BANNER

กฎเกณฑ์ควบคุมโดรน (UAVs) ในอาเซียน


 ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน      30 May 2017

  


กฎเกณฑ์ควบคุมโดรน (UAVs) ในอาเซียน
บทนำ
ในปัจจุบันคงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนสำคัญในการใช้ชีวิตประจำวัน โดยตอบสนองความต้องการและอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันแก่ผู้ใช้งาน ในบทความฉบับนี้จึงจะพูดถึง “โดรน” หรืออากาศยานขนาดเล็กไร้คนขับ ซึ่งมีข้อถกเถียงอยู่ว่าควรมีกฎเกณฑ์ควบคุมมากน้อยเพียงใด และประเทศใดมีกฎเกณฑ์ควบคุมบ้าง รวมไปถึงความคิดเบื้องหลังการออกกฎหมายควบคุมโดรนของแต่ละประเทศ
คำนิยาม
ระบบอากาศยานไร้คนขับ หรือ “Unmanned Aircraft Systems” (UAS) นั้นเป็นระบบการควบคุมการบินจากทางไกลโดยใช้การควบคุมผ่านสัญญาณวิทยุจากผู้ควบคุมภาคพื้นดิน หรืออาจควบคุมล่วงหน้าโดยการกำหนดองศาลงจอด ทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้ผู้ควบคุมภาคพื้นดินก็ได้[1]
ส่วนอากาศยานไร้คนขับ หรือ “unmanned aerial vehicles” (UAVs) เป็นที่รู้จักอีกชื่อหนึ่งว่า “โดรน” หรือ “Drone” เป็นอากาศยานที่ใช้ระบบ UAS ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องมีคนขับอยู่ในเครื่อง ทำให้สามารถลดขนาดจนเล็กมากได้ ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ในหลายประเด็น ซึ่งจะกล่าวต่อไปในบทความนี้
จุดเริ่มต้นของโดรนนั้นมาจากการอำนวยความสะดวกด้านการรบ ในกรณีที่จุดหมายมีความอันตรายมากจนไม่อาจเสี่ยงให้กำลังพลเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ได้ โดยจะใช้โดรนในการสอดแนม ส่งพัสดุ และทิ้งขีปนาวุธ เป็นต้น โดยในปัจจุบันการนำโดรนมาใช้ประโยชน์มิได้จำกัดอยู่แค่วงการทหารเท่านั้น แต่ยังนำมาใช้ในการสำรวจ การเกษตร สถาปัตยกรรม ถ่ายภาพ และอื่นๆ ซึ่งในบทความฉบับนี้จะเน้นถึงการใช้โดรนในเชิงพาณิชย์เท่านั้น

