BANNER

การฟื้นโทษประหารชีวิตเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่


 ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน      24 May 2017

  



 
 
นายดูเตอร์เตได้ชัยชนะจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ ที่ผ่านมา เมื่อเขาได้เข้ามาบริหารประเทศทางตำรวจได้รายงานว่า[๑]มีการปราบปรามยาเสพติดอย่างรุนแรงทำให้ประชาชนหลายพันรายเสียชีวิตโดยอ้างว่าเป็นการป้องกันตัวของเจ้าหน้าที่ และอีกหลายพันชีวิตที่เสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด โดยผู้เสียชีวิตอายุน้อยที่สุดคือ ด.ญ. ดานิก้า เมย์ การ์เซีย วัย ๕ ปี ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่รัฐวิสามัญฆาตกรรมด้วยการยิงศีรษะเมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๙

หลังเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ นายโรดริโก ดูเตอร์เตได้ให้คำมั่นสัญญาว่า[๒]จะสร้างมาตรการที่ไม่เคยมีมาก่อนในการกวาดล้างยาเสพติด โดยมีนโยบายที่จะนำโทษประหารชีวิตกลับมาใช้กับอาชญากรรมยาเสพติดและได้รับการสนับสนุนในสภาผู้แทนราษฎรและเขายังได้ประกาศใช้ความรุนแรงกวาดล้างสิ่งที่เขามองว่าเป็นอาชญากรรมโดยไม่คำนึงว่าจะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ นายดูเตอร์เตได้อ้างถึงการใช้โทษประหารชีวิตในประเทศสมาชิกอื่นของอาเซียน เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ แต่นักวิจารณ์ได้ประณามมาตรการดังกล่าวว่า[๓]เป็นมาตรการที่ไร้มนุษยธรรม

ร่างกฎหมายการใช้โทษประหารชีวิตจะเป็นมาตรการสำคัญของสงครามกวาดล้างยาเสพติดของนายดูเตอร์เตที่ได้คร่าชีวิตคนมาแล้วกว่า ๘,๐๐๐ ราย เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ สภาผู้แทนราษฎรของฟิลิปปินส์ได้ให้ความเห็นชอบกับการเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวซึ่งเป็นกระบวนการที่จะนำโทษประหารชีวิตมาใช้อีกครั้ง หลังจากยกเลิกการใช้บทลงโทษดังกล่าวมากว่าทศวรรษ

ร่างกฎหมายดังกล่าวกำหนดให้มีการลงโทษประหารชีวิตได้โดยการแขวนคอ ยิงเป้า หรือฉีดสารพิษโดยจำกัดให้ใช้เฉพาะในคดีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดเท่านั้น เช่น คดีครอบครอง ผลิต หรือจำหน่ายกัญชา โคเคน เฮโรอีน หรือ ยาอี คดีฆาตกรรมและคดีข่มขืนที่กระทำหลังเสพยาเสพติด เป็นต้น ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่นายดูเตอร์เตได้ให้ไว้ว่าจะกวาดล้างอาชญากรรมและการทุจริต ปัจจุบันร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพิจารณาในวาระที่ ๓ ของกระบวนการตรากฎหมายของสภาผู้แทนราษฎรซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของฝ่ายพันธมิตรของนายดูเตอร์เต จากนั้นร่างกฎหมายนี้จะถูกส่งไปให้วุฒิสภาซึ่งเป็นฝ่ายคนที่ใกล้ชิดกับประธานาธิบดีเช่นกันพิจารณา ก่อนที่จะเสนอให้ประธานาธิบดีลงนามในร่างกฎหมายเป็นขั้นตอนสุดท้าย
 

 
 
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายดังกล่าว[๔]แสดงความโกรธเคืองต่อประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ในการนำโทษประหารชีวิตมาใช้อีกครั้ง หลังจากที่ประเทศฟิลิปปินส์ได้ยกเลิกโทษดังกล่าวมา ๑๑ ปี โดยมีความกังวลว่าจะบ่อนทำลายกระบวนการยุติธรรม อีกทั้งยังมีกลุ่มปกป้องสิทธิและนักวิจารณ์กล่าวถึงนายดูเตอร์เตว่า เขาเป็นผู้นำในการละเมิดสิทธิมนุษยชน องค์การนิรโทษกรรมสากล (Amnesty) เตือนฟิลิปปินส์ว่า[๕]โทษประหารชีวิตจะก่อให้เกิดอาชญากรรมที่เป็นการบ่อนทำลายมนุษยธรรม ทั้งนี้ องค์การสหประชาชาติได้ออกมาเตือนว่า[๖] การนำโทษประหารชีวิตมาใช้นั้นจะเป็นการละเมิดพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศฟิลิปปินส์ได้ให้สัตยาบันไว้

