BANNER

การสาธารณสุขของประเทศสมาชิกอาเซียน: ประเทศสิงคโปร์


 ประชาคมสังคมและวัฒนธรรรมอาเซียน      28 Feb 2017

  


บทนำ
          ประเทศสิงคโปร์เป็นประเทศที่ได้รับการยกย่องในด้านการสาธารณสุขเนื่องจากมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบประกันสุขภาพต่าง ๆ ที่ WHO ยกย่องให้เป็นประเทศที่มีการสาธารณสุขเป็นอันดับ ๖ และ Bloomberg จัดอันดับให้ประเทศสิงคโปร์มีระบบประกันสุขภาพเป็นอันดับ ๑[๑] ของโลกในด้านความมีประสิทธิภาพในการดำเนินงานด้านระบบประกันสุขภาพ ระบบประกันสุขภาพของสิงคโปร์เป็นระบบการตั้งกองทุนออมที่ผู้เข้าร่วมต้องจ่ายเงินออมเข้ากองทุนโดยหักเงินค่าจ้างเข้ากองทุนที่มีหลายกองทุนเป็นหลัก ซึ่งวิธีดังกล่าวทำให้ค่ารักษาพยาบาลไม่สูงมากนัก บทความนี้จะกล่าวถึงระบบประกันสุขภาพของสิงคโปร์โดยมีรายละเอียดดังนี้

ระบบประกันสุขภาพในยุคเริ่มต้น[๒]
          ในปี พ.ศ. ๒๕๒๖ รัฐบาลสิงคโปร์วางแผนการพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศด้วยการประกาศแผนบริหารประเทศ ๒๐ ปี เป้าหมายของแผนคือการรักษามาตรฐานระบบสาธารณสุขสิงคโปร์ให้อยู่ในระดับสูงเพื่อเตรียมพร้อมนองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุการดำเนินงานจะใช้รูปแบบการร่วมมือกันระหว่างรัฐกับเอกชนโดยรัฐบาลจะมีบทบาทนำในการประสานงานเพื่อให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ
          เริ่มแรกรัฐบาลสิงคโปร์ได้จัดสร้างโรงพยาบาลชุมชนขึ้นในโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ของรัฐบาลสิงคโปร์โดยโรงพยาบาลที่สร้างขึ้นจะเน้นให้ความสำคัญกับการรักษาอาการทั่วไปไม่ใช่เฉพาะด้านจึงได้สร้างโรงพยาบาลสำหรับการรักษาโรคเฉพาะด้านไว้ต่างหาก นอกจากนี้ได้รัฐบาลสิงคโปร์ได้สร้างคลินิกขึ้นในโครงการที่อยู่อาศัยใหม่เพื่อรักษาโรคทั่วไปแบ่งเบาภาระจากโรงพยาบาล และได้เพิ่มเวลาทำงานช่วงเย็นเพื่อรักษาผู้ป่วยนอก และสุดท้ายสร้างมาตรฐานกลางในกรณีที่ให้ผู้ป่วยต้องรักษาที่โรงพยาบาล