 
ประเภทของโดรน[2]
Multirotor UAVs (โดรนหลายใบพัด)
          โดรนหลายใบพัด คือโดรนที่มีตั้งแต่สองใบพัดขึ้นไป โดยอาจมีจำนวนใบพัดตั้งแต่ 2 – 8 ใบพัดหรือมากกว่า ข้อดีของโดรนลักษณะนี้คือสามารถควบคุมทิศทางได้ง่าย ควบคุมความสเถียรขณะบินในอากาศ และขึ้นลงในลักษณะแนวดิ่งได้ โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยรันเวย์
          ปัจจุบันโดรนหลายใบพัดนั้นเป็นที่นิยม และพบเห็นได้มากที่สุด
Fixed-wing drones (โดรนปีกนิ่ง)
          โดรนปีกนิ่งมีลักษณะหน้าตาคล้ายกับเครื่องบิน และจำเป็นต้องอาศัยรันเวย์ในการขึ้นลง มีข้อดีคือสามารถเดินทางได้รวดเร็วมาก และเดินทางได้ระยะทางไกลมาก พบมากในกิจกรรมทางทหาร
Hybrid model (tilt-wing) (โดรนแบบผสาน)
โดรนแบบผสานรวมเอาข้อดีของทั้งสองชนิดเข้าไว้ด้วยกัน คือมีปีกนิ่งติดกับลำตัวเครื่อง และมีใบพัด จึงทำให้สามารถร่อนขึ้นลงในแนวดิ่ง และเดินทางได้รวมเร็ว แต่เนื่องจากมีราคาแพงที่สุดจึงพบเห็นได้ค่อนข้างน้อย
การใช้โดรนเชิงพาณิชย์
จุดประสงค์ของการประดิษฐ์โดรนขึ้นในอดีตนั้นไม่ได้มีไว้เพื่อความบันเทิงอย่างในปัจจุบัน แต่มีเพื่ออำนวยความสะดวกทางการทหาร และรักษาชีวิตความปลอดภัยของกองทัพในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง แต่เนื่องจากในปัจจุบันมีโดรนหลากหลายรูปแบบขึ้น เพื่อตอบสนองต่อวัตถุประสงค์ที่ต่างกันออกไป ดังนี้
·      โดรนกู้ภัย : ใช้สำหรับการค้นหาผู้ประสบภัยจากอุบัติเหตุ หรือในพื้นที่เสี่ยงอันตราย เช่น อาคารถล่ม ไฟไหม้ โดยมุ่งการค้นหาตำแหน่งที่แน่นอนก่อนส่งพิกัดให้แก่หน่วยกู้ภัยเพื่อทำการช่วยเหลือต่อไป
·      โดรนพยากรณ์อากาศ : ใช้สำหรับการสำรวจความกดอากาศ ความชื้น แรงลม ก่อนส่งข้อมูลกลับมายังศูนย์บังคับการ อีกทั้งยังสามารถคาดการณ์ว่าจะเกิดพายุหรือไม่ได้อีกด้วย
·      โดรนถ่ายภาพ : เป็นโดรนที่สามารถพบเห็นได้มากที่สุด เนื่องจากในยุคปัจจุบันการถ่ายภาพด้วยกล้องระนาบปรกติไม่ตื่นตาตื่นใจเพียงพอ โดรนถ่ายภาพจะบินขึ้นเพื่อเก็บภาพมุมสูงได้ไม่ว่ากลางวันหรือกลางคืน นอกจากนั้นแล้วอาจใช้สำหรับการถ่ายทอดสดได้อีกด้วย
·      โดรนเกษตรกรรม : เพื่อหว่านเมล็ดหรือพ่นสารเคมีทางการเกษตร อำนวยความสะดวกในแง่แรงงาน เรื่องจากสามารถพ่นได้ในระยะกว้าง โดยใช้เวลาและแรงงานน้อย อีกทั้งยังทำให้ไม่ต้องสัมผัสกับสารเคมีโดยตรงอีกด้วย
·      โดรนขนส่งสินค้า : แม้ว่าโดรนจะมีขนาดเล็กและรับน้ำหนักได้ไม่มาก แต่บริษัทต่าง ๆ ก็เริ่มนำโดรนมาใช้ส่งสินค้ามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Amazon หรือ Domino’s เป็นต้น
ประเทศสมาชิกอาเซียนที่มีกฎหมายควบคุมโดรนในปัจจุบัน
          แม้ว่าประโยชน์ของโดรนจะมีมากมาย แต่เมื่อในปัจจุบันโดรนมีราคาถูกลงและสามารถหาซื้อได้ง่าย ผู้ใช้ขยายวงกว้างมากขึ้นจนไม่อาจสอดส่องดูแลได้ครบถ้วน การออกกฎหมายเพื่อควบคุมการใช้งานและความปลอดภัยจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยมีข้อกำหนดในเรื่องต่าง ๆ เช่น ขนาด น้ำหนัก การควบคุม และบทลงโทษ เป็นต้น
          สำหรับประเทศสมาชิกอาเซียนเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องนี้ โดยบางประเทศได้ตรากฎหมายเฉพาะเพื่อควบคุมโดรนขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับภูมิภาคในการพัฒนากฎหมายต่อไป โดยกฎหมายของประเทศสมาชิกอาเซียนที่เกี่ยวข้องกับโดรน มีดังนี้
1.     บรูไน
หน่วยงาน : The Department of Civil Aviation[3] (DCA) Ministry of Communication
กฎหมาย : Civil Aviation Order 2006[4]
โดยปรกติแล้วมีการจำกัด[5] การใช้โดรนในบรูไนภายใต้มาตรา 21 ของ Civil Aviation Order 2006. โดยทางกระทรวงคมนาคมเห็นว่าการปล่อยให้ใช้โดรนจะก่อให้เกิดผลเสีย และเป็นการรบกวนการควบคุมอากาศยานอื่น ๆ  หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ และจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ
แต่อย่างไรก็ดี อาจทำการขออนุญาตได้เป็นกรณีพิเศษ โดย DCA จะพิจารณาเป็นราย ๆ ไป
 
