BANNER

เสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารในอาเซียน: กรณีศึกษาประเทศเวียดนาม


 ประชาคมสังคมและวัฒนธรรรมอาเซียน      31 May 2017

  



 
บทนำ

เสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ในมาตราที่ ๑๙ ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ในเรื่องของเสรีภาพในการพูดและการแสดงออกทางความคิดและการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร เป็นสิทธิมนุษยชนทางสากลที่ได้รับการคุ้มครองโดยชอบด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญของแต่ละรัฐทั่วโลก[๑] และเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานเพื่อให้ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นโดยผ่านสื่อต่าง ๆ รวมทั้งสามารถแสวงหาหรือรับรู้ข้อมูลข่าวสารและความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซงจากรัฐ แต่ต้องคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่นและผลประโยชน์สาธารณะ อย่างไรก็ตามในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สิทธิเสรีภาพของประชาชนในการแสดงออกและแลกเปลี่ยนทางความคิด ความเห็นอย่างอิสระ ยังมีประเด็นปัญหาเรื่อยมาและทวีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมาซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบอย่างมากต่อพลเมืองในประเทศสมาชิกอาเซียน

เสรีภาพในการแสดงออก

เสรีภาพในการแสดงออก (Freedom of Expression) เป็นสิทธิมนุษยชนตามกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ หมายถึง สิทธิที่เราสามารถที่จะแสดงออกหรือสื่อสารความรู้สึกนึกคิดหรือความเห็น ทั้งด้วยการพูด การแสดงท่าทาง หรือการสื่อสารด้วยตัวหนังสือ ไม่ว่าจะบนหน้ากระดาษหรือในโลกออนไลน์ ตลอดจนในรูปแบบอื่นๆ นอกจากนี้ยังรวมถึงสิทธิในการค้นคว้า เข้าถึงหรือได้รับข้อมูลความรู้สึกนึกคิด ความเห็นที่มีการสื่อสารและเผยแพร่ด้วย[๒]

สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร
 
สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลเป็นสิทธิมนุษยชนภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ ตามมาตรา ๑๙ ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิ คำพิพากษาของศาลสิทธิมนุษยชนแห่งทวีปอเมริกา ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป และตามประเด็นอภิปรายของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ  หมายถึงสิทธิที่ให้ประชาชนสามารถรับรู้ข้อมูลข่าวสารของราชการเกี่ยวกับการดำเนินการต่าง ๆ ของรัฐ และให้ประชาชนได้รู้ถึงสิทธิหน้าที่ของตนอันเป็นประโยชน์ต่อการปกปักรักษาประโยชน์ของตน จากการสำรวจของศูนย์กลางเพื่ออินเตอร์เน็ตและสังคม (The Center of Internet and Society) ของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด ในปี พ.ศ. ๒๕๔๙[๓] กว่า ๗๐ ประเทศทั่วโลกได้มีการออกกฎหมายภายในประเทศให้สอดคล้องกับสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ที่ให้สิทธิประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลทั้งของภาครัฐและภาคเอกชน เสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเชื่อมโยงกับการคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกในด้านอินเตอร์เน็ตและเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) เช่น การเข้าถึงเนื้อหาของเว็บไซต์โดยปราศจากข้อจำกัดและการเซ็นเซอร์ (Censorship)
 
กรณีศึกษาของประเทศเวียดนาม
 
ดัชนีชี้วัดเสรีภาพของสื่อโลกของปี พ.ศ. ๒๕๖๐ ที่องค์กรนักข่าวไร้พรมแดนได้เผยแพร่ ในวันที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๐[๔] ได้จัดประเทศอินโดนีเซียอันดับที่ ๑๒๔ จาก ๑๘๐ ประเทศที่ได้ทำการสำรวจ ประเทศไทยตกลงมา ๖ อันดับจากอันดับที่ ๑๓๖ เป็นอันดับที่ ๑๔๒ ประเทศฟิลิปปินส์อยู่ในอันดับที่ ๑๒๗ ประเทศเมียนมาอยู่ในอันดับที่ ๑๓๑ ประเทศมาเลเซียอยู่ในอันดับที่ ๑๔๔ ประเทศสิงคโปร์อยู่ในอันดับที่ ๑๕๑ และประเทศเวียดนามอยู่ในอันดับที่ ๑๗๕ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประเทศเวียดนามมีเสรีภาพของสื่อน้อยที่สุดในบรรดาประเทศอาเซียนทั้งหมด
 
