BANNER

โครงการ eWTP ความพยายามของ Alibaba ในการสนับสนุนการค้าเสรี


 ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน      30 Mar 2017

  


บทนำ
          การค้าเสรีเป็นวาระสำคัญของโลกมาตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ ๒ เช่น ความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า หรือ GATT ซึ่งลงนามในปี พ.ศ. ๒๕๙๐ จนถึงการก่อตั้งองค์การการค้าโลก หรือ WTO ในปี พ.ศ. ๒๕๓๘ ซึ่งความพยายามที่กล่าวมานั้นเป็นความพยายามของรัฐที่ต้องการให้เอกชนในประเทศตนเองได้ขายสินค้าได้ทั่วโลกโดยไม่ต้องมีภาระทางภาษีที่ทำให้เสียเปรียบเอกชนภายในประเทศคู่ค้า ปัจจุบันสถานการณ์ความพยายามของรัฐในการส่งเสริมการค้าเสรีเริ่มอ่อนลงดังจะเห็นได้จากประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศที่สนับสนุนการค้าเสรีมีท่าทีต่อต้านการค้าเสรีมากขึ้น ในทางกลับกัน  ประเทศจีนซึ่งแต่เดิมไม่ได้เป็นประเทศหลักในการสนับสนุนการค้าเสรีเริ่มที่จะมีบทบาทมากขึ้น[1] รวมทั้งเอกชนในประเทศจีนอย่างกลุ่ม Alibaba นำโดย Jack Ma  เสนอโครงการ Electronic World Trade Platform บทความนี้จะกล่าวรูปแบบของโครงการและความคืบหน้าสำคัญของโครงการ eWTP

กลุ่ม Alibaba
          กลุ่ม Alibaba คือผู้ประกอบธุรกิจ E-Commerce รายใหญ่ที่สุดของประเทศจีน ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๔๒ เริ่มแรกบริษัทมีรูปแบบการค้าเป็นธุรกิจในลักษณะ Business to Business เพราะในเวลานั้นนโยบายของประเทศจีนคือส่งเสริมให้กลุ่มทุนจากต่างชาติเข้ามาลงทุนผลิตสินค้าในประเทศจีน ทำให้มีผู้ประกอบการรายย่อย (SME) เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากเพื่อรับผลิตสินค้าป้อนให้กับบริษัทใหญ่ โดยมีเว็บไซต์ Alibaba.com เป็นเว็บไซต์ในการซื้อขายซึ่งผู้ผลิตรายย่อยสามารถลงขายสินค้าของตนบนเว็บไซต์และ Alibaba จะเป็นตัวกลางในการจัดการต่าง ๆ โดยคิดค่าดำเนินการ หลังจากนั้น กลุ่ม Alibaba ได้ขยายธุรกิจไปสู่ในรู้แบบของ Consumer to Consumer ในชื่อเว็บไซต์ Taobao.com รวมถึงทำระบบ E-Payment (การให้บริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์) เพื่อส่งเสริมธุรกิจ E-Commerce อีกด้วย กลุ่ม Alibaba ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในประเทศจีนและเริ่มขยายบริการและสินค้าไปสู่ต่างประเทศโดยมีกลุ่ม Alibaba เป็นผู้นำหลักเพื่อให้ SME ในประเทศจีนและทั่วโลกสามารถเข้าถึงกันได้

Electronic World Trade Platform (eWTP)
          eWTP เริ่มอยู่ในความสนใจครั้งแรกหลังจากการประชุมกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่
จี 20 ซึ่งในแถลงการณ์ผู้นำหลังจากการประชุมปรากฏข้อเสนอของ Jack Ma ซึ่งผู้นำในกลุ่มประเทศ จี 20 ได้กล่าวสนับสนุนโครงการ eWTP และยินดีที่จะร่วมมือให้เกิดขึ้นการค้าเสรีในอินเตอร์เน็ต[2][3]
 
          จุดประสงค์ของ eWTP คือ
(๑)  ส่งเสริมให้เกิดความการพัฒนากฎระเบียบของการค้าระหว่างประเทศโดยการหารือกันระหว่างรัฐและเอกชน
(๒)   พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับ E-Commence เช่น การขนส่งในประเทศและระหว่างประเทศ ระเบียบทางศุลกากร การจัดเก็บสินค้า การจ่ายเงิน และการประกันสินค้า
(๓)   ช่วยให้ธุรกิจขนาดย่อม (SME) ประกอบกิจการง่ายขึ้นโดนการพัฒนา ระบบการจ่ายเงิน พิธีการทางศุลกากร การขนส่ง และการระดมทุน
(๔)  พัฒนาให้พิธีการทางศุลกากรเป็นไปอย่างง่ายขึ้นโดยการรวมศูนย์การติดต่อต่าง ๆ กับหน่วยงานรัฐ ซึ่ง Alibaba ตั้งเป้าว่าพิธีการทางศุลกากรไม่ควรใช้เวลาเกิน ๒๔ ชั่วโมง