2.     กัมพูชา
หน่วยงาน : State Secretariat of Civil Aviation[6]
กฎหมาย : Civil Aviation Law (2014)[7]
การใช้โดรนในกัมพูชาสามารถกระทำได้ โดยมีกฎที่ต้องปฏิบัติตามอยู่บางประการ ดังนี้
·      ผู้ควบคุมโดรนจะต้องได้รับใบอนุญาตจาก State Secretariat of Civil Aviation
·      ห้ามบินโดรนใกล้ท่าอากาศยาน ฐานทัพ สถานีเครือข่ายโทรคมนาคม บ้านพักอาศัย หรือพื้นที่ชุมชน
·      บินในเวลากลางวันเท่านั้น และในสภาพอากาศปรกติเท่านั้น
·      ห้ามบินในจังหวัด Phnom Penh และบริเวณนครวัดโดยเด็ดขาด[8]
 

 
3.     อินโดนีเซีย
หน่วยงาน : Directorate General of Civil Aviation[9]
กฎหมาย : Regulation of the Minister of Transport of the Republic of Indonesia No. PM 90 of 2015 concerning Controls on the Operation of Crewless Aircraft in Airspace Served by Indonesia (“PM 90”)[10]
การใช้โดรนในอินโดนีเซียสามารถกระทำได้ โดยมีกฎที่ต้องปฏิบัติตามอยู่บางประการ ดังนี้
·      เขตห้ามบิน มีดังต่อไปนี้
o  เขตหวงห้ามโดยเฉพาะซึ่งอากาศยานทุกชนิดห้ามบินผ่าน
o  เขตหวงห้ามโดยเฉพาะซึ่งห้ามอากาศยานบินผ่านเว้นแต่เป็นอากาศยานของรัฐ
o  ท่าอากาศยานและบริเวณโดยรอบ รวมถึงหอบังคับการ
o  ท้องฟ้าสูง 150 เมตรขึ้นไป หรือ 500 ฟุต โดยมีข้อยกเว้นเป็นกรณีพิเศษและใบอนุญาตจากผู้อำนวยการศูนย์การบินพลเรือน เช่น เพื่อประโยชน์ในการลาดตระเวน พยาการณ์อากาศ สถานการณ์สัตว์อพยพ การสำรวจเพื่อทำแผนที่ เป็นต้น
·      โดรนติดกล้องห้ามทำการบินในระยะ 500 เมตรนับจากเขตหวงห้าม
·      หากเป็นโดรนติดกล้องที่ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานท้องที่นั้นๆ สามารถบินได้
·      หากฝ่าฝืนข้อกำหนดมีโทษทางอาญา ปรับ 500 ล้านรูเปีย หรือจำคุกสองปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

 
4.     มาเลเซีย
หน่วยงาน : Department of Civil Aviation (DCA) [11]
กฎหมาย : Civil Aviation Regulations 2016[12] และ “Unmanned Aerial Vehicle (UAV) Operations in Malaysian Airspace” (“2008 Circular”)[13]
ปัจจุบันมาเลเซียห้ามมิให้ผู้บังคับโดรนนำโดรนขึ้นบินในพื้นที่สาธารณะโดยเด็ดขาด เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาต[14] และมีข้อกำหนดดังนี้
·      ห้ามบินโดรนใกล้ท่าอากาศยาน ฐานทัพ สถานีเครือข่ายโทรคมนาคม บ้านพักอาศัย หรือพื้นที่ชุมชน
·      ห้ามบินโดรนสูงกว่า 122 เมตร หรือ 400 ฟุต
·      ห้ามบินโดรนในพื้นที่ชุมชนหนาแน่นมากกว่า 1,000 คน เว้นแต่บุคคลเหล่านั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับการควบคุมโดรน
·      ห้ามบินโดรนใกล้อสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น
·      ต้องได้รับใบอนุญาตก่อนการบินโดรนทุกครั้ง
·      บินในเวลากลางวันเท่านั้น และในสภาพอากาศปรกติเท่านั้น

