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว อูเบอร์ได้ขยายกิจการในอาเซียนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๖ โดยปัจจุบันได้ให้บริการใน ๓๘ เมืองในอาเซียน[๒]และกำลังขยายการให้บริการอย่างต่อเนื่อง แม้อูเบอร์จะได้รับความนิยมและมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่อูเบอร์กำลังเผชิญอุปสรรคครั้งใหญ่ เนื่องจากกฎหมายของหลายประเทศในแถบนี้ต่างไม่รองรับลักษณะการให้บริการของอูเบอร์  อย่างไรก็ดี บทความนี้จะกล่าวถึงประเทศสมาชิกอาเซียนที่ทั้งมีและไม่มีกฎหมายรองรับการให้บริการอูเบอร์เพื่อให้เห็นถึงเหตุผลความจำเป็นของแต่ละประเทศ
 
๑. ประเทศสมาชิกอาเซียนที่ไม่มีกฎหมายรองรับอูเบอร์
๑.๑ ไทย
ในปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายรองรับอูเบอร์ในไทยและสำหรับประเทศไทยแล้วยังถือว่าการให้บริการอูเบอร์เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
 
๑.๑.๑ การใช้รถยนต์ผิดประเภท
ในประเทศไทย กรมการขนส่งทางบกระบุชัดเจนว่า อูเบอร์เป็นแท็กซี่ผิดกฎหมาย เนื่องจากการให้บริการรับส่งผู้โดยสารโดยใช้รถยนต์ส่วนบุคคลเพื่อให้บริการในลักษณะรถแท็กซี่ผ่านแอปพลิเคชันด้วยรถยนต์ส่วนบุคคล เมื่อพิจารณาตามบทนิยามมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. ๒๕๒๒ ได้กำหนดนิยามไว้ว่า “รถยนต์ส่วนบุคคล” หมายความว่า รถยนต์นั่งส่วนบุคคล และรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล ซึ่งมิได้ใช้ประกอบการขนส่งตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก และ “รถยนต์สาธารณะ” หมายความว่า รถยนต์รับจ้าง ซึ่งได้แก่รถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคน หรือรถยนต์สาธารณะอื่นนอกจากรถยนต์โดยสารประจําทาง ฉะนั้นแล้ว ปัจจุบันการที่อูเบอร์ใช้รถยนต์ส่วนตัวรับจ้างเช่นนี้ จึงเป็นกรณีที่อูเบอร์ใช้รถยนต์ไม่ตรงกับที่จดทะเบียนไว้ จึงเป็นความผิดฐานใช้รถยนต์ผิดประเภทตามมาตรา ๒๑ แห่งพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. ๒๕๒๒[๓] โดยมาตรา ๒๑ ได้กำหนดห้ามมิให้ผู้ใดใช้รถไม่ตรงตามประเภทที่จดทะเบียนไว้ เว้นแต่เข้าข้อยกเว้นตามที่กฎหมายกำหนดซึ่งเมื่อพิจารณาข้อยกเว้นของกฎหมายแล้วพบว่าอูเบอร์มีลักษณะการให้บริการที่ยังไม่ตรงตามเงื่อนไขที่มาตรา ๒๑ ได้ยกเว้นไว้ให้ หากผู้ใช้รถอูเบอร์ยังคงฝ่าฝืนจะต้องรับผิดเป็นค่าปรับจำนวน ๒,๐๐๐ บาทตามมาตรา ๖๐ แห่งพระราชบัญญัตินี้[๔] พร้อมทำทะเบียนประวัติผู้รับจ้างหรือคนขับ และหากกระทำผิดซ้ำซาก จะถูกเพิกถอนใบอนุญาตขับรถยนต์