          ความคืบหน้าของโครงการ eWTP[4]
          ในเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ กลุ่ม Alibaba ได้ประกาศพันธมิตรประเทศแรกในการส่งเสริม eWTP คือประเทศมาเลเซีย และได้มีการจัดและได้มีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจหว่างกันในวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๖๐ ความร่วมมือกันดังกล่าวก็เนื่องมาจากประเทศมาเลเซียมีนโยบายที่จะส่งเสริม E-Commence โดยการทำให้ประเทศเป็นศูนย์กลางกระจายสินค้าเนื่องจากประเทศมาเลเซียได้เปรียบในทางที่ตั้งที่อยู่ใกล้ช่องแคบมะละกา รวมถึงอยู่ระหว่างประเทศอาเซียนภาคพื้นทวีปและประเทศอาเซียนหมู่เกาะ การเป็นพันธมิตรกลุ่ม Alibaba ซึ่งเป็นผู้ให้บริการ E-Commence รายใหญ่ของโลกจะช่วยส่งเสริมให้นโยบายดังกล่าวสำเร็จ โดยความร่วมมือระหว่างกันประกอบด้วย[5]
(๑)   E-fulfilment hub (ศูนย์กลางการกระจายสินค้า) กลุ่ม Alibaba จะร่วมมือกับรัฐบาลมาเลเซียในการสร้างศูนย์กระจายสินค้าบริเวณใกล้เคียงกับสนามบินกัวลาลัมเปอร์ ในศูนย์กระจายสินค้าจะประกอบด้วย การดำเนินกระบวนการทางศุลกากร สถานที่เก็บสินค้า ซึ่งสินค้าที่ส่งเข้ามาจะกระจายต่อไปยังประเทศมาเลเซียและภูมิภาคอื่น ๆ ใกล้เคียง
(๒)   E-service platform (การให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อขายสินค้า) กลุ่ม Alibaba และประเทศมาเลเซียจะร่วมจัดตั้ง OneTouch Platform ซึ่งจะเชื่อมต่อกับศูนย์ที่เมืองหางโจว ประเทศจีน เพื่อที่จะทำให้ SME ของทั้งสองประเทศซื้อขายสินค้าระหว่างกันได้อย่างง่ายขึ้น
(๓)   E-payment and financing (การให้บริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์และการจัดหาเงินทุน) กลุ่ม Alibaba ประเทศมาเลเซีย และรวมถึงสถาบันการเงินต่าง ๆ จะร่วมกันทำพัฒนาการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์และการหาเงินทุนให้เป็นไปอย่างสะดวกขึ้นโดยจะให้ความสำคัญกับการซื้อขายระหว่าง Business to Business
(๔)   E-talent development (การให้การสนับสนุนบุคลากรที่กับทางอิเล็กทรอนิกส์) กลุ่ม Alibaba และประเทศมาเลเซียจะร่วมกันพัฒนาหลักสูตรการอบรม Start Ups และพัฒนาทักษะของบุคลากรให้รองรับกับ Digital Economy

การค้าระหว่างประเทศในอนาคต
          ในอนาคตการค้าระหว่างประเทศจะทำผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น รวมถึงผู้ซื้อและผู้ขายจะพบกันได้ง่ายขึ้นเนื่องจากการขายสินค้าจะทำผ่านทางออนไลน์ ความพยายามของกลุ่ม Alibaba ในการหาประเทศพันธมิตรเพื่อร่วมกันพัฒนา E-Commence คาดว่าจะมีประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมมากขึ้นโดยอาจจะเข้าร่วมในลักษณะแบบเดียวกับประเทศมาเลเซียที่วางบทบาทของประเทศเป็นศูนย์กลางกระจายสินค้า หากใช้โมเดลเดียวกับมาเลเซียในทวีปอื่น ๆ เช่น แอฟริกา กลุ่ม Alibaba ก็จะเข้าไปตั้งศูนย์กลางกระจายสินค้าและเชิญช่วยให้ SME ในประเทศใกล้เคียงสามารถขายสินค้าได้สะดวกยิ่งขึ้นตามวิสัยทัศน์ที่ Jack Ma ได้ประกาศไว้ คือต้องการส่งเสริมให้ SME รวมถึงผู้บริโภคทั่วโลกสามารถซื้อขายสินค้าได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้นผ่านช่องทางของกลุ่ม Alibaba
 
[1] http://america.cgtn.com/2017/01/17/full-text-of-xi-jinping-keynote-at-the-world-economic-forum เข้าถึงเมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๖๐
[2] http://www.shanghaidaily.com/business/Jack-Mas-eWTP-proposal-included-in-G20-communique/shdaily.shtml เข้าถึงเมื่อ ๒๙ มีนาคม ๒๕๖๐
[3] http://www.alibabagroup.com/en/news/press_pdf/p160906a.pdf เข้าถึงเมื่อ ๒๙ มีนาคม ๒๕๖๐
[4] http://www.alizila.com/ewtp-finds-base-malaysia/ เข้าถึงเมื่อ ๒๙ มีนาคม ๒๕๖๐
[5] http://finance.yahoo.com/news/alibaba-turns-ewtp-reality-creation-061600361.html เข้าถึงเมื่อ ๒๙ มีนาคม ๒๕๖๐

© 2017 Office of the Council of State.