 
5.     เมียนมา
หน่วยงาน : Department of Civil Aviation (DCA) [15]
กฎหมาย : Myanmar Aircraft Act 1934 (XXII of 1934) amended up to 25th August 2004[16]
การใช้โดรนในเมียนมาสามารถกระทำได้ โดยมีกฎที่ต้องปฏิบัติตามอยู่บางประการ ดังนี้
·      จะต้องได้รับใบอนุญาตก่อนนำโดรนขึ้นบิน
·      ห้ามบินใกล้ท่าอากาศยานโดยเด็ดขาด
·      ห้ามบินใกล้ฐานทัพทางการทหาร มิเช่นนั้นอาจมีโทษทางอาญา
·      บินในเวลากลางวันเท่านั้น และในสภาพอากาศปรกติเท่านั้น
·      ห้ามทำการบินในพื้นที่ชุมชน
·      บริเวณโดยรอบเจดีย์ชเวดากองถือเป็นเขตหวงห้ามบินโดยเด็ดขาด เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นการเฉพาะ
 
6.     ฟิลิปปินส์
หน่วยงาน : สถาบันการบินพลเรือนฟิลิปปินส์ หรือ Civil Aviation Authority of the Philippines (CAAP) [17]
กฎหมาย : Republic Act No.9497[18] ( Civil Aviation Authority Act of 2008) และPhilippine Civil Aviation Regulations[19]
การใช้โดรนในฟิลิปปินส์สามารถกระทำได้ โดยมีกฎที่ต้องปฏิบัติตามอยู่บางประการ ดังนี้
·        ห้ามบินเข้าใกล้บุคคลอื่นที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการควบคุมโดรนในระยะ 30 เมตร
·        ห้ามบินสูงเกิน 400 ฟุต หรือ 122 เมตร
·        บินในเวลากลางวันเท่านั้น และในสภาพอากาศปรกติเท่านั้น
·        ห้ามบินโดรนในอาณาเขตสนามบิน 10 กิโลเมตร
·        ห้ามบินโดรนในเขตชุมชน
·        จะต้องรักษาความเป็นส่วนตัวของบุคคลอื่นเสมอ
·        ผู้ควบคุมโดรนจะต้องมีใบอนุญาตที่ออกโดยสถาบันการบินพลเรือนฟิลิปปินส์
 