ในปัจจุบันไทยยังไม่มีกฎหมายที่รองรับอูเบอร์ แต่ถ้าอูเบอร์จะปฏิบัติตามกฎหมายไทยจะต้องจดทะเบียนเป็นรถยนต์สาธารณะและต้องดำเนินการ ดังต่อไปนี้
๑. ลักษณะเครื่องหมาย โคม TAXI-METER สีรถ ลักษณะ ขนาด ของรถยนต์ที่จะจดทะเบียนเป็นรถสาธารณะ เครื่องอุปกรณ์สำหรับรถ เครื่องสื่อสาร แผ่นป้ายทะเบียนรถ เครื่องหมายประเภทรถ และเครื่องหมายอื่น ฯลฯ
๒. วิธีแสดงแผ่นป้ายและเครื่องหมายสี เครื่องหมายสำหรับรถยนต์สาธารณะ ต้องเป็นไปตามกฎกระทรวงว่าด้วยรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคนที่จดทะเบียนในเขตกรุงเทพมหานคร พ.ศ.๒๕๕๐ (จังหวัดอื่น เช่น จังหวัดภูเก็ตอาจกำหนดโดยกฎหมายฉบับอื่น แต่มีลักษณะทำนองเดียวกัน)
๓. คนขับรถยนต์สาธารณะต้องติดเครื่องหมายในขณะขับรถรับจ้าง เช่น ชื่อตัวและสกุลของผู้ขับรถยนต์เป็นภาษาไทย ขนาดตัวอักษรสูงไม่น้อยกว่า ๑.๕๐ เซนติเมตร ตัวอักษรต้องเป็นแบบตัวพิมพ์ อ่านได้ง่าย โดยเย็บติดหรือปักไว้ที่อกเสื้อด้านซ้าย สีของตัวอักษรให้ตัดกับสีเสื้อ
 
๑.๑.๒ ผู้ขับไม่มีใบอนุญาตขับขี่สาธารณะ
ในส่วนของคนขับต้องได้รับใบอนุญาตขับขี่ประเภทรถยนต์สาธารณะ เนื่องจากการจดทะเบียนเพื่อขับขี่รถแท็กซี่ต้องประกอบด้วย ๒ ส่วน ได้แก่
๑. ผู้ขับขี่ต้องจดทะเบียนเพื่อขอรับไปอนุญาตเป็นผู้ขับรถตามระเบียบกรมการขนส่งทางบกว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการอบรมและทดสอบผู้ขอรับใบอนุญาตขับรถฯ
๒. การจดทะเบียนรถยนต์รับจ้างตามกฎกระทรวงว่าด้วยรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน ๗ คนที่จดทะเบียนในเขตกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๕๐
หากผู้ขับฝ่าฝืนกฎหมายจะต้องโทษจำคุกไม่เกิน ๑ เดือน หรือปรับไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา ๖๔ แห่งพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. ๒๕๒๒[๕]
 
๑.๑.๓ การคิดค่าโดยสารไม่ได้มาตรฐานตามกฎหมาย
นอกจากนี้ยังมีความผิดในการไม่ใช้อัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารตามกำหนดในประกาศกระทรวงคมนาคมเรื่อง กําหนดอัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารและค่าบริการอื่นสําหรับรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคน (TAXI-METER) ที่จดทะเบียนในจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพมหานคร โดยประกาศฯ กำหนดให้คิดอัตราค่าจ้างฯ ในเขตอื่นไม่รวมกรุงเทพมหานคร ในระยะทาง ๒ กิโลเมตรแรก ๔๐ บาท ระยะทางเกินกว่า ๒ กิโลเมตรถึงกิโลเมตรที่ ๑๐ กิโลเมตรละ ๖ บาท ระยะทางเกินกว่า ๑๐ กิโลเมตรขึ้นไป กิโลเมตรละ ๑๐ บาท กรณีรถไม่สามารถเคลื่อนที่หรือเดินรถต่อไปได้เกินกว่า ๖ กิโลเมตรต่อชั่วโมง อัตรานาทีละ ๑ บาท เนื่องจากบริการแท็กซี่เป็น "บริการขนส่งไม่ประจำทาง" ชนิดหนึ่งตามความในมาตรา ๔ (๓) แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ เป็นธุรกิจที่ควบคุมโดยกฎหมาย ผู้ที่จะให้บริการโดยได้รับค่าจ้างต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด ตามมาตรา ๒๓ วรรคสอง ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๕ ปีหรือปรับตั้งแต่ ๒๐,๐๐๐ บาท ถึง ๑๐๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา ๑๒๖ แห่งพระราชบัญญัติขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องการชำระค่าโดยสารผ่านบัตรเครดิตซึ่งอาจส่งผลต่อความปลอดภัยด้านธุรกรรมของผู้ใช้บริการในอนาคต  
 
