BANNER

ความเป็นไปได้ที่ไทยจะเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของอาเซียน


 ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน      12 Dec 2016

  


ความเป็นไปได้ที่ไทยจะเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของอาเซียน
ธุรกิจท่องเที่ยวนั้นทำรายได้ให้กับประเทศไทยมาแล้วอย่างมากมายในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ด้วยความที่ประเทศไทยมีความหลากหลายทางทรัพยากรธรรมชาติ การคมนาคมที่สะดวกรวดเร็ว และความมีชื่อเสียงผ่านรอยยิ้มของคนไทย แต่องค์ประกอบเหล่านี้จะเพียงพอหรือไม่สำหรับการก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของอาเซียนดังที่รัฐบาลเคยคาดหวังไว้
ในบทความฉบับนี้เราจะมาพิจารณาถึงจุดเด่น-จุดด้อย และศักยภาพด้านต่างๆของประเทศไทย รวมถึงสถานการณ์การท่องเที่ยวของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปัจจุบัน เพื่อนำมาพัฒนาและต่อยอดอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้สอดคล้องกับนโนบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาลต่อไป
ทำความเข้าใจกับการท่องเที่ยวตามนโยบาย Thailand 4.0
          ปัญหาของประเทศไทยที่ทำให้รัฐบาลต้องผลักดันนโยบาย Thailand 4.0 คือการติดกับดักรายได้ปานกลาง หากกล่าวอย่างง่ายคือการที่เรายังคงทำธุรกิจเดิม ในรูปแบบเดิม โดยคาดหวังผลตอบแทนที่มากขึ้น ในข้อเท็จจริงย่อมไม่สามารถกระทำได้ ดังนั้น นโยบาย Thailand 4.0 จึงเน้นนำการนำนวัตกรรมมาควบคู่กับพื้นฐานอุตสาหกรรมเดิมที่มีอยู่แล้วในประเทศ เพื่อเพิ่มผลผลิตผ่านการบริหารจัดการและการใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือ
          อุตสาหกรรมท่องเที่ยวก็เช่นกัน แต่เดิมเราใช้ข้อได้เปรียบทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นจุดขาย แต่อย่างไรก็ตามเมื่อมีจำนวนนักท่องเที่ยวไหลเข้ามามาก สวนทางกับการดูแลทรัพยากรที่ดี วันหนึ่งทรัพยากรที่เรามีก็อาจหมดไปได้เช่นกัน ดังนั้น การท่องเที่ยวแนวใหม่ ชูไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงควรดำเนินการตลาดเชิงรุกควบคู่กับการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเฝ้าระวังติดตามและประเมินผลเพื่อให้การท่องเที่ยวเป็นไปอย่างยั่งยืนอันจะเป็นการพัฒนาการท่องเที่ยวภายในไปในเวลาเดียวกันนั่นเอง
ข้อได้เปรียบด้านการท่องเที่ยว
ประเทศไทยนั้นมีชื่อเสียงจากทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นทะเล ภูเขา อุทยาแห่งชาติ หรือจะเป็นการท่องเที่ยวเพื่อความบันเทิงที่มีหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นสวนสนุก โรงละคร แหล่งช๊อปปิ้ง และสถานบันเทิงต่างๆที่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ทุกระดับ ตั้งแต่นักท่องเที่ยวที่มีรายได้สูงที่สามารถใช้จ่ายในระดับหรูหราไปจนถึงนักท่องเที่ยวที่มีงบประมาณจำกัด จึงอาจกล่าวได้ว่าประเทศไทยเป็นศูนย์รวมแหล่งท่องเที่ยวที่ครบวงจร
อีกทั้งเมื่อพิจารณาในแง่ของการเดินทาง ประเทศไทยยังมีสนามบินที่สะดวก ทันสมัย และมีระบบขนส่งมวลชนที่ทั่วถึงและรวดเร็วเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เมียนมา ลาว กัมพูชา นอกจากนั้นแล้ว ประเทศไทยยังมีภูมิศาสตร์ที่ตั้งอยู่กึ่งกลางของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาท่องเที่ยวประเทศไทยก่อนจะเดินทางต่อไปยังประเทศข้างเคียงได้อีกด้วย
ข้อเสียเปรียบด้านการท่องเที่ยว
เนื่องจากที่ผ่านมา ประเทศไทยชูทรัพยากรธรรมชาติเป็นจุดขาย มีนักท่องเที่ยวเข้ามาชมธรรมชาติเป็นจำนวนมาก แต่ยังขาดแคลนการดูแลที่ดี ทำให้ทรัพยากรของเรานั้นเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว และจำเป็นต้องใช้เวลานานในการฟื้นฟู
นอกจากนี้ การเปิดประเทศของเมียนมา ลาว กัมพูชา ทำให้นักท่องเที่ยวสนใจเป็นอย่างมากเช่นกัน เนื่องจากประเทศ CLMV นี้มีลักษณะภูมิประเทศและอากาศที่ใกล้เคียงกับประเทศไทย อีกทั้งทรัพยากรธรรมชาติเช่นทะเลยังคงบริสุทธิ์อยู่มาก เห็นได้จากปริมาณนักท่องเที่ยวที่ก้าวกระโดดของประเทศเมียนมาในปี 2015[1] ซึ่งมีมูลค่าโดยรวมกว่า 2,122 ล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับปี 2011 ซึ่งมีเพียง 319 ล้านดอลลาร์เท่านั้น เป็นต้น
สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ที่มาจากการท่องเที่ยวของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปัจจุบัน
การท่องเที่ยวนับว่าเป็นรายได้โดยประมาณ 4.6% ของ GDP เป็นการสร้างงานและรายได้ให้แก่ประชาชนในภูมิภาคกว่า 9.3 ล้านคน[2] แต่เมื่อมองเจาะรายประเทศแล้วจะพบว่ามูลค่าการใช้จ่ายต่อหัวของแต่ละประเทศนั้นมีความเหลื่อมล้ำกันอยู่มาก ยกตัวอย่างเช่น ประเทศสิงค์โปร์มีรายได้ต่อหัวต่อนักท่องเที่ยวสูงกว่าประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ
ดังนั้นปัญหาที่อาจเห็นได้ชัดมีสองประเด็น ประการแรกคือการสร้างรายได้ไม่มีประสิทธิภาพ และอีกประการหนึ่งคือการที่รัฐบาลยังทุ่มเทต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวไม่เพียงพอนั่นเอง
หากอาเซียนมุ่งมั่นที่จะใช้ประโยชน์จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเพื่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งขึ้นแล้ว อาเซียนจำเป็นต้องพิจารณาถึงข้อเท็จจริงเหล่านี้และหาทางรับมือ โดยเฉพาะมาตรการที่จะดึงดูดเม็ดเงินไหลเวียนเข้ามาในประเทศ มากกว่าปริมาณนักท่องเที่ยว
นโยบายของประเทศไทย
เพื่อให้ตอบสนองนโยบาย “มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจึงจำเป็นต้องพัฒนายุทธศาสตร์การท่องเที่ยว เพื่อทำให้ประเทศไทยเข้าใกล้เป้าหมายการเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวในอาเซียนมากขึ้น โดยรัฐบาลได้กำหนดนโยบายหลัก ดังนี้ 1.เพิ่มความพึงพอใจให้กับนักท่องเที่ยวและผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว (Higher Tourist & Stakeholder Satisfaction) 2.การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Environment Protection) 3. การกระจายช่วงเวลาการท่องเที่ยว (Seasonality Expansion) 4.กระจายแหล่งท่องเที่ยวการจ้างงานสูงขึ้น (Income Distribution) 5. เพิ่มค่าใช้จ่ายต่อหัวการเพิ่มมูลค่าสินค้าการท่องเที่ยว (Higher Revenue)  6.การเติบโตอย่างยั่งยืนของจำนวนนักท่องเที่ยวอย่างสมดุลกับขีดความสามารถในการรองรับ (Sustainable Growth)
บทวิเคราะห์
เมื่อพิจารณาปริมาณนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังประเทศไทย จะเห็นได้ว่าประเทศไทยได้ให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวมากกว่า 30 ล้านคนในปี 2558 ที่ผ่านมา ปริมาณดังกล่าวเพิ่มขึ้นจากปี 2557 ถึง 6 ล้านคน ซึ่งนับว่าเป็นอัตราการเติบโตที่สูง การส่งเสริมการท่องเที่ยวระดับบนเป็นรายกิจกรรมแม้ว่าอาจไม่สามารถทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเติบโตอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนได้ในเวลาอันใกล้ แต่ก็อาจพิจารณาได้ว่าเป็นการสร้างรากฐานการท่องเที่ยวในระดับบน ในสเกลที่มีความพร้อมซึ่งจำเป็นจะต้องอาศัยความต่อเนื่องของนโยบายภาครัฐในการผลักดันให้เกิดความต่อเนื่อง การกำกับดูแลให้การท่องเที่ยวเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ในปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในอันดับ 10 ของแหล่งท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวต้องการมาเยือนมากที่สุดจากทั่วโลก และเป็นอันดับ 3 ของเอเชีย ตามหลังจีนและฮ่องกง
การเจริญเติบโตอยากรวดเร็วนี้เกินความคาดหมายของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาแห่งประเทศไทย โดยส่งผลต่อการจ้างงานกว่า 2 ล้านราย และเมื่อพิจารณาถึงข้อเท็จจริงที่ว่ากว่า 8.6% ของ GDP ประเทศไทยมาจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศไทยนั้นขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวนั่นเอง
ด้วยความร่วมมือของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาแห่งประเทศไทย (ททท.) และ สมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (Pacific Asia Travel Association - PATA) ทำให้การฟื้นฟูประเทศหลังเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว โดยกระทรวงการท่องเที่ยวเองได้ทำการประชาสัมพันธ์เชิงรุกอย่างหนักหน่วงเพื่อเรียกความมั่นใจกลับคืนสู่ประเทศ
ดังนั้น หากประเทศไทยดำเนินการตามแผนแม่บทและยุทธศาสตร์การท่องเที่ยว รวมถึงการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการเดินทางผ่านไปยังประเทศต่างๆแล้ว ประเทศไทยย่อมมีโอกาสสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในการเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวในภูมิภาคอาเซียนนั่นเอง
อ้างอิง
http://www.tma.or.th/2016/uploads/file/Cabolis-Thailand_competitiveness.pdf
http://www.mots.go.th/ewt_dl_link.php?nid=7114
bangkokbiznews.com
http://www.myanmartourism.org/images/tourism-statistics/2015.pdf
 
 
[1] http://www.myanmartourism.org/images/tourism-statistics/2015.pdf
[2] (World Economic Forum, 2015).

© 2017 Office of the Council of State.