เสรีภาพในการแสดงออกและกฎหมายภายในของประเทศเวียดนาม

ในรัฐธรรมนูญของประเทศเวียดนามปี พ.ศ. ๒๕๓๕ แก้ไขเพิ่มเติมปี พ.ศ. ๒๕๕๖ เสรีภาพในการแสดงออกได้ถูกบัญญัติไว้ในลักษณะที่ ๕ มาตราที่ ๒๕ ซึ่งบัญญัติว่า[๕] “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด เสรีภาพในการการเสนอข่าวสาร การเข้าถึงข้อมูล การรวมกันเป็นสมาคม และการชุมนุมประท้วง การใช้สิทธิดังกล่าวต้องกระทำตามที่กฎหมายบัญญัติ” [๖]

สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและกฎหมายภายในของประเทศเวียดนาม

แม้ว่าเวียดนามได้ให้สัตยาบันกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ก็ตาม แต่เวียดนามยังไม่พร้อม จึงอนุมัติร่างกฎหมายการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารหลังจากนั้นอีกถึง ๓๔ ปี เมื่อวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๙ ที่ผ่านมา และยังไม่มีผลบังคับใช้โดยทันที แต่จะมีผลบังคับใช้วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๖๑[๗] ในวันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ องค์กรพิทักษ์สิทธินักข่าวระหว่างประเทศ (Committee for Protecting Journalist) ซี่งมีสำนักงานใหญ่ประจำที่มลรัฐนิวยอร์กเผยแพร่ผลการสำรวจประจำปี[๘] เรื่องอัตราการจำคุกนักข่าวทั่วโลก โดยในรายงานระบุว่า[๙]เวียดนามได้จำคุกผู้สื่อข่าวแล้วอย่างน้อย ๘ ราย

          แม้ว่าเวียดนามจะเป็นหนึ่งในประเทศแถบอาเซียนที่มีการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตมากที่สุด แต่ในขณะเดียวกันก็มีการจำกัดการแสดงออกบนอินเตอร์เน็ตมากที่สุดในบรรดาประเทศเพื่อนบ้านในแถบเดียวกัน โดยมีสถิติในจับกุมและคุมขังผู้ใช้อินเตอร์เน็ตมากที่สุดรองจากจีน จากสถิติขององค์กรนักข่าวไร้พรมแดน[๑๐] ในปี พ.ศ. ๒๕๕๖ เวียดนามได้จับผู้เขียนบล็อก[๑๑]๓๕ คน และนักข่าว ๒ คนเข้าคุก ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๖ ได้มีการรณรงค์ในโครงการ ๒๕๘ โดยผู้เขียนบล็อกมากกว่า ๑๐๐ รายออกมาเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา ๒๕๘ ในประมวลกฎหมายอาญาของเวียดนามที่ใช้ในการจับผู้เขียนบล็อก และได้ส่งข้อเรียกร้องนี้ให้แก่องค์การสหประชาชาติและสถานทูตหลายแห่ง การรณรงค์ดังกล่าวถือเป็นการเคลื่อนไหวของผู้เขียนบล็อกเวียดนามครั้งแรกที่ยืนหยัดให้มีเสรีภาพในการแสดงออก

          เจ้าหน้าที่รัฐได้จำกัดการนำเสนอข่าวที่เกี่ยวกับการตัดไม้และการทำเหมืองแร่บอกไซตโดยผิดกฎหมาย ตัวอย่างเช่น เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๕  นาย Dinh Dang Dinh ผู้เขียนเรื่องการทุจริตของรัฐบาลในโครงการอุตสาหกรรมแร่บ๊อกไซตบนอินเตอร์เน็ตได้ถูกพิพากษาต้องโทษจำคุก ๑๒ ปี ซึ่งเป็นอัตราโทษสูงสุดของกฎหมายอาญามาตรา ๘๘[๑๒] ซึ่งห้ามไม่ให้จัดทำเอกสาร หรือสื่อทางวัฒนธรรมที่มีเนื้อหาในลักษณะเป็นการต่อต้านสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม อย่างไรก็ตาม การใช้อำนาจโดยมิชอบด้วยกฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐดังกล่าวก็ยังบังคับใช้กับนักข่าวในสังกัดของภาครัฐเองอีกด้วย เช่น กรณีนักข่าว ๒ คนในสังกัดวิทยุกระจายเสียงของภาครัฐ เมือง Hung Yen ถูกซ้อมทรมานในขณะรายงานข่าวการประท้วงของชาวนาที่ถูกรอนสิทธิ[๑๓]