๑.๒ กัมพูชา
อูเบอร์กำลังศึกษาการให้บริการด้านการขนส่งในกัมพูชา และรัฐบาลกำลังอยู่ในระหว่างการเตรียมกฎหมาย e-commerce ให้ใช้บังคับได้จริง แต่ยังไม่มีการจัดทำความร่วมมืออย่างเป็นทางการระหว่างรัฐบาลกัมพูชาและบริษัทอูเบอร์ และทางภาครัฐยังคงอยู่ในระหว่างหารือร่วมกันในการกำหนดรูปแบบการประกอบธุรกิจการขนส่งในกัมพูชา[๖]
 
๑.๓ สปป. ลาว
ขณะนี้ยังไม่มีกฎหมายรองรับอูเบอร์ในสปป.ลาว และยังไม่มีการให้บริการอูเบอร์ภายในประเทศ
 
๑.๔ บรูไน
ขณะนี้มีการให้บริการอูเบอร์ในบรูไน แต่รัฐบาลยังไม่รองรับ[๗] ในบรูไนมีแอปพลิเคชันท้องถิ่นชื่อ “Dart” ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจให้บริการแอปพลิเคชันดังกล่าวมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมือง Gadong แอปพลิเคชันมีให้บริการเรียกรถแท็กซี่และเพิ่งเปิดตัวไปเมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๐[๘]
 
๑.๕ เมียนมา
ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายภายในเพื่อรองรับอูเบอร์ในเมียนมา แต่รัฐบาลกำลังปฏิรูปกฎหมายภายในและเตรียมร่างกฎจราจรของเมืองย่างกุ้งเพื่อรองรับอูเบอร์ (Uber) รวมทั้งรองรับผู้ให้บริการแอปพลิเคชันอื่นได้ให้บริการอย่างเต็มรูปแบบ และเป็นการเตรียมความพร้อมของประเทศที่จะก้าวเข้าสู่ยุค “เศรษฐกิจแบ่งปัน” (Sharing economy) โดยอูเบอร์เพิ่งเปิดตัวในเมียนมาไปเมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๐[๙]
 
๒. ประเทศสมาชิกอาเซียนที่มีกฎหมายรองรับอูเบอร์
๒.๑ สิงคโปร์
ภายหลังจากที่สภาผู้แทนราษฎรสิงคโปร์ได้มีมติเห็นชอบแก้ไขพระราชบัญญัติการจราจรทางบกโดยผู้ขับรถยนต์รับจ้างส่วนบุคคล (Private-hire car) กับบริษัทที่ให้บริการรถยนต์รับจ้างส่วนบุคคล เช่น Uber และ Grab ต้องเข้าทดสอบวัดความรู้กับกระทรวงคมนาคมสิงคโปร์เพื่อให้ได้รับใบอนุญาต

กฎหมายใหม่กำหนดให้ผู้ที่ผ่านการทดสอบจะได้ใบอนุญาตจากกระทรวงคมนาคม นอกจากนี้  รถยนต์ที่นำมาให้บริการนั้นต้องจดทะเบียนเป็นรถสาธารณะซึ่งกฎหมายกำหนดให้ต้องมีประกันภัยที่เพียงพอ และกฎหมายใหม่จะให้อำนาจกระทรวงคมนาคมที่จะขอข้อมูลการให้บริการต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนนโยบายในอนาคต

ทั้งนี้ โทษปรับในกฎหมายฉบับใหม่กำหนดโทษปรับไว้สูงสุด ๑๐,๐๐๐ ดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ ๒๕๐,๐๐๐ บาท) และให้อำนาจรัฐออกคำสั่งให้บริษัทที่ให้บริการรถยนต์รับจ้างส่วนบุคคลหยุดให้บริการ หากพบว่าผู้ขับรถยนต์รับจ้างส่วนบุคคลของบริษัทนั้นกระทำผิดกฎอย่างร้ายแรงครบ ๓ ครั้ง หรือมากกว่า ในรอบ ๑ ปี หากผู้ขับรถยนต์รับจ้างส่วนบุคคลยังคงฝ่าฝืนให้บริการอยู่อาจถูกลงโทษปรับสูงสุดถึง ๒,๐๐๐ ดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ ๕๐,๐๐๐ บาท) และอาจถูกจำคุกสูงสุด ๖ เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้  อาจถูกระงับหรือยกเลิกใบอนุญาตขับรถยนต์รับจ้างส่วนบุคคล[๑๐]
 
๒.๒ ฟิลิปปินส์
ฟิลิปปินส์เป็นประเทศแรกที่อนุมัติให้อูเบอร์ดำเนินการได้อย่างถูกกฎหมายในทุก ๆ พื้นที่เลขาธิการกระทรวงคมนาคมของฟิลิปปินส์ได้เคยกล่าวว่า “เรามองนวัตกรรมทางเทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อนความก้าวหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงการคมนาคมที่ต้องพัฒนาการให้บริการให้ปลอดภัย และสะดวกมากยิ่งขึ้น การให้บริการจองการเดินทางผ่านแอปพลิเคชันได้สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการของผู้บริโภคที่มากขึ้นในเรื่องการเดินทาง ในยุคที่สังคมเมืองเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว” [๑๑] กรมการขนส่งและคมนาคมของฟิลิปปินส์ได้เพิ่มประเภทของการขนส่งแบบใหม่ขึ้นมา เรียกว่า Transportation Network Companies (TNCs) โดยจะครอบคลุมทุกบริการที่ใช้งานแอปพลิเคชันสำหรับช่วยเชื่อมต่อระหว่างคนขับกับคนที่ต้องการใช้บริการรถยนต์โดยสาร ฟิลิปปินส์ต้องการส่งเสริมและรับรองนวัตกรรมที่สร้างความสะดวกสบายให้กับประชาชน และตอบสนองต่อความต้องการใช้งานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ภายหลังที่รัฐบาลฟิลิปปินส์ให้การรับรองการให้บริการของการเดินทางผ่านแอปพลิเคชันแล้ว รัฐบาลจะเปิดรับฟังความเห็นจากประชาชนทั่วไปเป็นระยะเวลาประมาณหนึ่งเดือน เพื่อหาแนวทางการควบคุมการดำเนินงานให้บริการในลักษณะดังกล่าว โดยในเบื้องต้น รถยนต์ที่จะเข้าข่ายของ TNCs จะต้องมีอายุต่ำกว่า ๗ ปี และติดตั้งอุปกรณ์นำทางด้วยระบบ GPS และเป็นรถยนต์ประเภทรถนั่งส่วนบุคคลธรรมดาเท่านั้น ส่วนรถประเภทอื่นจะต้องได้รับการพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ทางฝั่งคนขับก็ต้องผ่านการรับรองจากภาครัฐเช่นกัน ในขณะเดียวกันกรมการขนส่งและคมนาคมก็ออกรูปแบบใหม่ของแท็กซี่โดยใช้ชื่อว่า แท็กซี่พรีเมียมที่ใช้เกณฑ์ติดตั้ง GPS และสามารถจองผ่านเว็ปไซต์หรือสมาร์ทโฟน โดยอนุญาตแท็กซี่ประเภทนี้สามารถให้บริการได้ ๗ ปี และสามารถชำระค่าบริการผ่านบัตรเครดิตและบัตรเดบิตได้ เพื่อเปิดโอกาสให้แท็กซี่ที่ให้บริการแบบเดิมสามารถเข้ามาแข่งขันในตลาดได้
 