รัฐบาลของประเทศฟิลิปปินส์ได้เคยยกเลิกโทษประหารชีวิตตามมาตรา ๓ ลักษณะที่ ๑๙ ของรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. ๒๕๓๐ ต่อมาประธานาธิบดี นาย Fidel Ramos ได้นำโทษประหารชีวิตกลับมาใช้อีกครั้ง ในปี พ.ศ. ๒๕๓๖ ในฐานะมาตรการควบคุมอาชญากรรม อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีนาย Gloria Macapagal-Arroyo ได้ยกเลิกการใช้กฎหมายดังกล่าวอีกครั้งในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ และในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ ประเทศฟิลิปปินส์เป็นประเทศแรกในภูมิภาคที่ได้ให้สัตยาบันพิธีสารเลือกรับของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองฉบับที่ ๒ ว่าด้วยเรื่องการยกเลิกโทษประหารชีวิตซึ่งบัญญัติว่า[๗]“จะไม่มีบุคคลใดอยู่ภายใต้เขตอำนาจของรัฐภาคีต้องโทษประหารชีวิต” และ “ทุกรัฐภาคีควรนำมาตรการที่จำเป็นมาใช้ในการยกเลิกโทษประหารชีวิตในเขตอำนาจตน” และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ประเทศฟิลิปปินส์ก็ได้สนับสนุนมติขององค์กรสหประชาชาติเรื่อยมาเพื่อยืนหยัดให้มีการยกเลิกโทษประหารชีวิตในทั่วทุกมุมโลก

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศฟิลิปปินส์เป็นผู้นำในภูมิภาคเอเชียในการรณรงค์ต่อต้านโทษประหารชีวิต มีเพียง ๒ ประเทศสมาชิกอาเซียน ได้แก่ ฟิลิปปินส์ และ กัมพูชาที่ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตไปแล้ว โดยส่วนหนึ่งเกิดจากแรงกดดันขององค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนซึ่งอยู่ในรูปแบบของรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนประจำปี การประชุมระหว่างประเทศ รวมถึงการลงนามในมติต่าง ๆ ขององค์กรสหประชาชาติ แต่ประเด็นเรื่องการยกเลิกโทษประหารชีวิตยังเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันอยู่มากในสังคมไทยและประเทศไทยยังคงใช้โทษประหารชีวิตอยู่ในปัจจุบัน
 
 
 

ปัจจุบันมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงฟิลิปปินส์เป็นอย่างมากเพราะจะเป็นประเทศแรกในภาคีที่นำโทษประหารชีวิตกลับมาใช้ ทั้งนี้ หน่วยงานความร่วมมือด้านนโยบายยาเสพติดระหว่างประเทศ (IDPC) ได้ร้องขอให้สมาชิกสภานิติบัญญัติของฟิลิปปินส์รับรองว่าโทษของคดียาเสพติดจะได้สัดส่วนกับความผิดที่ได้กระทำลงในคดียาเสพติด[๘] ในประเทศที่อนุญาตให้มีโทษประหารชีวิต กฎหมายสิทธิมนุษยชนจำกัดโทษประหารชีวิตไว้ให้ใช้กับอาชญากรรมที่ร้ายแรงที่สุดเท่านั้น ซึ่งโดยทั่วไปคืออาชญากรรมที่มีผลกระทบต่อชีวิตหรือร่างกายอย่างร้ายแรง ในรายงานของสำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ[๙]เดือนมีนาคม ปี พ.ศ. ๒๕๕๓ ได้ร้องขอให้ประเทศสมาชิกยกเลิกโทษประหารชีวิตและหยุดการใช้โทษประหารชีวิตกับความผิดที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ในขณะเดียวกันก็ได้ร้องขอให้ประเทศต่าง ๆ ทบทวนมาตรการปราบปรามยาเสพติดและอาชญากรรมภายใต้กรอบสิทธิมนุษยชน

ในรายงานประจำปีของคณะกรรมการควบคุมสารเสพติดนานาชาติ พ.ศ. ๒๕๕๗[๑๐] [๑๑] ในรายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนองค์การสหประชาชาติ และในรายงานของผู้ตรวจการพิเศษในการติดตามการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม[๑๒]ได้มีข้อสรุปว่า การกระทำผิดในคดียาเสพติดไม่เข้าข่ายว่าเป็นอาชญากรรมที่ร้ายแรง ต่อมาเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๕๘ คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติยืนยันว่า[๑๓] “บุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ามีความผิดในคดีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ไม่ควรต้องโทษประหารชีวิต”