การดำเนินโครงการประกันสุขภาพ
          โครงการ Medisave
          เริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๗ โครงการดังกล่าวใช้วิธีการบริหารงบประมาณโครงการประกันสุขภาพโดยการให้ลูกจ้างเป็นผู้ร่วมจ่ายเงินโดยผ่านกองทุนที่รัฐบาลสิงคโปร์ได้ตั้งขึ้น ต่างจากระบบประกันสุขภาพของประเทศไทยที่ใช้ระบบการตั้งงบประมาณจากภาษีที่เก็บได้ต่อปี ทั้งนี้ การใช้วิธีร่วมจ่ายเงินมีขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล การดำเนินงาน Medisave ใช้วิธีแบ่งเงินจาก Central Provident Fund (CPF) ซึ่งเป็นกองทุนที่ลูกจ้างทุกคนในสิงคโปร์ต้องจ่ายเงินเข้าทุกเดือน เพื่อใช้เป็นค่ารักษาพยาบาลกฎหมายสำคัญคือ CENTRAL PROVIDENT FUND ACT: CENTRAL PROVIDENT FUND (MEDISAVE ACCOUNT WITHDRAWALS) REGULATIONS[๓]
          โครงการฯ จะครอบคลุมค่าใช้จ่ายในกรณีที่เป็นผู้ป่วยในและต้องนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลรวมถึงต้องผ่าตัดและในกรณีผู้ป่วยนอกจะครอบคลุมในบางกรณี การครอบคลุมรวมถึงสมาชิกในครอบครัวด้วย และเงินในส่วนของ Medisave สามารถใช้เพื่อเพิ่มความคุ้มครองในโครงการอื่นอีก เช่น Medishield และ ประสุขภาพของบริษัทเอกชน
          โครงการ MediShield
          เป็นโครงการเสริมในระบบประกันสุขภาพโดยผู้ที่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ คือ ประชาชนสิงคโปร์ และผู้มีถิ่นที่อยู่ถาวรในสิงคโปร์ กฎหมายสำคัญคือ MediShield Life Scheme Act[๔] โครงการจะคุ้มครองในกรณีเจ็บป่วยโรคร้ายแรงโครงการฯ จะให้สิทธิผู้ป่วยด้วยโรคร้ายแรงจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้น เช่น  
ค่านอนพักรักษาที่โรงพยาบาล ในกรณีของผู้ป่วยนอกได้รับสิทธิในค่ารักษาพยาบาลการเจ็บป่วยที่ร้ายแรงได้ การคำนวณเงินที่จะต้องจ่ายเข้าโครงการจะขึ้นอยู่กับอายุของผู้เข้าร่วม หากเข้าร่วมตั้งแต่อายุยังน้อยก็จะจ่ายเงินเข้าในจำนวนน้อยกว่า ทั้งนี้ โครงการจะคุ้มครองถึงแค่อายุ ๘๕ ปี
          โครงการ ElderShield [๕]
          คือโครงการที่จัดทำขึ้นเฉพาะประชาชนในกลุ่มผู้สูงอายุและผู้พิการ โดยโครงการจะต่อยอดจากโครงการ Medisave โดยผู้ที่เข้าร่วม Medisave เมื่ออายุ ๔๐ ปี จะเข้าร่วมโครงการ ElderShield โดยอัตโนมัติ ทั้งนี้  การที่จะได้เบี้ยยังชีพได้ต้องมีการประเมินว่าผู้นั้นไม่สามารถที่จะดำเนินชีวิตประจำวันได้ด้วยตัวเดียวเช่น ไม่สามารถทานอาหาร อาบน้ำ แต่งตัว เปลี่ยนอิริยาบถ เข้าห้องน้ำ เดินหรือเคลื่อนที่ได้ เมื่อมีอาการดังกล่าวครบ ๓ อาการ ผู้เข้าร่วมจะได้รับเบี้ยยังชีพเป็นจำนวนเงิน ๔๐๐ ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อเดือนเป็นเวลา ๖ ปี
          โครงการ Medifund
          คือโครงการที่จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประชาชนหรือผู้มีถิ่นที่อยู่ถาวร กฎหมายที่ให้อำนาจคือ MEDICAL AND ELDERLY CARE ENDOWMENT SCHEMES ACT[๖] ผู้มีสิทธิตามโครงการได้คือประชาชนที่เงินในโครงการ Medisave และ Medishield มีไม่เพียงพอที่จะจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้ โดยการดำเนินงานจะใช้วิธีการจัดตั้งเป็นกองทุนโดยที่รัฐบาลสิงคโปร์จะเป็นผู้ดูแลและจ่ายเงินเข้ากองทุนเมื่อรัฐบาลจัดทำงบประมาณแบบเกินดุล การพิจารณาผู้ที่จะได้รับสิทธิจะเป็นการพิจารณารายกรณีโดย MediFund-approved Institutions (MFI)
          สรุป
          ประเทศสิงคโปร์ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีระบบประกันสุขภาพประสบความสำเร็จมากที่สุดการใช้ระบบให้ประชาชนจ่ายเงินเข้ากองทุนฯ ทุกเดือนและมีการวางแผนอย่างเป็นระบบ มีการวางแผนโครงการที่อยู่อาศัยพร้อมกับโรงพยาบาลทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางไกลและมีการสร้างคลินิกเพื่อแบ่งเบาภาระของโรงพยาบาล อีกทั้ง  ระบบสิงค์โปร์ได้แบ่งการคุ้มครองเป็นหลายระดับทำให้สามารถบริหารเงินได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นและที่สำคัญรัฐบาลได้ส่งเสริมให้ประชาชนใช้ชีวิตประจำวันโดยคำนึงถึงสุขภาพในอนาคต

 


[๑] https://www.bloomberg.com/graphics/infographics/most-efficient-health-care-around-the-world.html เข้าถึงเมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐

[๒] http://eresources.nlb.gov.sg/history/events/f1d05600-4263-4981-a0bc-be780f772dd1 เข้าถึงเมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐

[๓] http://statutes.agc.gov.sg/aol/download/0/0/pdf/binaryFile/pdfFile.pdf?CompId:3b8ac986-b80b-459f-8962-bb4a4191ae74 เข้าถึงเมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐

[๔] http://statutes.agc.gov.sg/aol/download/0/0/pdf/binaryFile/pdfFile.pdf?CompId:0dfccf07-1fb2-4a56-b1f3-6efc5c8f47fb เข้าถึงเมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐

[๕]https://www.moh.gov.sg/content/dam/moh_web/Publications/Educational%20Resources/2016/ElderShield%20Fast%20Facts%20Brochure.pdf เข้าถึงเมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐

[๖] http://statutes.agc.gov.sg/aol/download/0/0/pdf/binaryFile/pdfFile.pdf?CompId:adb0276d-f784-465d-827a-0fb543601fb9 เข้าถึงเมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐

© 2017 Office of the Council of State.