บทวิเคราะห์ :: บทบาทของอาเซียนท่ามกลางวิกฤติเกาหลีเหนือ
ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน
30 May 2017
บทวิเคราะห์ :: บทบาทของอาเซียนท่ามกลางวิกฤติเกาหลีเหนือ บทนำ แม้ว่าคาบสมุทรเกาหลีจะถูกแบ่งออกเป็นสองฝากโดยไม่อาจคาดการณ์ได้ว่าจะสามารถกลับมารวมตัวกันได้หรือไม่ แต่ประเด็นที่น่ากังวลใจในระดับสากลคือการดื้อดึงที่จะทดลองนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ ภายใต้การนำของ Kim Jong Un นี้ ซึ่งได้ลุกลามกลายเป็นความตึงเครียดที่แต่ละภูมิภาคไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เลย หลังจากการปล่อยดาวเทียม Kwangmyongsong 3 unit 2 ไปเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2555 ตามมาด้วยการทดลองนิวเคลียร์ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 ทำให้ประชาคมโลกตื่นตัวกับภัยคุกคามในครั้งนี้ และแม้ว่าคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติจะได้มีข้อมติเพื่อลงโทษเกาหลีเหนือ จากการทดลองนิวเคลียร์ แต่เกาหลีเหนือก็มิได้นำพา และยืนยันว่าจะทดลองนิวเคลียร์ต่อไปทุกปี ห้วงเดือนที่ผ่านมา ความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลีได้สร้างความกังวลใจให้แก่ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกรวมถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ค่อนข้างมาก โดยเมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ.2560 ที่ผ่านมานั้น รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของเกาหลีเหนือ นาย Ri Yong-Ho ได้เขียนจดหมายถึงเลขาธิการอาเซียน ใจความว่า “คาดว่าอาเซียน ซึ่งมีหน้าที่อันยิ่งใหญ่ในการรักษาความสงบและความมั่นคงในภูมิภาคจะนำประเด็นการร่วมมือทางการทหารระหว่างเกาหลีใต้และสหรัฐฯ ไปหารือในที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ” และยังเสริมต่อว่าอาเซียนควรวางตัวเป็นกลางและทำหน้าที่เชิงรุกในการรักษาความสงบและปลอดภัยในคาบสมุทรเกาหลีด้วย ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2560 ระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 30 ณ ประเทศฟิลิปปินส์ อาเซียนได้แสดงความกังวลอย่างมาก และกระตุ้นให้เกาหลีเหนือปฏิบัติตามข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ที่ว่าด้วยอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ ท่าทีที่มั่นคงและสุขุมของอาเซียนต่อเกาหลีเหนือนี้ไม่เพียงแต่สะท้อนถึงการต่อต้านการการทดลองนิวเคลียร์อย่างเป็นเอกฉันท์ แต่ยังเป็นการวางตัวอย่างเป็นกลาง ไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่กำลังขัดแย้งกัน รวมทั้งจีนและสหรัฐฯด้วย นอกจากนี้แล้ว ท่าทีของอาเซียนนั้นแสดงให้เห็นว่าอาเซียนไม่ประเมินความสามารถของตนในการที่จะมีผลต่อการตัดสินใจของทุกฝ่ายสูงไป และไม่ตีความว่าตนเป็นเวทีสำหรับการรักษาความปลอดภัยในภูมิภาคอีกด้วย กลไกการทำงานของอาเซียน แม้ว่าประเด็นความท้าทายด้านความมั่นคงต่อประชาคมโลกจะสำคัญเพียงไร แต่ในฐานะการเป็นองค์การระหว่างประเทศของอาเซียนและอำนาจหน้าที่ตามกฎบัตรอาเซียน (ASEAN Charter) แล้วนั้น