๒.๔ อินโดนีเซีย
ภายหลังจากการประท้วงของกลุ่มผู้ขับรถแท็กซี่ที่เคยให้บริการอยู่เดิมในกรณีที่มีการคัดค้านผู้ให้บริการรถยนต์สาธารณะซึ่งให้บริการผ่านแอปพลิเคชัน รัฐบาลอินโดนีเซียจึงได้ออกกฎหมายใหม่ที่มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๐ กฎหมายที่ออกใหม่เรื่องบริษัทเครือข่ายคมนาคม หรือ Transportation Network Companies เปิดทางให้รัฐบาลท้องถิ่นสามารถกำหนดราคาขั้นต่ำและขั้นสูงผ่านแอปพลิเคชันเรียกรถ พร้อมกับจำกัดปริมาณรถได้ด้วย[๑๒] สำหรับเหตุผลการออกกฎหมายครั้งนี้ กรมการขนส่งอินโดนีเซียระบุว่าเป็นการหาจุดร่วมระหว่างคนขับรถโดยสารเดิมกับกลุ่มใหม่ที่ให้บริการผ่านแอปพลิเคชัน ซึ่งดูเหมือนว่าฝ่ายคนขับรถโดยสารเดิมจะเป็นฝ่ายชนะเพราะว่ากฎหมายใหม่นี้ทำให้ผู้ให้บริการอย่าง Uber Grab และ Gojek เข้ามาแข่งขันได้ยากขึ้น[๑๓]
 
๒.๕ มาเลเซีย
มาเลเซียได้มีการพิจารณาแก้ไขพระราชบัญญัติการขนส่งทางบกวาระแรกในเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ และจะมีการพิจารณาในวาระที่ ๒ ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ เพื่อเป็นการรองรับแอปพลิเคชันเรียกรถโดยสารออนไลน์ (E-hailing Application) มีการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยและคุณภาพของการให้บริการให้สูงขึ้น โดยการดำเนินการทุกขั้นตอนอยู่ภายใต้กฎหมาย เช่น การเพิ่มมาตรการควบคุมในบางระดับ ได้แก่ คนขับต้องใช้ใบขับขี่สาธารณะ (public service vehicle licence - PSV) การทำประกันภัยรถให้ครอบคลุม การลงทะเบียนและตรวจสภาพรถที่นำมาให้บริการ และยังมีการขึ้นบัญชีดำ (blacklist) ผู้ขับอูเบอร์ที่ละเมิดกฎหมาย[๑๔]
 
๒.๖ เวียดนาม
เวียดนามได้อนุมัติให้อูเบอร์ทำธุรกิจถูกกฎหมายแล้ว นาย Nguyen  Hong  Truongรัฐมนตรีช่วยว่าการคมนาคมของเวียดนามกล่าวว่า อูเบอร์แอปพลิเคชันเรียกใช้บริการรถรับส่งสัญชาติอเมริกันได้ทำตามข้อกำหนดของกฎหมายรัฐบาลเมื่อ ๒ เดือนที่แล้ว แต่ยังคงต้องรอการอนุมัติจากเจ้าหน้าที่ของท้องถิ่นที่ให้บริการก่อนจึงจะถือว่าเสร็จสมบูรณ์ นี่ถือเป็นความพยายามครั้งที่ ๓ ของอูเบอร์ หลังจากการยื่นเรื่อง ๒ ครั้งที่ผ่านมายังติดข้อกฎหมายบางประการ ปัจจุบันอูเบอร์เวียดนามให้บริการใน ๒ เมืองหลักของประเทศคือ ฮานอย และโฮจิมินห์ โดยให้บริการ ๓ รูปแบบ ได้แก่ Uber X รถยนต์ ๔-๕ ที่นั่ง Uber Black รถยนต์ขนาด ๗ ที่นั่ง และUber Motor ซึ่งเป็นรถจักรยานยนต์ นอกจากนี้ อูเบอร์เวียดนามยังเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่รับชำระค่าบริการด้วยเงินสด[๑๕]
 
