BANNER

อาเซียนควรรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกาภิวัฒน์อย่างไร?


 ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน      26 Dec 2016

  


การเปิดเสรีทางการค้าได้มีมากว่า 7 ทศวรรษแล้ว แต่เมื่อในระยะหลังได้มีหลายเหตุการณ์ที่เป็นปัจจัยส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในวงกว้าง ทั้งการที่อังกฤษประกาศแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป หรือการที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งครั้งสำคัญและครองตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา อาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าสถานการณ์โลกกำลังจะเปลี่ยนแปลงไป อันดับแรกที่ต้องพิจารณาคือการหยุดชะงักของ GDP ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ประการที่สองคือการเจรจาในประเด็นการเปิดเสรีทางการค้าในระดับพหุภาคีในเวทีโดฮานั้นล้มเหลวโดยที่มองไม่เห็นโอกาสฟื้นขึ้นมาใหม่อีกเลย และแม้แต่การเจรจาทวิภาคีระหว่างประเทศแต่ละประเทศกลับได้รับการตอบรับที่ดีกว่ามากก็ยังชะลอตัวลงเช่นกัน กระทั่งในสหรัฐอเมริกาเองก็ตาม
อาเซียนควรมุ่งหน้าไปทางไหน?
เมื่อพิจารณาดูแล้ว การเปิดเสรีทางการค้าของอาเซียนนั้นได้รับแรงบันดาลใจมาจากสหภาพยุโรป แต่อาเซียนก็ไม่ต้องการที่จะทำตามสหภาพยุโรปไปเสียทั้งหมด เหตุผลมีดังนี้
ประการแรก อาเซียนมีเป้าหมายในการเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมเบา การค้า บริการ แรงงานมีฝีมือ และเงินทุน แต่ในขณะเดียวกันไม่ต้องการจะเป็นสหภาพศุลกากร (Customs Union) (ในแง่ของการตั้งกำแพงภาษีต่ำกับทุกประเทศสมาชิก และตั้งกำแพงภาษีสูงกับประเทศคู่ค้าที่มิได้เป็นสมาชิก) หรือการเป็นตลาดเงินสกุลเดียว (single currency market) คือ การที่ประเทศสมาชิกทุกประเทศใช้สกุลเงินเดียวกันและร่วมกันรับผิดชอบสภาวะทางการเงินของกลุ่มสหภาพ เช่นเงินยูโร ของสหภาพยุโรป เป็นต้น
สาเหตุหลักมาจากความเหลื่อมล้ำของประเทศสมาชิกอาเซียน ยกตัวอย่างเช่นสิงค์โปร์ มีรายได้ประชากรต่อหัวสูงกว่ากัมพูชาถึง 46 เท่าในปี 2015 ในขณะที่ความเหลื่อมล้ำในประเทศสมาชิกยุโรปนั้นมีไม่มาก ยกตัวอย่างเช่นรายได้ประชากรต่อหัวของลักเซมเบิร์กสูงกว่าบัลแกเรียเพียง 15 เท่า และเยอรมันสูงกว่าบัลแกเรียเพียง 6 เท่า ความเหลื่อมล้ำของการเจริญเติบโตนี้นี้ยิ่งดูกว้างขึ้นเมื่อเรานำดัชนีการพัฒนามนุษย์ (Human development index) โอกาสในการประกอบธุรกิจ (Ease of doing business) ดัชนีความสามารถในการขนส่ง (Logistics performance index) และตัวชี้วัดอื่นๆมาประกอบการพิจารณา
ประการที่สอง ยุโรปนั้นมีความสามารถในการพึ่งพาตนเองได้ เนื่องจากมีทรัพยากรพร้อมหมุนเวียนกันเองในประเทศสมาชิก ในขณะที่อาเซียนทำไม่ได้แม้ว่าจะเป็นตลาดการผลิตเดียว เนื่องยังจำเป็นต้องพึ่งพาประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ในการส่งออก ลงทุน และเทคโนโลยีอีกมาก
ในปัจจุบันถือว่าอาเซียนดำเนินไปในทิศทางที่ดี ในแง่ที่ว่าอาเซียนได้รวมกลุ่มทางการค้าแล้วในหลายประเด็น ทั้งสินค้า การให้บริการและการลงทุน แต่อย่างไรก็ตามการรวมกลุ่มนี้ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อเงื่อนไขทางการคลังหรือการเงิน เมื่อพิจารณาระดับของช่องว่างการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน
 
