BANNER

อาเซียนปรับตัวเพื่อรับมือกับการที่สหรัฐอเมริกาเริ่มมีส่วนร่วมน้อยลง


 ข่าวต่างประเทศ      15 Jun 2017

  



โตเกียว – การประชุมนานาชาติว่าด้วยอนาคตของเอเชียครั้งที่ ๒๓ (23rd International Conference on the Future of Asia) มุ่งเน้นไปที่มุมมองใหม่ของภูมิภาคอาเซียนซี่งจะได้รับอิทธิพลจากสหรัฐฯ น้อยลง ความกังวลนั้นเห็นได้ชัดเจนเนื่องจากผู้นำทางการเมืองและผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจได้หารือกันเกี่ยวกับการปรับตัวอันยากลำบาก
 
ในปัจจุบันสหรัฐฯ ได้ถอนตัวออกจากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership: TPP) แล้ว ตัวแทนจากบางประเทศจึงได้กล่าวถึงอนาคตของ TPP โดยตั้งแต่เมื่อประธานาธิบดี Donald  Trump ตัดสินใจถอนตัวออกไปเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ญี่ปุ่นก็ได้พยายามผลักดันให้คง TPP ไว้แต่ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงแสดงเจตนาไม่ผูกมัดกับ TPP ๑๑ อยู่ตามเดิม
 
Jusuf  Kalla รองประธานาธิบดีของอินโดนีเซีย ได้แสดงท่าทีสำรวมหากแต่ได้ให้สัมภาษณ์โดยวินิจฉัยความตกลงทางการค้าดังกล่าวอย่างสั้น ๆ ว่า “เมื่อสหรัฐฯ ได้ถอนตัวออก เรารู้สึกว่าผลประโยชน์ทางการค้าที่อินโดนีเซียจะได้รับนั้นมีไม่มาก และเราได้สูญเสียความสนใจนั้นแล้ว”
 
เพื่อเป็นการฉลองครบรอบ ๕๐ ปีของอาเซียน ข้อตกลงตามแบบในกรอบทางการค้าระดับพหุภาคี ซึ่งได้แก่ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP)  ซึ่งประกอบด้วยประเทศภาคีจำนวน ๑๖ ประเทศ ได้ถูกคาดหวังว่าจะสำเร็จในการประชุมสุดยอดอาเซียนในเดือนพฤศจิกายนนี้ กล่าวคือ ของ ๑๖ ชาติ นาย Le Luong Minh เลขาธิการอาเซียนกล่าวว่า อาเซียนเป็นผู้ขับเคลื่อนในข้อตกลงดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับ TPP แล้ว ข้อตกลงนี้มีเนื้อหากล่าวถึงโครงสร้างกว้าง ๆ เกี่ยวกับการค้าเสรีเท่านั้น
 
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่กล่าวถึงในการประชุมครั้งนี้ ไม่ใช่เรื่อง TPP หรือสหรัฐฯ เป็นหลักแต่เป็นเรื่องข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางหรือเส้นทางสายไหมใหม่ (One belt, one road) ของจีน
 
ผู้อภิปรายเกือบทุกคนที่เข้าร่วมการประชุมได้อ้างถึงแผนการโครงสร้างพื้นฐานมวลรวมของจีนและกล่าวถึงศักยภาพของแผนการนี้ โดยดร. สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีของไทยได้กล่าวถึงแผนการดังกล่าวว่า “มันจะเป็นเวทีใหม่ที่เกื้อหนุนการค้าเสรีโลกในที่สุด”
 
รัฐบาลทหารของไทยซึ่งมีความใกล้ชิดกับปักกิ่ง ไม่ผิดที่จะมีมุมมองเช่นนี้ ถ้าหากจีนใช้ส่วนที่เกินดุลทางการค้าและทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีอยู่อย่างเหลือเฟือมาพัฒนาท่าเรือ ถนน ระบบรางรถไฟ และโรงไฟฟ้าทั่วภูมิภาคเอเชีย รวมถึงยุโรป อาเซียนก็จะได้รับประโยชน์จากการขนส่งสินค้าและบริการผ่านโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าว
 
ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางจะเป็นประโยชน์ต่อจีนที่มีศักยภาพทางด้านอุตสาหกรรมอย่างล้นเหลือโดยจีนสามารถที่จะตอบสนองความต้องการของตลาดโลกได้ด้วยเหล็ก ปูน และวัสดุอื่น ๆ รวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักรและสินค้าอื่น ๆ
 
ประโยชน์อีกประการหนึ่งคือ ข้อริเริ่มฯ จะส่งผลให้เงินสกุลหยวนใกล้เป็นเงินสกุลสากล (international currency) แล้วทำให้เงินสกุลหยวนถูกใช้อย่างกว้างขวางมากขึ้น
 