นอกจากที่กล่าวข้างต้นแล้วยังมีหลักฐานอื่นแสดงให้เห็นว่าการนำโทษประหารชีวิตมาใช้เพื่อลดอัตราการเกิดอาชญากรรมนั้นเป็นความเข้าใจที่ผิด ล่าสุดเมื่อวันที่ ๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ ผู้ช่วยเลขาธิการสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชน นาย Ivan Simonovic กล่าวว่า[๑๔] “ไม่มีหลักฐานใดยืนยันว่าโทษประหารชีวิตช่วยลดอาชญากรรมลงได้” และได้มีงานวิจัยของมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ดสรุปว่า[๑๕] “โทษประหารชีวิตไม่ทำให้การฆาตกรรมลดลง แม้ว่าโทษและการบังคับใช้จะร้ายแรงกว่าโทษจำคุกตลอดชีวิต"

รองผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียขององค์กรสิทธิมนุษยชน Human Rights Watch นาย Phelim Kine กล่าวว่า[๑๖] “รัฐบาลประเทศฟิลิปปินส์ควรจะยอมรับว่าโทษประหารชีวิตนั้นป่าเถื่อนและปฏิเสธทุกการเคลื่อนไหวที่จะนำบทลงโทษดังกล่าวมาใช้” “ทั่วโลกได้รู้ถึงความล้มเหลวของการลดปัญหาอาชญากรรมโดยใช้โทษประหารชีวิตแล้ว ดังนั้นรัฐบาลจึงไม่ควรจะใช้โทษดังกล่าว” “การนำโทษประหารชีวิตมาใช้ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหายาเสพติดอย่างที่สภานิติบัญญัติได้กล่าวไว้” นาย Kine ได้กล่าวต่อว่า “มาตรการดังกล่าวจะเป็นเพียงการเพิ่มอัตราการเสียชีวิตที่น่าสะพรึงกลัวซึ่งนายโรดริโก ดูเตอร์เตได้ลงโทษคนฟิลิปปินส์ไปแล้วในสงครามกวาดล้างยาเสพติด ตั้งแต่ที่เขาได้รับตำแหน่งเมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙”

แม้ว่าในกรณีละเมิดพันธกรณีระหว่างประเทศภายใต้สนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนประเทศภาคีของสนธิสัญญาที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนจะไม่สามารถถูกถอดถอนได้ รวมทั้งไม่มีบทลงโทษที่ชัดเจนนอกเสียจากมาตรการทางด้านเศรษฐกิจและทางการเมืองก็ตาม แต่ผู้เขียนเห็นว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของฟิลิปปินส์ควรจะปฏิเสธร่างกฎหมายที่จะนำโทษประหารชีวิตมาใช้ด้วยเหตุผล ๓ ประการ ได้แก่ ประการแรกโทษประหารชีวิตไม่สามารถลดปัญหาอาชญากรรมลงได้อย่างแท้จริงตามผลการวิจัยข้างต้น ทั้งยังเป็นการกระทำที่โหดร้ายรุนแรงที่เป็นการคร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์ได้ ประการที่สองการใช้โทษประหารชีวิตจะเป็นการละเมิดพันธกรณีระหว่างประเทศที่ฟิลิปปินส์เคยให้สัตยาบันไว้ และประการสุดท้าย หากฟิลิปปินส์กลับมาใช้โทษประหารชีวิตอีกครั้ง จะทำให้การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของฟิลิปปินส์มีพัฒนาการที่ถดถอยลงและล้าหลังกว่าประเทศอื่น  เนื่องจากฟิลิปปินส์เคยเป็นผู้นำภูมิภาคในการให้สัตยาบันสนธิสัญญาระหว่างประเทศต่าง ๆ และในการให้ความร่วมมือกับองค์การสหประชาชาติให้มีการยกเลิกโทษประหารชีวิตทั่วโลก

เขียนโดย นางสาวจันทพร ศรีโพน นักวิเคราะห์และจัดทำข้อมูลกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

