BANNER

การสาธารณสุขของประเทศสมาชิกอาเซียน : เมียนมา


 ประชาคมสังคมและวัฒนธรรรมอาเซียน      28 Feb 2017

  


บทนำ
          ระบบประกันสุขภาพถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งสำหรับรัฐที่จะดูแลประชาชนในประเทศ การหาเสียงเลือกตั้งแต่ละครั้ง ผู้สมัครต่างให้ความสำคัญกับนโยบายด้านสุขภาพ เนื่องด้วยปัญหาสุขภาพเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวประชาชนและค่าบริการรักษาโรคบางชนิดค่อนข้างสูง การเมืองของประเทศสมาชิกอาเซียนมีลักษณะคล้ายกับทั่วโลกเช่นกัน คือ พรรคการเมืองต่างหาเสียงด้านนโยบายประกันสุขภาพประชาชน เมียนมาเป็นหนึ่งในประเทศที่ให้ความสำคัญกับการสาธารณสุขถึงแม้ว่ารายได้ประเทศในปัจจุบันจะไม่มากก็ตามแต่ได้กำหนดสิทธิประโยชน์ที่มีความก้าวหน้าและมีการพัฒนาแผนงานที่น่าสนใจ

นโยบายและกฎหมายด้านสาธารณสุข

          หน่วยงานกำกับดูแลสาธารณสุข
                     สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาได้กำหนดให้กระทรวงสาธารณสุขและกีฬาเมียนมาเป็นหน่วยงานที่ดูแลด้านสุขภาพของประชาชน ในกระทรวงสาธารณสุขและกีฬาเมียนมามีกรมต่าง ๆ แบ่งออกเป็น ๖ กรม ประกอบด้วย กรมพัฒนาและจัดการวิชาชีพสาธารณสุข (Department of health professional Resource development and management) กรมการแพทย์ (Department of Medical Care) กรมการสาธารณสุขสาธารณะ (Department of public Health) กรมวิจัยทางการแพทย์ (Department of Medical Research) กรมการอาหารและยา (Department of FDA) กรมการแพทย์แผนโบราณ (Department of Traditional Medicine) [1]
                     การดำเนินงานด้านสาธารณสุขเมียนมาได้ประกาศวิสัยทัศน์การสาธารณสุขเมียนมาในปี พ.ศ. ๒๕๔๓ มีชื่อว่า วิสัยทัศน์การสาธารณสุขเมียนมา พ.ศ. ๒๕๗๓ (Myanmar Health Vision 2030)วิสัยทัศน์กล่าวถึงการพัฒนาระบบสาธารณสุขเมียนมา ๙ ด้านประกอบด้วย นโยบายและกฎหมาย,
การส่งเสริมการสาธารณสุข, ข้อบังคับเกี่ยวกับการให้บริการสาธารณสุข, การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อการสาธารณสุข, การให้การสนับสนุนการแพทย์แผนโบราณ, การพัฒนางานวิจัยสาธารณสุข, การพัฒนาความร่วมมือกับภาคเอกชนและองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร, การเป็นหุ้นส่วนในการพัฒนาระบบสาธารณสุข, ความร่วมมือระหว่างประเทศ
                     นอกจากนี้ได้มีการจัดทำแผนพัฒนาการสาธารณสุขระดับชาติ (National Comprehensive Development Plan 2010 – 2030) โดยมีมาตรการสำคัญ เช่น โครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้า โครงการควบคุมโรคมาลาเรีย โครงการพัฒนาการแพทย์แผนโบราณของเมียนมา และการพัฒนาหลักสูตรบุคลากรด้านการสาธารณสุขเพื่อรองรับความต้องการของประเทศ
 
          ระบบประกันสุขภาพ
                     ปัจจุบันระบบประกันสุขภาพเมียนมายังอยู่ในช่วงเริ่มต้นและขาดการรวมศูนย์ หน่วยงานราชการเมียนมาต่างจัดระบบประกันสุขภาพให้กับพนักงานหน่วยงานตน เช่น กระทรวงกลาโหม, กระทรวงรถไฟ, กระทรวงเหมือง, กระทรวงอุตสาหกรรม, กระทรวงพลังงาน และกระทรวงเคหะและคมนาคม ในส่วนของภาคเอกชนเมียนมาได้ตรากฎหมาย รัฐบัญญัติว่าด้วยระบบประกันสังคมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๔๙๙ มีความน่าสนใจโดยเป็นรักษานั้นไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ร่วมถึงในระหว่างการรักษาหากเป็นกรณีรักษาอาการร้ายแรงสามารถได้รับค่าจ้างในระยะเวลา ๑ ปีที่บาดเจ็บ หากลูกจ้างต้องลาเนื่องจากตั้งครรภ์จะได้รับค่าจ้างร้อยละ ๗๕ ของระยะเวลาที่ลา ทั้งนี้  ระบบประกันสุขภาพดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จมากนักเนื่องจากเศรษฐกิจของเมียนมาไม่มีการลงทุนจากต่างประเทศจึงทำให้มีประชาชนไม่ถึงร้อยละ ๑ ที่ได้รับสิทธิดังกล่าว [2]