ก้าวไปข้างหน้า
เมื่อเป็นดังนั้นแล้ว จะทำอย่างไรให้การรวมกลุ่มทางการค้าพัฒนาไปได้มากกว่านี้? อาเซียนนับว่ามีแนวคิดก้าวหน้ามากเมื่อพิจารณาจากการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area: AFTA) เมื่อปี พ.ศ. 2535 และความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ASEAN Trade in Goods Agreement : ATIGA) และความตกลงว่าด้วยเงินทุนอาเซียน (ASEAN Comprehensive Investment Agreement : ACIA) ในปี พ.ศ. 2552
          อย่างไรก็ตาม อาเซียนยังคงติดกับดักการรวมกลุ่มที่ตื้นเขิน ซึ่งหมายถึงการรวมกลุ่มเพื่อลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างพรมแดน ซึ่งการค้าการส่งออกระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนเองมีอัตราเติบโตเพียง 2%ในระยะ 15 ปีที่ผ่านมา คือ 22% เมื่อปี พ.ศ. 2543 เป็น 24% ในปี พ.ศ. 2558
          มีสองวิธีที่จะทำให้อาเซียนพัฒนาไปข้างหน้า วิธีแรกคือการที่ประเทศสมาชิกทุกประเทศจะต้องมีสมรรถนะในการเป็นฐานการผลิตที่หล่อเลี้ยงชาติได้ รักษาอัตราส่วนแบ่งของตลาดการผลิตโดยประมาณที่ 25% ซึ่งเมื่อประกอบกับปริมาณประชากรที่เพิ่มขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้วนั้น จึงมีความจำเป็นมากที่จะต้องสร้างฐานการผลิต เพื่อเป็นอาชีพรองรับประชากรในภูมิภาค อีกทั้งยังเป็นที่มาของการพัฒนานวัตกรรม
          ในประเทศกำลังพัฒนา เช่น อินโดนีเซีย โรงงานอุตสาหกรรมให้ผลตอบแทนแก่พนักงานค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับการเกษตรหรือการค้าบริการในกลุ่มแรงงานที่มีการศึกษาระดับเดียวกัน ยิ่งไปกว่านั้น แม้แต่ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างเยอรมัน ญี่ปุ่น และสิงคโปร์เอง ที่สามารถพลิกจากเศรษฐกิจฐานการผลิตเป็นเศรษฐกิจฐานบริการ (services-based economy) ได้อย่างง่ายดาย แต่กลับเลือกที่จะรักษาส่วนแบ่งจากเศรษฐกิจฐานการผลิต โดยคงมูลค่า GDP รวมในระดับ 26-28% ไว้ เนื่องจากเห็นว่าเศรษฐกิจฐานการผลิตนั้นจะสร้างทั้งงานและนวัตกรรมให้แก่ประเทศ
          ประการถัดมา ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมกลุ่มเป็นอาเซียนเพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศสมาชิก และคู่ค้าหลักนอกกลุ่ม ในขณะที่มูลค่าการส่งออกของอาเซียนในตลาดโลกกลับเพิ่มจาก 6% เป็น 8% เท่านั้นในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา แต่อัตราการส่งออกสู่ตลาดคู่ค้าหลักหกกลุ่ม คือ ออสเตรเลีย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลี และนิวซีแลนด์ ได้เพิ่มขึ้นจาก 16% เป็น 25% ในระยะ 15 ปีดังกล่าวเช่นกัน หากอาเซียนต้องการส่วนแบ่งของตลาดที่มากขึ้น อาเซียนควรนำความตกลงเขตการค้าเสรี ASEAN+1 และ ความตกลงพันธมิตรทางการค้าระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP) เพื่อเชื่อมโยง 10 ประเทศสมาชิกและ 6 ประเทศคู่ค้าหลักของอาเซียนเข้าด้วยกัน
          ในขณะที่อาเซียนดูมีทิศทางการพัฒนาการรวมกลุ่มที่ดีขึ้น แต่ก็ยังมีสิ่งที่ต้องทำอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นการลดความซับซ้อนของกฎแหล่งกำเนิดสินค้า และเพิ่มความโปร่งใสของมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Measures : NTMs) อีกทั้งควรพัฒนาการบริการในประเด็นต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การขนส่งบุคคล การชนส่งสินค้า การเงิน การติดต่อสื่อสาร ล้วนเพื่อสนับสนุนการพัฒนาฐานการผลิต
          แนวโน้มของโลกในช่วงที่ผ่านมามีการโยกย้ายออกจากรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะก้าวไปข้างหน้าและจะเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่เติบโตอย่างรวดเร็ว คาดว่าอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจจะเพิ่มขึ้น 4.6% ในปี 2017 ปัจจัยสำคัญของการเจริญเติบโตในอัตราสูงนี้มาจากการเปิดประเทศ ส่งผลให้นักลงทุนมีความสนใจในภูมิภาคโดยรวมมากขึ้น เช่น ประเทศเมียนมา ลาวและกัมพูชา รวมไปถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลอินโดนีเซียที่จะเพิ่มงบประมาณในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานและเพิ่มความสะดวกในทุกด้านโดยรวม ให้เอื้อต่อการลงทุนทำธุรกิจในภูมิภาคอาเซียนนั่นเอง
 

© 2017 Office of the Council of State.