          แม้ว่าหน่วยงานรัฐบาลของเวียดนามได้อวดอ้างว่ามีผู้สื่อข่าวมากกว่า ๗๐๐ รายในเวียดนาม และมีผู้จัดทำหนังสือพิมพ์และนิตยสารมากกว่า ๘๕๐ ราย สถานีโทรทัศน์และสถานีวิทยุอีกกว่า ๖๖ สถานี หนังสือพิมพ์ข่าวออนไลน์ ๘๐ ราย และ เว็บไซต์ข่าวออนไลน์มากกว่า ๑,๐๐๐ เว็บไซต์ก็ตาม แต่จำนวนดังกล่าวขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่เป็นอยู่[๑๔] เนื่องจากรัฐบาลเวียดนามได้ควบคุมข่าวสารและข้อมูลในประเทศอย่างเข้มงวด

          รัฐบาลเวียดนามไม่เพียงแต่ลงโทษผู้เขียนบล็อกที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบนโลกออนไลน์เท่านั้น แต่ยังลงโทษนักข่าวท้องที่และนักข่าวจากสำนักข่าวของรัฐหรือฝ่ายพันธมิตรของรัฐบาลที่รายงานข่าวในเชิงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล เช่น ข่าวการทุจริตของภาครัฐ การยึดถือที่ดินโดยผิดกฎหมายและปัญหาสิ่งแวดล้อม อีกด้วย

         กฎระเบียบที่ใช้บังคับต่อนักข่าวและผู้เขียนบล็อกยังคงทวีความเข้มงวดมากยิ่งขึ้น เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๑ รัฐบาลได้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกาที่มีวัตถุประสงค์ในการควบคุมสื่อออนไลน์โดยเฉพาะ และล่าสุดได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาที่ ๗๒ ว่าด้วยเรื่องการจัดการ ข้อกำหนด และการใช้บริการอินเตอร์เน็ตและข้อมูลออนไลน์ ในปี พ.ศ. ๒๕๕๖
[๑๕] โดยพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวตราขึ้นเพื่อห้ามกระจายข่าวจากสื่อออนไลน์อันเป็นการเพิ่มเติมกฎเกณฑ์ของสื่อ

          แม้ว่าเวียดนามจะมีความร่วมมือกับคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติในระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๕๗-๒๕๕๙ เพื่อเพิ่มแรงกดดันในการตรวจตราการใช้อำนาจโดยมิชอบของรัฐ และมีสำนักข่าวและองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพทางการแสดงออกที่มีชื่อเสียงหลายแห่งที่พยายามจะสร้างแผนการวิเคราะห์เครือข่ายสังคมในเวียดนาม และมีกฎหมายรัฐธรรมนูญของเวียดนามรับรองเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลก็ตาม แต่เวียดนามยังคงมีกฎหมายภายในที่จำกัดเสรีภาพดังกล่าว เช่น พระราชกฤษฎีกาที่ ๗๒ ที่จำกัดไม่ให้เผยแพร่ข้อมูลจากสื่อหรือจากหน่วยงานราชการลงบนเว็บไซต์ส่วนตัว และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๘ ที่มีบทบัญญัติให้ผู้ที่เผยแพร่ข้อมูลอันเป็นการคัดค้านภาครัฐต้องโทษจำคุกตั้งแต่ ๒ ปี ถึง ๑๒ ปี

ข้อเสนอแนะ

          ผู้เขียนเห็นว่าเวียดนามควรมีการปฏิรูปกฎหมายภายใน โดยยกเลิกกฎหมายอาญาที่มีบทลงโทษจำคุกผู้เสนอข่าวที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล และยกเลิกพระราชกฤษฎีกาที่ใช้ในการจับกุมและคุมขังผู้ใช้อินเตอร์เน็ตที่แสดงความเห็นทางการเมืองอันเป็นการจำกัดเสรีภาพในการใช้อินเตอร์เน็ต ด้วยเหตุผล ๓ ประการ ประการแรก เนื่องจากเวียดนามเคยให้สัตยาบันกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง จึงควรออกกฎหมายภายในให้สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ  ประการที่ ๒ เวียดนามมีกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ให้เสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชน จึงควรออกกฎหมายลำดับรองที่ไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ประการที่ ๓ กฎหมายที่มีโทษจำคุกผู้คัดค้านรัฐบาลเป็นกฎหมายที่ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในการแสดงความคิดเห็น แสวงหา หรือรับรู้ข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อต่าง ๆ โดยปราศจากการแทรกแซงจากรัฐซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทำหน้าที่ของภาครัฐได้อีกด้วย