          ระบบประกันสังคมของประเทศเมียนมา
                     ดังนั้นในปี พ.ศ. ๒๕๕๕ เมียนมาจึงได้ตรากฎหมายประกันสังคมใหม่[3] ขึ้นเพื่อรองรับการเปิดประเทศโดยกฎหมายใหม่มอบอำนาจให้กับกระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับคณะกรรมการประกันสังคมกำกับดูแลระบบประกันสังคมกฎหมายได้กำหนดให้ธุรกิจที่แสวงหาผลกำไรต้องเข้าร่วมกับระบบประกันสังคมโดยนายจ้างต้องลงทะเบียนให้กับลูกจ้าง หากเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรหรือลูกจ้างรายวัน เช่น หน่วยงานราชการ ธุรกิจที่ตั้งขึ้นไม่เกิน ๓ เดือน ร้านอาหารข้างทาง หรือ ลูกจ้างที่เป็นการจ้างรายวันกฎหมายไม่บังคับให้เข้าร่วมแต่ประชาชนที่สนใจสามารถเข้าร่วมได้ ระบบการจ่ายเงินเข้ากองทุนจะใช้ระบบการจ่ายเงินเข้ากองทุนโดยหักจากรายได้ของลูกจ้างกฎหมายให้นายจ้างเป็นผู้ส่งเงินเข้ากองทุนหากเป็นบุคคลภายนอกที่สนใจสามารถจ่ายเงินเข้าร่วมกองทุนได้ตามจำนวนที่คณะกรรมการกำหนด
          กฎหมายระบบประกันสุขภาพใหม่ได้บัญญัติการคุ้มครองต่าง ๆ ดังนี้
๑)    ระบบระกันสุขภาพและสังคม
       (๑)   ประกันการรักษาพยาบาลและเงินคุ้มครองระหว่างป่วย
       (๒)  ประกันการรักษาพยาบาลและเงินคุ้มครองระหว่างลาคลอดและระหว่างการพักฟื้น
       (๓)  ประกันการรักษาพยาบาลสำหรับผู้อยู่ในโครงการหลังจากที่เกษียณจากงานแล้ว
       (๔)   สวัสดิการพิธีศพไม่ว่าจะเสียชีวิตด้วยวิธีใดก็ตาม
๒)    ระบบประกันสำหรับสมาชิกในครอบครัว
       (๑)  สวัสดิการการศึกษาสำหรับบุตรของผู้เป็นสมาชิกที่มีรายได้ต่ำกว่าที่กำหนด
       (๒)   ประกันการรักษาและช่วยเหลือเมื่อประสบภัยพิบัติ
       (๓)   สวัสดิการเพิ่มเติมอื่น ๆ สำหรับสมาชิกที่เป็นผู้หารายได้หลักของครอบครัว
๓)    สวัสดิการเมื่อทุพลภาพ กองทุนบำนาญ และ ประกันสำหรับผู้รอดชีวิตในการทำงาน
       (๑)   สวัสดิการเมื่อทุพลภาพ
       (๒)   กองทุนบำนาญ
       (๓)  ผลประโยชน์สำหรับทายาทหรือผู้มีชื่อเป็นผู้ได้รับประโยชน์ซึ่งผู้เข้าร่วมโครงการระบุ
๔)    สวัสดิการเมื่อว่างงาน
       (๑)   ประกันสุขภาพสำหรับบุคคลที่ว่างงาน
       (๒)   เงินยังชีพสำหรับช่วงว่างงาน
                     การเข้าร่วมเป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคมเมียนมาจะใช้วิธีบังคับให้นายจ้างจดทะเบียนให้กับลูกจ้างโดยนายจ้างที่เข้าเกณฑ์เช่นเป็นนิติบุคคลซึ่งตั้งขึ้นมาเพื่อหากำไรและมีลูกจ้างตามจำนวนที่กฎหมายกำหนดนายจ้างต้องไปลงทะเบียนลูกจ้างกับเจ้าพนักงานประกันสังคมตามศูนย์กลางเมืองต่าง ๆ (Township) ทั้งนี้หากประชาชนผู้ใดสนใจเข้าร่วมโครงการสามารถเข้าร่วมได้โดยการจ่ายเงินเข้าโครงการตามที่คณะกรรมการประกันสังคมกำหนดเข่นเดียวกับลูกจ้าง
                     ในการดำเนินการเกี่ยวกับสาธารณสุข กฎหมายให้อำนาจคณะกรรมการประกันสังคมสามารถที่จะตั้งโรงพยาบาลหรือคลินิกขี้นได้เมื่อเห็นสมควรและสุดท้ายกฎหมายได้กำหนดบทลงโทษในกรณีที่นายจ้างจงใจไม่เข้าร่วมโครงการประกันสังคม หรือเข้าร่วมแต่ไม่จ่ายเงินเข้าโครงการโดยมีโทษปรับและจำคุก