บทสรุป
ประเทศสมาชิกอาเซียนเผชิญอุปสรรคทางกฎหมายกับการให้บริการอูเบอร์ เช่น ประเทศไทยที่ยังคงมีการจับผู้ขับขี่อูเบอร์ สิ่งที่อาเซียนเผชิญในตอนนี้เหมือนกันกับที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ อย่างไรก็ดีอุปสรรคดังกล่าวไม่สามารถที่จะหยุดยั้งการเติบโตของอูเบอร์ที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วนี้ได้ แสดงให้เห็นว่าบริการของอูเบอร์แม้จะผิดกฎหมาย แต่กลับเป็นสิ่งที่คนจำนวนมากต้องการใช้บริการ เพราะเป็นโอกาสดีในการสร้างรายได้ในรูปแบบเศรษฐกิจแบ่งปัน ประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนจึงได้ออกกฎหมายเพื่อรองรับกับโมเดลธุรกิจแบบใหม่นี้ แต่ยังมีบางประเทศในอาเซียนที่ยังไม่มีกฎหมายรับรอง อย่างไรก็ตาม ประเทศในอาเซียนที่ยังไม่มีกฎหมายรับรองก็มีแนวโน้มที่จะเปิดรับอูเบอร์ให้ถูกกฎหมายได้ในอนาคต
 
แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
ผู้เขียนเห็นว่าประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนควรมีการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ โดยออกกฎหมายครอบคลุมให้มีระบบขึ้นทะเบียนเพื่อรองรับธุรกิจ e-commerce และธุรกิจแบบเศรษฐกิจแบ่งปันควบคุมคุณภาพการให้บริการรวมถึงควบคุมบริการที่มีผลต่อความปลอดภัยของประชาชน มีระบบการจัดเก็บภาษีที่ชัดเจน เช่นเดียวกับสิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ที่กำลังทำอยู่ในปัจจุบัน เพราะจะทำให้เกิดประโยชน์ ๓ ประการได้แก่
๑. ประโยชน์แก่ประชาชนจากการใช้บริการการขนส่งที่มีคุณภาพมากขึ้น และเพิ่มการแข่งขันในตลาดแท็กซี่ให้ผู้ใช้บริการมีตัวเลือกที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น
๒. ทำให้เกิดการปรับปรุงระบบขนส่งมวลชนในอาเซียนโดยยกระดับมาตรฐานด้านความปลอดภัย และการบริการให้สูงขึ้น
๓. ช่วยสนับสนุนนวัตกรรมเทคโนโลยีและธุรกิจของคนรุ่นใหม่ที่มีมูลค่ามากติดอันดับโลก อันจะช่วยพัฒนาอาเซียนให้เป็นภูมิภาคที่เป็นผู้นำทางนวัตกรรมได้ในอนาคต
จันทพร ศรีโพน
 
 

