BANNER

ความท้าทายของอาเซียนและสิงคโปร์กับการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ อเมริกา


 ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน      09 Jan 2017

  


ถึงแม้ว่าการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค (Trans-Pacific Partnership : TPP) จะชะงักลง แต่ก็มิได้หมายความว่าความพยายามในการเจรจาที่ผ่านมาได้พังทลายไปทั้งหมด เนื่องจากสหรัฐฯ อาจจะกลับเข้ามาสู่กระบวนการเจรจาใหม่อีกครั้ง หรือประเทศในเอเชียเองอาจจะหันไปหาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP) ที่มีพี่ใหญ่อย่างจีนสนับสนุนอยู่ก็เป็นได้
ในอีกไม่ถึงสามสัปดาห์ข้างหน้า นายโดนัลด์ ทรัมป์จะเข้าสู่พิธีสาบานตนก่อนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐฯ ในการนี้เองเขาได้แต่งตั้งนายปีเตอร์ นาวาร์โร เป็นประธานสภาการค้าแห่งชาติประจำทำเนียบประธานาธิบดี ซึ่งตำแหน่งดังกล่าวเป็นตำแหน่งที่มีบทบาทต่อการกำหนดทิศทางนโยบายการค้าและอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ เป็นอย่างมาก การขยับตัวหมากในครั้งนี้จึงเป็นการแสดงให้เห็นว่าการเจรจาทางการค้าอย่างแข็งกร้าวที่มีสหรัฐฯ เป็นคู่เจรจากำลังรอคอยอยู่ข้างหน้าอย่างแน่นอน
ถึงแม้ที่ผ่านมานายทรัมป์ได้เคยกล่าวว่าสหรัฐฯ จะถอนตัวออกจาก TPP ซึ่ง ณ ขณะนั้น TPP ยังเป็นข้อตกลงการค้าเสรีที่ยังไม่ได้รับการยอมรับจากฝ่ายนิติบัญญัติของสหรัฐ ฯ และเขาได้เรียกร้องให้สหรัฐฯ เริ่มต้นการเจรจาความตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (North American Free Trade Agreement : NAFTA) กับแคนาดาและเม็กซิโกใหม่อีกครั้ง ซึ่งก็เกิดคำถามว่านี่หมายถึงการสิ้นสุดของ TPP หรือไม่? ในแง่ของชื่อและวิธีการก็อาจจะตีความได้อย่างนั้น แต่หากวิเคราะห์ดูแล้วสหรัฐฯ เองไม่น่าที่จะถอนตัวออกจากความตกลงที่มีมูลค่ามากกว่าร้อยละ 40 ของ GDP โลกไปได้ และหากทำเช่นนั้น เท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้ความตกลง RCEP ที่มีจีนหนุนหลังอยู่ และความตกลงระหว่างประเทศสมาชิก ASEAN และความตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างคู่เจรจาต่าง ๆ ก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญในเวทีโลกแทน
นายฟิลิป เจเร็ทนั่ม ที่ปรึกษาอาวุโสและประธานภูมิภาคของบริษัท Dentons Rodyk. ให้สัมภาษณ์ว่า  “แม้ว่าความตกลงที่มีกับจีนจะส่งผลประโยชน์ให้กับประเทศ แต่อย่างไรเสียก็มีต้นทุนแฝงอยู่ เนื่องจากจีนไม่ได้มุ่งจะผูกพันการเปิดเสรีการค้าดังที่สหรัฐฯ ตั้งเป้าไว้ และจีนก็ไม่ได้สนใจกับประเด็นการลดอุปสรรคที่มิใช่ภาษี อย่างเงินอุดหนุน เป็นต้น” ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า ข้อตกลงการค้าระดับภูมิภาคที่สหรัฐฯ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องนั้นไม่เป็นที่พึงประสงค์ในเวทีโลกนั่นเอง
เราจึงได้แต่คาดหวังว่าสหรัฐฯ จะกลับมาเข้าร่วมการเจรจา TPP อีกครั้ง และหากเป็นเช่นนั้นแล้ว ท่าทีที่ผ่านมาของสหรัฐฯ ก็อาจเป็นการพยายามสร้างข้อต่อรองเพื่อเรียกร้องผลประโยชน์ที่มากขึ้นก็ได้ อีกทั้งประเทศต่าง ๆ ที่ได้ลงนามในความตกลง TPP ไปแล้วนั้นดูจะไม่ยอมอ่อนข้อให้กับนายทรัมป์ง่าย ๆ จึงได้มีการคาดการณ์ว่าการเจรจาและแก้ไขความตกลง TPP จะยืดเยื้อไปอีกระยะหนึ่งอย่างแน่นอน