นอกเหนือจากนี้ หากมีการโอนย้ายวัตถุดิบหรือกำลังคนซึ่งเกี่ยวข้องกับการก่อสร้างภายใต้ข้อริเริ่มดังกล่าว จีนจะกลายเป็นผู้นำในการกำหนดกฎเกณฑ์ทางการค้าและการลงทุนให้มีความราบรื่นได้ เช่น การกำหนดมาตรฐานทางภาษี กระบวนการผ่านด่านศุลกากร มาตรฐานด้านเทคโนโลยี และระบบกฎหมาย
 
ดร. สมคิดฯ กล่าวว่า “ไม่มีใครสามารถปฏิเสธได้ว่า แนวคิดนี้เป็นแนวคิดที่ยิ่งใหญ่และแปลกใหม่ที่จะเป็นแรงผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศมากขึ้น”
 
ในอีกแง่มุมหนึ่งเห็นว่า ประเทศที่จะมาแทนที่สหรัฐฯ ในการทำให้การค้าและอนุสัญญาระหว่างประเทศให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นประเทศที่เคารพเสรีภาพหรือประชาธิปไตยก็ได้
 
การประชุม ๒ วันนี้เป็นโอกาสสำหรับญี่ปุ่นในการยอมรับความจริงดังกล่าว โดยในงานเลี้ยงเมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน นาย Shinzo  Abe นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการตามข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง โดยได้ให้คำชมอย่างไม่คาดคิดว่า “ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางนั้น มีความสามารถที่จะเชื่อมโยงทั้งภูมิภาคตะวันออกและตะวันตกรวมไปถึงภูมิภาคต่าง ๆ ที่พบเจอในระหว่างทาง”
 
โตเกียวได้ประกาศว่ากำลังอยู่ระหว่างเจรจากับปักกิ่งเพื่อให้ผู้นำของทั้งสองฝ่ายได้หารือร่วมกัน และในขณะเดียวกัน มีข้อเรียกร้องในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นเพื่อให้ญี่ปุ่นเข้าร่วมในธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank) ซึ่งเป็นธนาคารที่จัดตั้งโดยประเทศจีนและเป็นผู้นำด้านการให้กู้ยืมเงินในภูมิภาค
 
นักประวัติศาสตร์ในอนาคตอาจมองการประชุมแห่งอนาคตของเอเชีย (Future of Asia) ในปีนี้ว่าเป็นจุดสำคัญเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นและจีน
 
นาย Goh Chok Thong อดีตนายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์ ซึ่งเป็นประเทศผู้นำด้านการค้าเสรีเคียงคู่กับญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ได้เปรียบเทียบสหรัฐฯ ของ Trump กับจีน และกระตุ้นให้ผู้นำอาเซียนหนุนหลังจีนโดยตั้งคำถามว่า “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเป็นกลยุทธ์ hub-and-spokes[๑] หรือไม่ ซึ่งผู้นำจีนได้แสดงเจตนาอย่างชัดแจ้งแล้วว่านี่ไม่ใช่เจตนาของจีน”
 
นาย Goh ได้อ้างคำพูดของนาย Xi Jinping ประธานาธิบดีของจีน ในการตอบคำถามและระงับการแสดงจุดยืนส่วนตัวที่ชัดเจน ความเห็นของเขาสามารถสรุปได้ว่าเขาตั้งความหวังกับจีนไว้สูง แต่ยังมีความกังวลเกี่ยวกับการที่จีนพยายามครอบงำภูมิภาคเอเชีย
 
ผู้นำที่ได้เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ย่อมรู้สึกได้ว่า อาเซียนจะพิสูจน์ “เหตุผลในความเป็นอยู่ของอาเซียน” ได้หากเจรจากับจีนอย่างชาญฉลาด โดยสามารถได้รับความร่วมมือจากปักกิ่งในด้านเศรษฐกิจ และในขณะเดียวกันสามารถยับยั้งการเคลื่อนไหวอันรุนแรงของจีนในเขตทะเลจีนใต้ได้อีกด้วย
 
ญี่ปุ่นเองก็จำเป็นต้องเจรจากับจีนอย่างละเอียดอ่อนและมีชั้นเชิง แทนที่จะเข้าหาจีนในฐานะคู่แข่งในภูมิภาค หน้าที่ของญี่ปุ่นคือ พยายามสนับสนุนให้จีนพัฒนาภูมิภาคเอเชียในลักษณะที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย
 

[๑] Hub = ศูนย์รวมในการรับและกระจายสินค้าจากจุดหนึ่งไปยังอีกหลายจุด
   Spoke = การรับหรือส่งสินค้าจากจุดจดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง

© 2017 Office of the Council of State.