นางสาวจันทพร ศรีโพน
นักวิเคราะห์และจัดทำฐานข้อมูลกฎหมาย
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
 
[๑] Internews Europe, "Freedom of Expression and Right to Information in ASEAN Countries,"  
สืบค้นเมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๖๐, เข้าถึงได้จากhttps://www.internews.org/sites/default/files/resources/InternewsEU_ASEAN_FoE_and_RTI_Study_2014.pdf
[๒] Freedom House, “Freedom of Expression” สืบค้นเมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๐, เข้าถึงได้จากhttps://freedomhouse.org/issues/freedom-expression
[๓] David Banisar, “Freedom of Information around the world” สืบค้นเมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๐,เข้าถึงได้จาก http://www.freedominfo.org/documents/global_survey2006.pdf
[๔] Bangkok Post,"Press Freedom Day in Asean: Much more work to do”, สืบค้นเมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๖๐, เข้าถึงได้จาก http://www.bangkokpost.com/news/asean/1245658/press-freedom-day-in-asean-much-more-work-to-do (May 8, 2017)
[๕] Constitute project, "Vietnam’s Constitution of 1992 with Amendments through 2013”, สืบค้นเมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๐, เข้าถึงได้จากhttps://www.constituteproject.org/constitution/Socialist_Republic_of_Vietnam_2013.pdf
[๖] Vietnam’s Constitution of 1992 with amendment through 2013  in article 25: The  citizen  shall  enjoy  the  right  to  freedom  of  opinion  and  speech,  freedom  of  the press,    to    access    to    information,    to    assemble,    form    associations    and    hold demonstrations. The practice of these rights shall be provided by the law.
[๗] VN Express International, "Vietnam passes Access to Information” สืบค้นเมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๖๐, เข้าถึงได้จาก Law,"http://e.vnexpress.net/news/news/vietnam-passes-access-to-information-law-3382248.html (April 6, 2016)
[๘] Committee to Protect Journalists, “2016 prison census” สืบค้นเมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๖๐, เข้าถึงได้จาก“http://www.refworld.org/docid/586cb858c.html” (December 2016)
[๙] Radio Free Asia, "Vietnam Urged to Free Detained Citizen Journalist on World Press Freedom Day," สืบค้นเมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๖๐, เข้าถึงได้จาก http://www.rfa.org/english/news/vietnam/statement-05032017163046.html (March 5, 2013)
[๑๐] Internews Europe, "Freedom of Expression and Right to Information in ASEAN Countries," สืบค้นเมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๖๐, เข้าถึงได้จากhttps://www.internews.org/sites/default/files/resources/InternewsEU_ASEAN_FoE_and_RTI_Study_2014.pdf
[๑๑] บล็อก (อังกฤษ: blog) เป็นคำรวมมาจากคำว่า เว็บล็อก (อังกฤษ: weblog) เป็นรูปแบบเว็บไซต์ประเภทหนึ่ง ซึ่งถูกเขียนขึ้นในลำดับที่เรียงตามเวลาในการเขียน ซึ่งจะแสดงข้อมูลที่เขียนล่าสุดไว้แรกสุด จุดที่แตกต่างของบล็อกกับเว็บไซต์โดยปกติคือ บล็อกจะเปิดให้ผู้เข้ามาอ่านข้อมูล สามารถแสดงความคิดเห็นต่อท้ายข้อความที่เจ้าของบล็อกเป็นคนเขียน ซึ่งทำให้ผู้เขียนสามารถได้ผลตอบกลับโดยทันที
[๑๒]  Vietnam’s Criminal Code  Article 88: Conducting propaganda against the Socialist Republic of Vietnam
1. Those who commit one of the following acts against the Socialist Republic of Vietnam shall be sentenced to between three and twelve years of imprisonment:
c) Making, storing and/or circulating documents and/or cultural products with contents against the Socialist Republic of Vietnam.
[๑๓] Mai Phan Loi, Director of Center for Media in Educating Community ‘Challenges and Opportunities for Media Reporting on Corruption at the Provincial Level’, (October 2012)
[๑๔] Reporters Sans Frontieres report, ‘ Vietnam Programmed Death of Freedom of Information,’ สืบค้นเมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๐ เข้าถึงได้จาก https://rsf.org/sites/default/IMG/pdf/ok_gb_rapport_vietnam_web.pdf
[๑๕] Decree 72 clauses 20.4:  A personal information webpage is not allowed to provide aggregated information.

© 2016 Office of the Council of State.