แต่สำหรับสิงคโปร์นั้นไม่จำเป็นต้องกังวลในประเด็นดังกล่าว เนื่องจากยังมีความตกลงทางการค้าระดับทวิภาคีอีกจำนวนมากที่ได้จัดทำร่วมกับประเทศต่าง ๆ ทั้งประเทศที่เป็นคู่เจรจาใน TPP และประเทศสมาชิก ASEAN อีกทั้งผู้สังเกตการณ์คาดว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจจากความตกลง TPP ฉบับโดนัลด์ ทรัมป์ นั้นจะกระทบต่อสิงคโปร์ไม่มาก เนื่องจากสิงคโปร์มีระบบเศรษฐกิจที่เสรีและกว้างขวางมากอยู่แล้ว รวมถึงยังได้มีการจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีกับสหรัฐฯ อยู่แล้วด้วย ส่วนประเทศสมาชิก TPP ที่สิงคโปร์ยังไม่ได้มีการจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีด้วยก็มีเพียงประเทศเม็กซิโกและแคนาดาเท่านั้น อย่างไรก็ตามนายเออร์วิน ซีอาห์ นักเศรษฐศาสตร์ประจำธนาคาร DBS ได้ระบุว่าสัดส่วนการลงทุนในสองประเทศนี้ค่อนข้างเล็กน้อยเมื่อเทียบกับประเทศอื่น และเห็นว่าประเทศสมาชิก TPP ต้องการลงนามในความตกลงทวิภาคีที่มีกระบวนการเจรจาที่ง่ายกว่าและจะนำมาซึ่งภาระผูกพันที่ลึกกว่า เพื่อทำให้การเปิดการค้าเสรีในโลกนั้นยังคงอยู่ต่อไป อย่างไรก็ตาม สิงคโปร์ยังคงกดดันเพื่อให้เกิดการให้สัตยาบัน TPP ทั้งนี้ เนื่องจากข้อตกลงดังกล่าวจะเกื้อหนุนการปรับปรุงโครงสร้างทางเศรษฐกิจในภูมิภาค และสร้างความเจริญเติบโตให้กับระบบเศรษฐกิจของเอเชียโดยรวม ซึ่งจะส่งผลประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของสิงคโปร์ด้วยเช่นกัน
นางเดบอรา เอลมส์ กรรมการผู้จัดการ Asian Trade Center ได้ให้ความเห็นว่า “การเข้าร่วม TPP จะทำให้บริษัทของสิงคโปร์ได้รับประโยชน์จากการเข้าถึงตลาดของบรรดาสมาชิก ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา เม็กซิโก เวียดนาม มาเลเซีย ชิลี เปรู และบรูไน มากกว่าความตกลงฉบับต่าง ๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน” และยิ่งไปกว่านั้น หากบริษัทต่างชาติเช่นสหรัฐฯ ต้องการจะลงทุนในเอเชีย จำเป็นจะต้องตั้งบริษัทภายในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งส่งผลให้จำนานการจ้างงาน การลงทุน เทคโนโลยี รวมทั้งการสร้างทรัพยากรต่าง ๆ ให้กับเอเชียมากขึ้นอีกด้วย
นอกจากนี้ นายปีเตอร์ ยู ศาสตรจารย์จากมหาวิทยาลัย A&M University School of Law ยังได้เสริมว่า บรรดาผู้สังเกตการณ์เชื่อว่า หากไม่มีสหรัฐฯ แล้ว TPP ก็จะเป็นความตกลงที่ไม่ได้น่าสนใจเท่าเดิม แต่อย่างไรเสียเมื่อปรับรายละเอียดใหม่แล้ว TPP อาจจะยังน่าสนใจอยู่บ้าง เนื่องจากเป็นความตกลงที่มีประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของโลกอย่างประเทศญี่ปุ่นเป็นภาคีอยู่ อีกทั้งจะทำหน้าที่เป็นตัวประสานการบูรณาการเอเชียเข้าด้วยกัน และแม้ว่านายทรัมป์จะได้ประกาศว่าจะถอนตัวออกจาก TPP แต่ญี่ปุ่นก็ไม่ได้สนใจกับข้อเท็จจริงดังกล่าวแต่กลับเดินหน้าให้สัตยาบันในความตกลงจนเสร็จสิ้น ซึ่งคาดว่าการกระทำดังกล่าวเพื่อเป็นการแสดงท่าทีในฐานะผู้นำทางเศรษฐกิจของเอเชีย โดยเฉพาะในเวลาที่จีนกำลังนั่งเก้าอี้สำคัญในการเจรจาความตกลง RCEP