7.     สิงคโปร์
หน่วยงาน : the Civil Aviation Authority of Singapore (CAAS) [20]
กฎหมาย : Air Navigation Act[21] , Public Order Act (Chapter 257A ของฉบับปรับปรุง ค.ศ.2012 (พ.ศ.2555))[22] และ The Unmanned Aircraft (Public Safety and Security) Act 2015[23]
เนื่องจากสภาพภูมิประเทศของสิงคโปร์ที่มีขนาดไม่ใหญ่มาก และการใช้พื้นที่แนวดิ่งอย่างคุ้มค่า จึงทำให้ท้องฟ้าของสิงคโปร์นั้นค่อนข้างมีการจราจรหนาแน่น การใช้โดรนในสิงคโปร์นั้นโดยหลักจึงสามารถกระทำได้ ภายใต้ข้อกำหนดบางประการ โดยแบ่งออกเป็นสองประเภท ดังนี้
1)     การใช้โดรนที่ไม่ต้องขอใบอนุญาต
ก.      โดรนที่มีน้ำหนักไม่เกิน 7 กิโลกรัมไม่ต้องขอใบอนุญาต
ข.      โดรนเพื่อการศึกษาค้นคว้า
2)     การใช้โดรนที่ต้องขอใบอนุญาต
ก.      โดรนที่มีน้ำหนักเกิน 7 กิโลกรัมขึ้นไป ไม่ว่าเพื่อวัตถุประสงค์ใดก็ตาม จะต้องได้รับใบอนุญาตควบคุม และใบอนุญาตการบินก่อนเสมอ (Operator and Activity Permit)
ข.      โดรนที่มีวัตถุประสงค์เพื่อธุรกิจ เช่น การโฆษนาทางอากาศ หรือการบริการ และอื่นๆ ไม่ว่าจะมีน้ำหนักเท่าใด จำเป็นต้องได้รับใบอนุญาตควบคุม และใบอนุญาตการบินก่อนเสมอ (Operator and Activity Permit)
และมีกฎเกณฑ์พื้นฐานในการใช้โดรน ดังนี้
·      ห้ามบินใกล้ท่าอากาศยานในระยะ 5 กิโลเมตร
·      ห้ามบินสูงกว่า 61 เมตร หรือ 200 ฟุตเหนือน้ำทะเล
·      ห้ามใช้โดรนส่งหรือพาวัตถุอันตราย
8.     ไทย
หน่วยงาน : สำนักการบินพลเรือน[24] (The Civil Aviation Authority of Thailand : CAAT)
กฎหมาย : พระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ.2497[25] และประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตและเงื่อนไขในการบังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินประเภทอากาศยานที่ควบคุมการบินจากภายนอก พ.ศ. 2558[26]
การใช้โดรนในไทยสามารถกระทำได้ โดยต้องปฎิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงคมนาคม[27] ดังนี้
·      ตรวจสอบว่าอากาศยานอยู่ในสภาพที่สามารถทําการบินได้อย่างปลอดภัย ซึ่งรวมถึงตัวอากาศยานและระบบควบคุมอากาศยาน[28]
·      ได้รับอนุญาตจากเจ้าของพื้นที่ที่จะทําการบิน
·      ทําการศึกษาพื้นที่และชั้นของห้วงอากาศที่จะทําการบิน
·      มีแผนฉุกเฉิน รวมถึงแผนสําหรับกรณีเกิดอุบัติเหตุ การรักษาพยาบาล และการแก้ปัญหากรณีไม่สามารถบังคับอากาศยานได้
ในระหว่างทําการบิน[29]
·      ห้ามทําการบินในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน และรบกวนความสงบสุขของบุคคลอื่น
·      ห้ามทําการบินเข้าไปในบริเวณเขตห้าม เขตจํากัด และเขตอันตรายตามที่ประกาศใน เอกสารแถลงข่าวการบินของประเทศไทย (Aeronautical Information Publication – Thailand หรือ AIP – Thailand) รวมทั้ง สถานที่ราชการ หน่วยงานของรัฐ โรงพยาบาล เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากหน่วยงานเจ้าของพื้นที่
·      แนวการบินขึ้นลงของอากาศยานจะต้องไม่มีสิ่งกีดขวาง
·      ผู้บังคับหรือปล่อยอากาศยานต้องสามารถมองเห็นอากาศยานได้ตลอดเวลาที่ทําการบินและห้ามทําการบังคับอากาศยานโดยอาศัยชุดกล้องบนอากาศยานหรืออุปกรณ์อื่นที่มีลักษณะใกล้เคียง
·      ต้องทําการบินในระหว่างเวลาพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก ซึ่งสามารถมองเห็นอากาศยานได้อย่างชัดเจน
·      ห้ามทําการบินเข้าใกล้หรือเข้าไปในเมฆ
·      ห้ามทําการบินภายในระยะเก้ากิโลเมตร (ห้าไมล์ทะเล) จากสนามบินหรือที่ขึ้นลงชั่วคราวของอากาศยาน เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของหรือผู้ดําเนินการสนามบินอนุญาตหรือที่ขึ้นลงชั่วคราวอนุญาต
·      ห้ามทําการบินโดยใช้ความสูงเกิน 90 เมตร ( 300 ฟุต) เหนือพื้นดิน
·      ห้ามทําการบินเหนือเมือง หมู่บ้าน ชุมชน หรือพื้นที่ที่มีคนมาชุมนุมอยู่
·      ห้ามบังคับอากาศยานเข้าใกล้อากาศยานซึ่งมีนักบิน
·      ห้ามทําการบินละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่น
·      ห้ามทําการบินโดยก่อให้เกิดความเดือดร้อน ความรําคาญ แก่ผู้อื่น
·      ห้ามส่งหรือพาวัตถุอันตรายตามที่กําหนดในกฎกระทรวงหรืออุปกรณ์ปล่อยแสงเลเซอร์ติดไปกับอากาศยาน
·      ห้ามทําการบินโดยมีระยะห่างในแนวราบกับบุคคล ยานพาหนะ สิ่งก่อสร้าง หรืออาคาร น้อยกว่า 30 เมตร (100 ฟุต)