ดาวน์โหลดบทความPDF
 

[๑] Human Rights Watch, "License to Kill Phillipine Police Killings in Duterte's War on Drugs," https://www.hrw.org/report/2017/03/01/license-kill/philippine-police-killings-dutertes-war-drugs, (March 1, 2017) (สืบค้นเมื่อวันที่ ๓  พฤษภาคม ๒๕๖๐)
[๒]AFP, “Philippines takes big step back towards death penalty,” http://m.news24.com/news24/World/News/philippines-takes-big-step-back-towards-death-penalty-20170302 (March  2, 2017) (สืบค้นเมื่อวันที่ ๓  พฤษภาคม ๒๕๖๐)
[๓] Asean Breaking News, "Philippines moves closer to bringing back death penalty," https://www.aseanbreakingnews.com/2017/03/philippines-moves-closer-to-bringing-back-death-penalty, (March 3, 2017) (สืบค้นเมื่อวันที่ ๓  พฤษภาคม ๒๕๖๐)
[๔] ALJAZEERA, "Rodrigo Duterte's death penalty campaign clears hurdle," http://www.aljazeera.com/news/2017/03/rodrigo-duterte-death-penalty-campaign-clears-hurdle-170302055029047.html (March 2, 2017) (สืบค้นเมื่อวันที่ ๓  พฤษภาคม ๒๕๖๐)
[๕] AFP, "Amnesty warns of crimes against humanity in Philippines," http://www.jamaicaobserver.com/news/Amnesty-warns-of-crimes-against-humanity-in-Philippines (January 31, 2017) (สืบค้นเมื่อวันที่ ๓  พฤษภาคม ๒๕๖๐)
[๖] South China Morning Post “UN warns Rodrigo Duterte will be held responsible for ‘illegal killings’ carried out during brutal anti-drug crackdown,” http://www.scmp.com/news/asia/southeast-asia/article/2005754/un-warns-rodrigo-duterte-will-be-held-responsible-illegal, (August 18, 2016) (สืบค้นเมื่อวันที่ ๓  พฤษภาคม ๒๕๖๐)
[๗] United Nations Human Rights Office of the High Commissioner, "Second Optional Protocol to the International Covenant on Civil and Political Rights, aiming at the abolition
of the death penalty," http://www.ohchr.org/EN/ProfessionalInterest/Pages/2ndOPCCPR.aspx, (December 15, 1989) (สืบค้นเมื่อวันที่ ๓  พฤษภาคม ๒๕๖๐)
[๘] AFP, "Philippines takes big step back towards death penalty," http://www.news24.com/World/News/philippines-takes-big-step-back-towards-death-penalty-20170302 (March 3, 2017) (สืบค้นเมื่อวันที่ ๓  พฤษภาคม ๒๕๖๐)
[๙] Commission on Crime Prevention and Criminal Justice, "   Drug control, crime prevention and criminal justice:  A Human Rights perspective," https://www.unodc.org/documents/commissions/CCPCJ/CCPCJ_Sessions/CCPCJ_19/E-CN15-2010-CRP1_E-CN7-2010-CRP6/E-CN15-2010-CRP1_E-CN7-2010-CRP6.pdf (March 3, 2010) (สืบค้นเมื่อวันที่ ๓  พฤษภาคม ๒๕๖๐)
[๑๐] The International Narcotics Control Board "Report 2014 ," https://www.incb.org/documents/Publications/AnnualReports/AR2014/English/AR_2014.pdf (March 3, 2015) (สืบค้นเมื่อวันที่ ๓  พฤษภาคม ๒๕๖๐)
[๑๑]  คณะกรรมการซึ่งทำหน้าที่ในการสอดส่องดูแลให้ปฏิบัติตามสนธิสัญญาว่าด้วยยาเสพติดขององค์การสหประชาชาติ และส่งเสริมให้นานาประเทศยกเลิกโทษประหารชีวิตในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด
[๑๒] Human Rights Watch"Philippines: Don’t Reinstate Death Penalty," https://www.hrw.org/news/2016/12/03/philippines-dont-reinstate-death-penalty (December 3, 2016) (สืบค้นเมื่อวันที่ ๓  พฤษภาคม ๒๕๖๐)
[๑๓] the United Nations High Commissioner for Human Rights "Study on the impact of the world drug problem on the enjoyment of human rights,"  http://www.ohchr.org/EN/HRBodies/HRC/RegularSessions/Session30/Documents/A_HRC_30_65_E.docx(4 September, 2015) (สืบค้นเมื่อวันที่ ๓  พฤษภาคม ๒๕๖๐)
[๑๔] UN News Centre "‘No evidence death penalty deters any crime,’ senior UN official tells Rights Council," http://www.un.org/apps/news/story.asp?NewsID=50238#.VQW_9tJ4r-s," (March 4, 2015) (สืบค้นเมื่อวันที่ ๓  พฤษภาคม ๒๕๖๐)
[๑๕] R. Hood and C. Hoyle, The Death Penalty: A Worldwide Perspective, Oxford, OUP, 4th edition 2008
[๑๖] Human Rights Watch "Phelim Kine Deputy Director, Asia Division," http://hrw.pr-optout.com/Tracking.aspx?Data=HHL%3d8%2c37%3d1-%3eLCE593719%26SDG%3c90%3a.&RE=MC&RI=3869583&Preview=False&DistributionActionID=68781&Action=Follow+Link (สืบค้นเมื่อวันที่ ๓  พฤษภาคม ๒๕๖๐)

© 2017 Office of the Council of State.