[๑] สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล. “Sharing Economy พลิกโฉมธุรกิจดิจิทัล.” http://www.depa.or.th/th/article/sharing-economy-พลิกโฉมธุรกิจดิจิทัล. (สืบค้นเมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๐)
[๒] Uber. “ค้นหาเมือง.” https://www.uber.com/th/cities. (สืบค้นเมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๐)
[๓] พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. ๒๕๒๒
มาตรา ๒๑  ห้ามมิให้ผู้ใดใช้รถไม่ตรงตามประเภทที่จดทะเบียนไว้ เว้นแต่ในกรณี ดังต่อไปนี้
(๑) การใช้รถยนต์บริการธุรกิจ รถยนต์บริการทัศนาจร หรือรถจักรยานยนต์สาธารณะในกิจการส่วนตัว
(๒) การใช้รถยนต์สาธารณะในกิจการส่วนตัว โดยมีข้อความแสดงไว้ที่รถนั้นให้เห็นได้ง่ายจากภายนอกว่าใช้ในกิจการส่วนตัว
(๓) การใช้รถยนต์สาธารณะบรรทุกของที่ติดตัวไปกับผู้โดยสาร
(๓/๑) การใช้รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลที่มีน้ำหนักรถไม่เกินสองพันสองร้อยกิโลกรัมเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคล หรือใช้รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเป็นรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล  ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด
(๔) ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
[๔] มาตรา ๖๐  ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๖ (๒) (๓) (๔) หรือ (๕) มาตรา ๖/๑ วรรคสองและวรรคสาม มาตรา ๑๑ มาตรา ๑๒ วรรคหนึ่ง มาตรา ๑๓ วรรคหนึ่ง มาตรา ๑๔ มาตรา ๑๖ วรรคหนึ่ง มาตรา ๑๗ วรรคหนึ่งและวรรคสอง มาตรา ๑๘ วรรคหนึ่ง มาตรา ๒๐ วรรคหนึ่ง มาตรา ๒๑ มาตรา ๒๒ วรรคหนึ่ง มาตรา ๒๗ วรรคหนึ่ง มาตรา ๕๖ หรือมาตรา ๕๗ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท
[๕] มาตรา ๖๔  ผู้ใดขับรถโดยไม่ได้รับใบอนุญาตขับรถ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
[๖] Khmer Times. "Uber now eyes Cambodia." ๑๗ มกราคม ๒๕๖๐.http://www.khmertimeskh.com/news/34343/uber-now-eyes-cambodia. (สืบค้นเมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๖๐)
[๗] Dart Brunei. "10 Reasons to Hire A Dart Taxi." ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๖๐. https://www.reddit.com/r/Brunei/comments/6bgbmz/10_reasons_to_hire_a_dart_taxi/. (สืบค้นเมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๖๐)
[๘] Biz Brunei. "Brunei’s first ride hailing mobile app Dart to launch May 5." ๔พฤษภาคม ๒๕๖๐. http://www.bizbrunei.com/bruneis-first-ride-hailing-mobile-app-dart-launch-may-5. (สืบค้นเมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๖๐)
[๙] Myanmar Times. "Tapping Uber to reform and regulate Yangon’s traffic." ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๖๐. http://www.mmtimes.com/index.php/business/25960-tapping-uber-to-reform-and-regulate-yangon-s-traffic.html. (สืบค้นเมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๖๐)
[๑๐] Channel News Asia. “Singapore’s Uber, Grab drivers now need to be licensed." ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐. http://www.channelnewsasia.com/news/singapore/singapore-s-uber-grab-drivers-now-need-to-be-licensed/3499272.html (สืบค้นเมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๖๐)
[๑๑] Tech in Asia. “Philippines becomes first country to create rules for ridesharing services such as Uber."
๑๑ มิถุนายน ๒๕๖๐. https://www.techinasia.com/philippines-regulations-transportation-network-companies-uber (สืบค้นเมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๖๐)
[๑๒] South China Morning Post . "Uber, Grab refuse to yield to taxis, from Jakarta to Bangkok." ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๐. http://www.scmp.com/week-asia/business/article/2079126/uber-grab-refuse-yield-taxis-jakarta-bangkok. (สืบค้นเมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๖๐)
[๑๓] CNBC. "Ride-hailing rivals can agree: New Indonesian regulations are a headache." ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๖๐. http://www.cnbc.com/2017/03/21/ride-hailing-rivals-can-agree-new-indonesian-regulations-are-a-headache.html. (สืบค้นเมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๖๐)
[๑๔] Free Malaysia Today. "Uber, Grab regulatory act to be tabled for second time in July." ๕ มิถุนายน ๒๕๖๐. http://www.freemalaysiatoday.com/category/nation/2017/06/05/uber-grab-regulatory-act-to-be-tabled-for-second-time-in-july. (สืบค้นเมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๖๐)
[๑๕] VN Express International. “Uber's ride hailing service is finally legal in Vietnam.” ๑๑ เมษายน ๒๕๖๐. http://e.vnexpress.net/news/business/uber-s-ride-hailing-service-is-finally-legal-in-vietnam-3568563.html. (สืบค้นเมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๐)

© 2017 Office of the Council of State.