 
9.     เวียดนาม
หน่วยงาน : The Civil Aviation Authority of Vietnam (CAAV) [30]
กฎหมาย : Law on Civil Aviation of Vietnam 2006[31], Decree on management of unmanned aircraft and ultralight aircraft 2008[32]
          การใช้โดรนในเวียดนามสามารถกระทำได้ ซึ่งในกฎหมายฉบับดังกล่าวไม่เพียงแต่ควบคุมโดรนเท่านั้น แต่ยังหมายความรวมถึงลูกโป่งและว่าวอีกด้วย โดยมีกฎที่ต้องปฏิบัติตามอยู่บางประการ ดังนี้
·      จะต้องยื่นคำขออนุญาตทำการบินล่วงหน้าอย่างน้อย 14 วัน
·      ห้ามใช้โดรนส่งหรือพาวัตถุอันตราย
·      ห้ามทำการบินโดยไม่ได้รับอนุญาต
·      ห้ามติดอุปกรณ์สำหรับการถ่ายภาพโดยไม่ได้รับอนุญาต
·      ห้ามบินโดยประดับธงสัญลักษณ์ แจกใบปลิว หรือติดเครื่องขยายเสียง
 
[1] International Civil Aviation Organization (2011), Unmanned Aircraft Systems (UAS). สืบค้นเมื่อ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 เข้าถึงได้จาก https://goo.gl/uON65F
[2] กุลธิดา เด่นวิทยานันท์. (2559) "Drone" เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ. สืบค้นเมื่อ 25 พฤษภาคม พ.ศ.2560 เข้าถึงได้จาก https://goo.gl/YZH5aQ
[3]The Department of Civil Aviation สืบค้นเมื่อ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 เข้าถึงได้จาก http://www.mincom.gov.bn/
[4] Civil Aviation Order 2006 สืบค้นเมื่อ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 เข้าถึงได้จากhttp://www.mincom.gov.bn/Documents/Acts%20and%20Orders/Civil%20Aviation%20Order,%202006.pdf
[5] Parameswaran, P. (2015). Brunei Mulls New Drone Regulations. สืบค้นเมื่อ 25 พฤษภาคม พ.ศ.2560 เข้าถึงได้จาก http://thediplomat.com/2015/03/brunei-mulls-new-drone-regulations/
[6] State Secretariat of Civil Aviation  สืบค้นเมื่อ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 เข้าถึงได้จาก http://www.civilaviation.gov.kh/en/
[7] Civil Aviation Law (2014) สืบค้นเมื่อ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 เข้าถึงได้จาก http://www.civilaviation.gov.kh/images/pdf/Law/Law_civil_aviation-2014_en_.pdf
[8] Taguiam, S. D. (2015). City acts as drone buzzes palace. สืบค้นเมื่อ 25 พฤษภาคม พ.ศ.2560 เข้าถึงได้จากhttp://www.phnompenhpost.com/city-acts-drone-buzzes-palace
[9] Directorate General of Civil Aviation  สืบค้นเมื่อ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 เข้าถึงได้จาก http://hubud.dephub.go.id/?en
[10]egulation of the Minister of Transport of the Republic of Indonesia No. PM 90 of 2015 concerning Controls on the Operation of Crewless Aircraft in Airspace Served by Indonesia (“PM 90”)  สืบค้นเมื่อ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 เข้าถึงได้จาก http://jdih.dephub.go.id/assets/uudocs/permen/2015/PM_90_Tahun_2015.pdf
[11]Department of Civil Aviation (DCA) สืบค้นเมื่อ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 เข้าถึงได้จาก http://www.dca.gov.my/
[12] Civil Aviation Regulations 2016 สืบค้นเมื่อ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 เข้าถึงได้จาก http://www.dca.gov.my/wp-content/uploads/2015/02/Civil-Aviation-Regulations-2016.pdf
[13] “Unmanned Aerial Vehicle (UAV) Operations in Malaysian Airspace” (“2008 Circular”)  สืบค้นเมื่อ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 เข้าถึงได้จาก http://aip.dca.gov.my/aip%20pdf%20new/AIC/AIC%20200804.pdf
[14] Civil Aviation Regulations 2016 สืบค้นเมื่อ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 เข้าถึงได้จาก Civil Aviation Regulations 2016: Section 140-144
