BANNER

อาเซียนตั้งข้อสงสัยในข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One belt one road) หรือเส้นทางสายไหมใหม่ของจีน


 ข่าวต่างประเทศ      16 May 2017

  




ปักกิ่ง/นิวเดลี – ประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะประเทศอินเดียไม่พร้อมให้ความสนับสนุนข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางหรือเส้นทางสายไหมใหม่ของจีน เนื่องจากเกรงว่าการแผ่อิทธิพลทางเศรษฐกิจในเอเชียของจีนจะเป็นการลดอำนาจในภูมิภาคของตน
 
ในการประชุมเวทีข้อริเริ่มเส้นทางสายไหมและเส้นทางสายไหมทางทะเลในศตวรรษที่ ๒๑ (Belt and Road Forum for International Cooperation) ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ ๑๔ – ๑๕พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ มีผู้แทนเข้าร่วมกว่า ๑๐๐ ประเทศ แต่แหล่งข่าวการทูตเสนอรายงานว่า ไม่มีผู้แทนระดับผู้นำจากนิวเดลีและเจ้าหน้าที่รัฐของอินเดียเข้าร่วมงานในครั้งนี้ มีเพียงนักวิชาการบางคนเท่านั้นที่เข้าร่วม ในทางกลับกัน ประธานาธิบดีของรัสเซีย นายวลาดิเมียร์ ปูตินเข้าร่วมงานเองเพื่อพบกับนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีของจีน

ประเทศอินเดียมีความกระตือรือร้นที่จะร่วมมือทางเศรษฐกิจกับจีนเสมอมาในอดีต ตัวอย่างเช่น อินเดียได้เข้าร่วมกับธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งอาเซีย แต่ในการประชุมครั้งนี้ไม่มีผู้แทนระดับผู้นำอินเดียเข้าร่วม สืบเนื่องจากการก่อสร้างโครงสร้างขั้นพื้นฐานของข้อริเริ่มนี้ คือ โครงการระเบียงเศรษฐกิจระหว่างจีนและปากีสถานจะมีการสร้างผ่านแคชเมียร์ที่ทั้งอินเดียและปากีสถานอ้างว่าเป็นของตนซึ่งเป็นประเด็นที่ก่อให้เกิดสถานการณ์ความตึงเครียดในภูมิภาคที่มีมานาน

โครงการนี้จะเริ่มต้นจากการเชื่อมถนนกับทางรถไฟระหว่างเขตการปกครองตนเองซีเจียงในภูมิภาคตะวันตกไกลของจีนและท่า Gwadar ของปากีสถานซึ่งจะทำให้จีนขยายการเดินเรือในอนาคต รัฐมนตรีกิจการต่างประเทศของอินเดียย้ำจุดยืนในการต่อต้านข้อริเริ่มดังกล่าว โดยโฆษกกล่าวว่า “ไม่มีประเทศใดสามารถยอมรับข้อริเริ่มที่เพิกเฉยการเคารพอำนาจอธิปไตยและบูรณภาพแห่งเขตแดนของตนได้”

วอชิงตันได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความมั่นใจว่า จีนจะให้ความช่วยเหลือในประเด็นการทดลองและพัฒนาระเบิดนิวเคลียร์และขีปนาวุธในเกาหลีเหนือ และเพื่อลดความไม่สมดุลทางการค้าระหว่างอเมริกาและจีน อย่างไรก็ตาม ไม่มีผู้แทนระดับรัฐมนตรีจากสหรัฐเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ หัวหน้าคณะผู้แทนจากสหรัฐ คือ นาย Matt Pottinger ผู้อำนวยการอาวุโสของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ เขาอภิปรายในเวทีหารือย่อยว่า สหรัฐตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน แต่เน้นย้ำว่าความโปร่งใสในการทำงานเป็นสิ่งสำคัญในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่มีรัฐบาลเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

แม้ว่ารัสเซียจะมีความร่วมมือระหว่างประเทศกับจีนอยู่บ่อยครั้ง แต่ก็ยังตั้งข้อสงวนกับข้อริเริ่มดังกล่าว เนื่องจากเส้นทางสายไหมที่ลากผ่านกรุงมอสโกของรัสเซียไปยังทวีปยุโรปมีเอเชียกลางซึ่งรัสเซียเห็นว่าเป็นสนามหลังบ้านของตนเป็นทางหลัก จึงทำให้รัสเซียไม่เต็มใจให้จีนเข้ามามีอิทธิพลในภูมิภาค

นายปูตินได้พบกับนายสี จิ้นผิงและเสนอให้มีการเชื่อมโยงโครงการทางเศรษฐกิจในภูมิภาคของมอสโก คือความร่วมมือทางเศรษฐกิจของสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชียกับแผนหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของปักกิ่ง แต่ในวันถัดมา นายปูตินได้มาถึงที่ประชุมช้ากว่าผู้นำจากประเทศอื่นประมาณ ๑๐ นาที ซึ่งอาจเป็นสัญญาณเตือนต่อจีน

หนังสือพรรคคอมมิวนิสต์ของจีนแนะว่า จีนควรหลีกเลี่ยงการมีบทบาทเพียงฝ่ายเดียวในข้อริเริ่มดังกล่าว นายสี จิ้นผิงอ้างถึงหนังสือดังกล่าวในการกล่าวเปิดงานว่า “จีนปรารถนาจะแบ่งปันแนวปฏิบัติในการพัฒนากับประเทศต่าง ๆ จีนจะไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น และไม่ประสงค์ที่จะแผ่ระบอบสังคมนิยมหรือรูปแบบการพัฒนา (Model of development) หรือ ให้ประเทศอื่นทำตามความประสงค์ของจีน สิ่งที่จีนหวังจะทำให้สำเร็จคือ ความร่วมมือรูปแบบใหม่ที่ทำให้ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์ร่วมกัน”

© 2017 Office of the Council of State.