การเจรจาหารือผ่านความตกลงรูปแบบต่าง ๆ การวางตัวเป็นกลาง ยึดหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่นอย่างที่เป็นมาเสมอนั้นคือสิ่งที่อาเซียนควรยึดมั่นไว้ ซึ่งในปัจจุบัน การรักษาความสงบและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีความร่วมมือที่เรียกว่า การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (ASEAN Regional Forum : ARF) ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2537 เพื่อเป็นเวทีสำหรับการหารือประเด็นความมั่นคงปลอดภัย และสนับสนุนมาตรการความร่วมมือเพื่อส่งเสริมความมั่นคงปลอดภัยในภูมิภาคด้วย โดยเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของอาเซียนในการดำเนินการตามความร่วมมือต่าง ๆ ทั้งนี้ นักวิจัยของ The S. Rajaratnam School of International Studies (RSIS) ให้ความเห็นว่าอาเซียนควรเสริมสร้างความแข็งแกร่งของตนโดยการให้ความสำคัญกับประเด็นความท้าทายในคาบสมุทรเกาหลีมากขึ้น ซึ่งเป็นเหตุผลที่ความมั่นคงในคาบสมุทรเกาหลีนั้นเป็นประเด็นสะดุดตาจีนและสหรัฐขึ้นมา หากอาเซียนลงแรงมากขึ้นในประเด็นนี้ ความสำคัญและบาทบาทของอาเซียนต่อประเทศมหาอำนาจย่อมมีมากขึ้นนั่นเอง อย่างไรก็ตาม แนวทางดังนี้อาจก่อปัญหาสองประการ ประการแรกคือ ยังมีความไม่ชัดเจนว่าอาเซียนจะแสดงให้เห็นถึงความเกี่ยวข้องกับสหรัฐฯ ในการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับปัญหาเกาหลีเหนืออย่างไร ในเมื่อตนเองกำลังประสบความท้าทายในการจัดการปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคของตนอยู่ เนื่องจากสิ่งที่เป็นปัญหาของอาเซียนเสมอมาคือการได้มติอย่างเป็นเอกฉันท์จากประเทศสมาชิกในประเด็นที่มีการถกเถียงกันมายาวนาน เช่นข้อพิพาททะเลจีนใต้ เป็นต้น จึงน่าฉงนว่าอาเซียนจะเข้าไปมีส่วนร่วมจัดการกับประเด็นวิกฤติคาบสมุทรเกาหลีได้อย่างไร ในเมื่อยังไม่สามารถจัดการกับปัญหาทีเกิดขึ้นภายในคาบสมุทรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เอง ประการที่สอง อาเซียนต้องเสี่ยงกับรอยร้าวที่อาจขยายตัวขึ้นระหว่างจีนและสหรัฐฯ ระหว่างการประชุมเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมา ณ กรุงวอชิงตัน นาย Rex Tillerson รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐได้กล่าวต่อรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของอาเซียนว่าสหรัฐมีความตั้งใจที่จะมีส่วนร่วมกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยังยกย่องให้อาเซียนเป็นหุ้นส่วนที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสหรัฐฯ ยิ่งไปกว่านั้น ในแง่มุมของวิกฤติคาบสมุทรเกาหลีแล้ว นาย Rex ยังกระตุ้นให้อาเซียนกดดันเกาหลีเหนือโดยการทบทวนความสัมพันธ์ของเกาหลีเหนือที่มีกับอาเซียนเสียใหม่ และลดกระแสรายได้ของเกาหลีเหนือที่เคยได้รับจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลง นอกจากนี้ อาจเกิดผลกระทบแง่ลบต่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของอาเซียนได้ เนื่องจากในปัจจุบันมีหลายเหตุการณ์ที่เป็นตัวบ่งชี้ว่าประเทศสมาชิกอาเซียนบางประเทศเห็นด้วยกับจีนมากว่าสหรัฐฯ และบางประเทศที่เห็นด้วยกับสหรัฐฯมากกว่าจีน หากอาเซียนเลือกเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในประเด็นเกาหลีเหนือแล้ว ย่อมทำให้ประเทศสมาชิกอาเซียนแตกคอกันเองเนื่องจากทัศนคติที่มีต่อสองประเทศมหาอำนาจที่แตกต่างกัน ความสัมพันธ์ของอาเซียนและจีนในช่วงเวลาที่ผ่านมามีความตึงเครียดอยู่ไม่น้อย สืบเนื่องมาจากประเด็นความขัดแย้งทะเลจีนใต้ซึ่งยังไม่มีทีท่าว่าจะทุเลาลง แม้ว่าอาเซียนจะยินยอมให้สหรัฐฯเข้ามามีส่วนร่วมกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่อาเซียนย่อมไม่ยอมเสี่ยงเข้าเป็นพวกเดียวกับสหรัฐฯในประเด็นเกาหลีเหนือแน่นอน เพื่อหลีกเลี่ยงการขัดแย้งกับจีนโดยไม่จำเป็น ท่าทีของอาเซียนในปัจจุบัน แม้อาเซียนตั้งใจจะแสดงการมีส่วนร่วมในประเด็นภัยคุกคามของเกาหลีเหนือ แต่อาเซียนควรตระหนักถึงความสามารถในการแก้ปัญหาของตน และหลีกเลี่ยงการเลือกข้างไม่ว่าจะเป็นจีนหรือสหรัฐฯ นอกจากนี้ สิ่งที่อาเซียนสามารถทำได้คือการส่งสัญญาณให้เกาหลีเหนือทราบระหว่างการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (ASEAN Regional Forum : ARF) เพื่อให้เกาหลีเหนือลดท่าทีก้าวร้าวของตนลง นอกเหนือไปจากนั้นแล้วไม่มีอะไรที่อาเซียนสามารถทำได้เพื่อโน้มน้าวให้เกาหลีเหนือเปลี่ยนใจ ในอดีตอาเซียนเคยมีปัญหาที่คล้ายกันในประเด็นการเสี่ยงภัยจนถึงขีดอันตรายของเกาหลีเหนือ (brinksmanship) แต่เกาหลีเหนือก็มิได้ยี่หระต่อคำติเตียนของอาเซียน และยังคงดำเนินกลยุทธ์ด้านนิวเคลียร์ต่อไป แม้จะมิได้เจตนาดูถูกความสำคัญของอาเซียนในฐานะองค์การระหว่างประเทศ โดยฉพาะเมื่อหลายสิบปีที่ผ่านมา อาเซียนรับบทบาทสำคัญในการลดความเสี่ยงที่จะเกิดความขัดแย้งในภูมิภาคผ่านการเจรจา การหารือ และการลงมติร่วมกัน อาจกล่าวได้ว่าแนวปฏิบัติของอาเซียนนั้นมีอิทธิพลกว้างขวางมากในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยในภูมิภาคเอเชีย ทั้งนี้ จากการประชุม ASEAN Summit ครั้งที่ 30 ที่ผ่านมา ที่ประชุมมีความเห็นที่จะร่วมมือกันขอให้เกาหลีเหนือปฏิบัติตามมติสหประชาชาติ ซึ่งมติเอกฉันท์ของอาเซียนนั้นคือไม่ต้องการให้เกาหลีเหนือหรือประเทศอื่นใดมีการครอบครอง หรือทดลองนิวเคลียร์ และต้องการให้เกาหลีเหนือแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวิธี สรุป อาเซียนควรคำนึงถึงการพัฒนาประชาคมอาเซียนเพื่อสร้างมาตรฐานและมาตรการในการให้คำปรึกษาประเด็นความมั่นคงด้วยสันติวิธี มากกว่าการเข้าไปมีส่วนร่วมในความขัดแย้งเสียเอง รวมทั้งสนับสนุนการร่วมมือกันในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้น ตามที่ได้กำหนดไว้ในวิสัยทัศน์อาเซียน 2025 เพื่อผลประโยชน์อันแท้จริงตามเจตนารมณ์ของประชาคมอาเซียน แปลและเรียบเรียงจากบทความ North Korea Threat: How Should ASEAN Respond? R., Review, E., Review, I., Steinbock, D., M., I., . . . Dorsey, J. M. (2017, May 16). North Korea Threat: How Should ASEAN Respond? – Analysis. Retrieved May 18, 2017, from http://www.eurasiareview.com/16052017-north-korea-threat-how-should-asean-respond-analysis/