ทั้งนี้ นายปีเตอร์ ยู ยังกล่าวอีกว่า “ญี่ปุ่นอาจจะอยากช่วงชิงจังหวะที่สหรัฐฯ อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล และสร้างข้อได้เปรียบจากความตกลง TPP ฉบับปรับปรุงใหม่ ซึ่งดูท่าทีแล้วน่าจะมีเงื่อนไขที่เข้มงวดน้อยลง และส่งผลดีกับญี่ปุ่นมากกว่าฉบับปัจจุบัน อีกทั้งญี่ปุ่นอาจจะพยายามชักจูงให้ประเทศอื่นๆให้สัตยาบันต่อความตกลง TPP เพื่อกดดันให้สหรัฐฯ กลับเข้ามาเข้าร่วมใน TPP ในอีกทางหนึ่งด้วย”
นอกจากนี้ ก็ยังมีเหตุผลอื่น ๆ ที่นายทรัมป์ควรจะกลับเข้ามาเจรจาความตกลง TPP อีกครั้ง เนื่องจากการถอนตัวออกจาก TPP จะทำให้ผู้ส่งออกสหรัฐฯ ประสบปัญหาเสียเปรียบดุลการค้า และส่งผลให้สหรัฐฯ จำเป็นต้องลดภาษีให้แก่จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ซึ่งเป็นหนึ่งในหกคู่ค้าลำดับต้นของสหรัฐฯเอง นายโจเซฟ อินคาลเคเทอรา นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคาร HSBC กล่าว
นางปริยานกา คิโชเร นักเศรษศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ดได้กล่าวว่า ทางด้านการบูรณาการทางการค้าของภูมิภาคเอเชียที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ จะเป็นกันชนชั้นดีจากการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ โดยปรกติแล้ว ตลาดการผลิตของเอเชียจะมุ่งเน้นสินค้าระดับกลาง โดยมีลูกค้ารายใหญ่คือสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป แต่ข้อมูลล่าสุดจาก IMF แสดงให้เห็นว่ากระแสดังกล่าวเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากสัดส่วนมูลค่าการค้าของจีนในภูมิภาคเอเชียนั้นเท่ากับสหรัฐฯ ในปี 2011 โดยคาดการณ์ว่าจะสูงขึ้น เช่นเดียวกับเอเชีย (ไม่รวมจีน)ที่คาดการณ์ไว้ว่าจะได้ร้อยละ 30 าดการณ์ไว้ ้อยละ ของอุปสงค์ของประเทศจีน นับว่าเป็นพัฒนาการที่น่ายินดี และคาดว่าจะไม่น้อยลงกว่านี้ในปีถัดๆไป
โอกาสที่หายไป
เมื่อพิจารณาจากทุกองค์ประกอบรวมกันแล้ว การถอนตัวออกจาก TPP ของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นดขตเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดใน TPP จะส่งผลให้ประเทศที่ลงนาม TPP ไปแล้วอย่าง เวียดนาม มาเลเซีย บรูไน และสิงคโปร์ เสียโอกาสมากที่สุด ซึ่งสำหรับมาเลเซียและเวียดนามนั้นเป็นประเทศที่ยังไม่ได้มีการจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีกับสหรัฐฯ อยู่ในปัจจุบัน แต่เมื่อได้มีการเข้าร่วมใน TPP แล้วนั้น เวียดนามและมาเลเซียน่าจะมีมูลค่าการส่งออกไปตลาดต่างประเทศที่เป็นภาคีสมาชิก TPP มากที่สุด ถึงร้อยละ 30.1 และ 20.1 ตามลำดับ และคาดว่ารายได้จะเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 8.1 และ 7.6 ตามลำดับภายในปี 2030
เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว RCEP นั้นมีการกำหนดขอบเขตที่จำกัดมากกว่า TPP  โดย RCEP เน้นการลดภาษีและการเปิดเสรีทางการค้าบริการ ส่วน TPP เน้นเงื่อนไขการประกอบธุรกิจ โดยเพิ่มมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม แรงงาน กฎระเบียบและการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาให้สูงขึ้น นั่นจึงหมายความว่า ผลประโยชน์จาก RCEP จะไม่ได้มีมากเท่าหากเทียบกับ TPP แต่ผลประโยชน์ของ RCEP จะถูกใช้ร่วมกันอย่างเท่าเทียมและทั่วถึงในอาเซียน เนื่องจากทั้ง 10 ประเทศได้ลงนามในความตกลง RCEP ร่วมกับคู่เจรจาอย่าง อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และจีน