กฎหมายสำคัญด้านการสาธารณสุขเมียนมา[4]
          กฎหมายว่าด้วยเวชภัณฑ์แผนโบราณ ปี พ.ศ. ๒๕๓๙ (Traditional Drug Law) ได้กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจจำหน่ายยาแผนโบราณต้องติดฉลาก ขอใบอนุญาต และข้อจำกัดด้านโฆษณา

          กฎหมายว่าด้วยการบริจาคตาและอวัยวะ (Eye Donation Law and Body Organ Donation Law)
 ได้ตราขึ้นเพื่อให้โอกาสกับผู้ป่วยที่ต้องศูนย์เสียดวงตา กฎหมายการบริจาคตาได้จัดตั้งธนาคารตาขึ้นเพื่อจัดการเกี่ยวกับขั้นตอนการบริจาคและการปลูกถ่าย กฎหมายเกี่ยวกับการบริจาคอวัยวะมีขึ้นเพื่อป้องกันการขาดแคลนอวัยวะรวมถึงการบริจาคอวัยวะเพื่อการทดลองทางการแพทย์

          กฎหมายว่าด้วยการให้บริการทางการแพทย์โดยเอกชน (The Law Relation Private Health Care Services) ได้กำหนดเกี่ยวกับการบริการการแพทย์เอกชนให้เป็นไปตามแผนการสาธารณสุขระดับชาติเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการสาธารณสุขในราคาที่เป็นธรรม

ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า[5]
          ประเทศเมียนมาได้วางแผนตามวิสัยทัศน์การสาธารณสุขเมียนมา พ.ศ. ๒๕๗๓ ซึ่งจะมีโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้าในอนาคต ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการเตรียมการโดยมีรัฐบาลเมียนมาได้จัดทำความร่วมมือกับ World Health Organization เพื่อศึกษาความเป็นไปได้โดยข้อเสนอแนะของ WTO กล่าวว่าเมียนมาได้ดำเนินมาตรการเบื้องต้นแล้ว เช่น การให้ความสำคัญกับการสาธารณสุขตามท้องถิ่นต่าง ๆ เมียนมามีโรงงานผลิตเวชภัณฑ์และมีการพัฒนาเวชภัณฑ์เบื้องต้นแล้ว ทั้งนี้ เมียนมามีจุดอ่อนสำคัญ เช่น  เศรษฐกิจของเมียนมายังอยู่ในช่วงเริ่มต้นหากเมียนมาเริ่มระบบประกันสุขภาพในช่วงนี้จะทำให้ประเทศต้องแบ่งงบประมาณด้านสาธารณสุขเป็นจำนวนมาก

สรุป
          การสาธารณสุขเมียนมาอยู่ในช่วงเริ่มต้นโดยเมียนมาได้กำหนดวิสัยทัศน์และแผนระดับชาติเอาไว้แล้วซึ่งเน้นการพัฒนาด้านบุคลากรและการแพทย์แผนโบราณของเมียนมา นอกจากนี้  เมียนมาได้จัดให้มีโครงการประกันสังคมซึ่งเป็นโครงการสำคัญสำหรับประเทศที่กำลังเติบโตทางธุรกิจ โครงการดังกล่าวมีขึ้นเพื่อคุ้มครองแรงงานเพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ โดยสิทธิประโยชน์ของผู้เข้าร่วมโครงการมีความก้าวหน้าหากลูกจ้างมีบุตรก็สามารถลาได้ทั้งชายและหญิง นอกจากนี้  สิทธิมีความครอบคลุมในเหตุต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในการทำงาน ในอนาคตเมียนมาวางแผนที่จะเริ่มโครงการประสุขภาพถ้วนหน้าให้กับประชาชนทุกคนโดยปัจจุบันยังอยู่ในระยะเวลาเตรียมความพร้อม

 


[1] http://www.moh.gov.mm/file/MYANMAR%20HEALTH%20CARE%20SYSTEM.pdf เข้าถึงเมื่อัวนที่ ๒๕ กุมพาพันธ์ ๒๕๖๐

[2] http://fsi.stanford.edu/sites/default/files/hst_pptz_final2752015.pdf เข้าถึงเมื่อัวนที่ ๒๕ กุมพาพันธ์ ๒๕๖๐

[3] http://www.icnl.org/research/library/files/Myanmar/socsec.pdf เข้าถึงเมื่อัวนที่ ๒๕ กุมพาพันธ์ ๒๕๖๐

[4] http://www.moh.gov.mm/file/HEALTH%20POLICY,%20LEGISLATION%20AND%20PLANS.pdf เข้าถึงเมื่อัวนที่ ๒๕ กุมพาพันธ์ ๒๕๖๐

[5]http://www.moh.gov.mm/file/World%20Bank/Technical%20Consultation%20Meeting%20on%20UHC%20in%20Myanmar.pdf เข้าถึงเมื่อัวนที่ ๒๕ กุมพาพันธ์ ๒๕๖๐

© 2017 Office of the Council of State.