[15] Department of Civil Aviation (DCA) สืบค้นเมื่อ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 เข้าถึงได้จาก http://www.dca.gov.mm/
[16] Myanmar Aircraft Act 1934 สืบค้นเมื่อ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 เข้าถึงได้จาก https://goo.gl/amfSsY
[17]Civil Aviation Authority of the Philippines (CAAP) สืบค้นเมื่อ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 เข้าถึงได้จาก http://www.caap.gov.ph/
[18]Republic Act No.9497 สืบค้นเมื่อ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 เข้าถึงได้จาก http://www.gov.ph/2008/03/04/republic-act-no-9497/
[19]Philippine Civil Aviation Regulations สืบค้นเมื่อ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 เข้าถึงได้จาก http://www.caap.gov.ph/index.php/regulations-and-guidelines/philippine-civil-aviation-regulation-car
[20] Flying of Unmanned Aircraft. (n.d.). สืบค้นเมื่อ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 เข้าถึงได้จาก http://www.caas.gov.sg/caas/en/ANS/unmanned-aircraft.html
[21]Air Navigation Act  สืบค้นเมื่อ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 เข้าถึงได้จาก http://www.caas.gov.sg/caasWeb2010/export/sites/caas/en/PDF_Documents/Legislation/2.1.3.pdf
[22]Air Navigation Act  สืบค้นเมื่อ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 เข้าถึงได้จาก https://goo.gl/aGhI9f
[23] The Unmanned Aircraft (Public Safety and Security) Act 2015สืบค้นเมื่อ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 เข้าถึงได้จากhttp://www.caas.gov.sg/caasWeb2010/export/sites/caas/en/PDF_Documents/Legislation2/UMAct2015.pdf
[24] (The Civil Aviation Authority of Thailand : CAAT) สืบค้นเมื่อ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 เข้าถึงได้จาก https://www.caat.or.th/th
[25] พระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ.2497 สืบค้นเมื่อ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 เข้าถึงได้จาก https://goo.gl/HbWyjR
[26] ประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตและเงื่อนไขในการบังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินประเภทอากาศยานที่ควบคุมการบินจากภายนอก พ.ศ. 2558 สืบค้นเมื่อ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 เข้าถึงได้จาก http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2558/D/086/6.PDF
[27] ประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตและเงื่อนไขในการบังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินประเภทอากาศยานที่ควบคุมการบินจากภายนอก พ.ศ. 2558 ข้อ 5 วรรค 1
[28] กฎหมายน่ารู้เกี่ยวกับ Unmanned Aerial Vehicle (UAV). (2017, February 20). สืบค้นเมื่อ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 เข้าถึงได้จาก https://www.caat.or.th/th/archives/20367
[29] ประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตและเงื่อนไขในการบังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินประเภทอากาศยานที่ควบคุมการบินจากภายนอก พ.ศ. 2558 ข้อ 5 วรรค 2
[30] The Civil Aviation Authority of Vietnam (CAAV)  สืบค้นเมื่อ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 เข้าถึงได้จาก http://www.caa.gov.vn/
[31] Law on Civil Aviation of Vietnam 2006 , สืบค้นเมื่อ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 เข้าถึงได้จาก http://img2.caa.gov.vn/2016/07/28/00/27/2006-Civil-Aviation-Law.pdf
[32] Decree on management of unmanned aircraft and ultralight aircraft 2008 สืบค้นเมื่อ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 เข้าถึงได้จาก https://goo.gl/tx9F5D

© 2017 Office of the Council of State.