นอกจากนี้ยังได้มีการคาดการณ์ว่าสิงคโปร์จะได้รับผลประโยชน์จาก RCEP น้อยที่สุด เนื่องจากสิงคโปร์มีความตกลงเขตการค้าเสรีกับทุกประเทศสมาชิก RCEP อยู่แล้ว ไม่ว่าจะผ่านอาเซียนหรือความตกลงทวิภาคีอื่นๆ ในทางกลับกัน คาดว่าเวียดนามจะได้รับผลประโยชน์จาก RCEP มากที่สุด จากความตกลงทางการค้าต่างๆ และการลงทุนเพิ่มในเวียดนามจากทั้งญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน
ประเทศที่เข้าร่วมเจรจา RCEP นั้นประกอบไปด้วย จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ ไทย และประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ที่อยู่นอกสายตา TPP และถึงแม้ว่ามาตรฐานในด้านต่าง ๆ ของความตกลง RCEP จะไม่เทียบเท่ากับ TPP แต่เราก็ไม่อาจจะละเลยผลประโยชน์ที่ RCEP สามารถมอบให้แก่สมาชิกที่มิได้เข้าร่วม TPP ได้ และ RECP ยังเป็นกุญแจสำคัญที่นำไปสู่เป้าหมายของ ASEAN Economic Community ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC โดยการพัฒนาการเข้าถึงตลาดต่างประเทศ เป็นการยกระดับจากการริเริ่มโครงการหนึ่งแนวเขตหนึ่งเส้นทางหรือ "One Belt, One Road" ที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ผู้นำจีน ริเริ่มขึ้น นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าอาเซียนจะได้รับผลประโยชน์มากขึ้นจากโครงการดังกล่าว เนื่องจากเป็นคู่ค้าที่มีขนาดใหญ่อันดับสี่ของจีนนั่นเอง
ความตกลง RCEP สามารถเป็นกันชนระหว่างสถานการณ์ทางการค้าของสหรัฐฯ ในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนายทรัมป์ตั้งใจแน่วแน่ที่จะลดการขาดดุลทางการค้ากับประเทศอื่น ๆ ที่เป็นคู่ค้าของสหรัฐฯ ไม่ว่าจะผ่านการเจรจาต่อรอง การจัดเก็บภาษี และการลงโทษการค้า
ในปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าให้อาเซียนมูลค่ารวมแล้วกว่า 69.5 ล้านเหรียญ โดยได้รับ 76.7 ล้านเหรียญมาจากสินค้าอุปโภคบริโภค และขาดทุนในส่วนสินค้าบริการกว่า 7.3 ล้านเหรียญ จึงนับเป็นการขาดดุลสูงเป็นอันดับสามของสหรัฐฯ รองจากจีนและเยอรมัน
จากการวิเคราะห์ของธนาคาร HSBC มูลค่าการส่งออกระหว่างอาเซียนและสหรัฐฯนั้นมีความสำคัญอยู่ เนื่องจากมีมูลค่าส่งออกทั้งสิ้น 212.3 ล้านเหรียญ ในปี 2015 ทำให้อาเซียนเป็นคู่ค้าที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสี่ของสหรัฐฯ ตามหลังจีน แคนาดา และเม็กซิโก ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม ท่าทีของอาเซียนนั้นคงความเป็นกลางแม้สภาวะภายนอกจะค่อนข้างกดดัน การกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ จึงจะเป็นความท้าทายเพิ่มเติมที่อาเซียนจะต้องเผชิญหน้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงทำได้แต่คาดหวังให้การค้าในภูมิภาคยังคงเดินหน้าต่อไป
 
 
 
 
 
 
 
“เรียบเรียงจากบทความ ASEAN, Singapore and the challenge of a protectionist America โดย Grace Leong”

© 2017 Office of the Council of State.