ฮ่องกงจ่อออกกฎหมายควบคุม “เครื่องคีบตุ๊กตา” เนื่องจากมีการตั้งค่าหรือสร้างสิ่งกีดขวางภายในเครื่องที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค
ข่าวต่างประเทศ
15 Jan 2025
แทบทุกคนต้องเคยมีประสบการณ์ที่ชวนหงุดหงิดเมื่อได้ไปเที่ยวสถานที่จัดงานและเข้าใช้บริการเครื่องคีบตุ๊กตา ซึ่งภาพที่ทุกคนคุ้นเคยกันดีคือ ขณะที่ตุ๊กตาที่หมายปองกำลังถูกคีบและเคลื่อนไปตามรางจนเกือบถึงช่องหยิบตุ๊กตา จู่ ๆ ที่คีบเจ้ากรรมก็คลายตัวลง ทำให้ตุ๊กตาสุดหวงแหนนั้นหลุดมือไปอย่างน่าเสียดาย
โดยเมื่อวันพุธที่ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๗ Hong Kong's consumer watchdog ได้เรียกร้องให้มีการทบทวนกฎระเบียบเกี่ยวกับเครื่องคีบตุ๊กตา หลังจากที่มีการร้องเรียนจากผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น โดยสภาผู้บริโภค (Consumer Council) กล่าวเมื่อวันจันทร์ที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๖๗ ว่ามีการยื่นเรื่องร้องเรียนถึง ๔๒ เรื่องในช่วง ๑๑ เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นจากเดิมในปี พ.ศ. ๒๕๖๖ ที่มีการร้องเรียน ๑๖ เรื่อง และในปี พ.ศ ๒๕๖๕ จำนวน ๗ เรื่อง
หน่วยงานกำกับดูแลผู้บริโภคระบุว่า เครื่องคีบตุ๊กตาเหล่านี้ใช้ประโยชน์จากความอยากรู้อยากลองของผู้บริโภคที่อยากลองเสี่ยงโชค และเตือนให้ผู้คนไตร่ตรองให้รอบคอบก่อนใช้จ่ายเงินและระมัดระวังการเสพติดการเล่นเกมคีบตุ๊กตาจากตู้ แต่ทั้งนี้ หน่วยงานไม่ได้ชี้แจงว่าจะควบคุมเครื่องคีบตุ๊กตาเหล่านี้อย่างไร ซึ่งในฮ่องกง เจ้าของธุรกิจเครื่องคีบตุ๊กตาไม่ต้องมีใบอนุญาตในการดำเนินกิจการแต่อย่างใด
ขณะเดียวกัน Gilly Wong Fung-han ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของสภาผู้บริโภค กล่าวในแถลงการณ์ว่า อุตสาหกรรมดังกล่าวมักจะปรับเปลี่ยนการตั้งค่าของเครื่องคีบตุ๊กตาหรือสร้างสิ่งกีดขวางภายในเครื่อง เพื่อทำให้การชนะและได้รางวัลเป็นเรื่องท้าทายมากขึ้น ซึ่งความยากที่มากเกินไปหรือการตั้งค่าที่ไม่เป็นธรรมอาจทำให้ผู้บริโภคเกิดความไม่พอใจ และถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐจะต้องทบทวนเรื่องการควบคุมธุรกิจเครื่องคีบตุ๊กตาอย่างจริงจัง
อย่างไรก็ตาม Jayden Chen ผู้ก่อตั้งบริษัทให้เช่าเครื่องคีบตุ๊กตาในสิงคโปร์ ให้สัมภาษณ์ต่อสำนักข่าว BBC ว่า การตั้งค่าโปรแกรมในเครื่องคีบตุ๊กตาเป็นส่วนที่ทำให้เกิดความสนุก ทำให้ผู้เล่นรู้สึกตื่นเต้นและอยากจะเล่นต่อไป ซึ่งหากพวกเขาชนะทุกครั้ง คงไม่มีใครอยากเล่นครั้งที่สองหรือสามอีก การตั้งกฎระเบียบเพื่อควบคุมเครื่องคีบตุ๊กตาจะเป็นการทำลายความรู้สึกสนุกเช่นว่านี้ของผู้คน
นอกจากนี้ สภาผู้บริโภคให้ข้อมูลว่ามีชายคนหนึ่งใช้เงิน ๕๐๐ ดอลลาร์ฮ่องกง (ประมาณ ๒,๒๐๐ บาท) กับเครื่องคีบตุ๊กตาเป็นเวลา ๔๕ นาทีเพื่อลุ้นรับเครื่องทำวาฟเฟิล แต่ของรางวัลได้รับเป็นเพียงของเล่นเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้น โดยชายคนดังกล่าวใช้บริการตู้คีบตุ๊กตาที่มีการการันตีรางวัลให้ โดยเครื่องทำวาฟเฟิลเป็นหนึ่งในรางวัลเหล่านั้น ซึ่งเขาเห็นว่าผู้บริโภคควรมีสิทธิ์เลือกของรางวัลด้วยตนเอง
อีกกรณีหนึ่ง ผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งใช้บริการเครื่องคีบตุ๊กตาอีกเครื่องบ่นว่า ทุกครั้งที่เธอคีบของเล่นและกำลังจะเคลื่อนของเล่นที่ต้องการไปที่ราง ขาหนีบของที่คีบจะคลายตัวออกทำให้ของเล่นหลุดลงไป ซึ่งตู้คีบนั้นมีกลไกรับประกันการคีบ (a “guaranteed grab" mechanism) สำหรับผู้เล่นที่ใช้เงินอย่างน้อย ๑๐๐ ดอลลาร์ฮ่องกงแต่ยังไม่ชนะและได้รับรางวัล ทำให้ผู้เล่นดังกล่าวได้รับรางวัลในครั้งที่ใช้เงินถึงยอดดังกล่าว เธอตำหนิการกระทำดังกล่าวว่าไม่ซื่อสัตย์ต่อผู้บริโภค
นอกจากนี้ ยังมีผู้ร้องเรียนอีกรายหนึ่งที่ต้องการแลกธนบัตร ๑๐๐ ดอลลาร์ฮ่องกงเพื่อให้ได้เป็นเหรียญ ๕ ดอลลาร์ฮ่องกงจากเครื่องคีบตุ๊กตา แต่เมื่อเขาสอดธนบัตรเข้าไปแล้ว เขากลับได้รับเหรียญ ๕ ดอลลาร์ฮ่องกงเพียงเหรียญเดียว เขาได้ส่งคำขอคืนเงินไปแต่กลับถูกปฏิเสธ และได้รับการชดเชยเป็นสิทธิในการเล่นเครื่องคีบตุ๊กตาจำนวนรอบเท่ากับมูลค่าของเงินดังกล่าวแทน
ชายคนดังกล่าวตำหนิการกระทำดังกล่าวว่าเป็นการบังคับให้เขาต้องใช้บริการเครื่องคีบตุ๊กตาอย่างไม่เต็มใจเพื่อทดแทนเงินที่เสียไป แต่ผู้ประกอบการยืนยันการตัดสินใจไม่คืนเงินสดให้แก่เขา เนื่องจากการแลกเหรียญตามปกติจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ เช่น ค่าธรรมเนียมธนาคาร
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากรายงานระบุว่าเครื่องคีบตุ๊กตาสามารถตั้งค่าให้ขาหนีบคีบของเล่น/รางวัลสามารถหนีบได้แน่นเป็นบางครั้งได้ หรือทำให้รางวัลหลุดลงมาเมื่อผู้เล่นพยายามคีบรางวัลหลายครั้งก็ได้ ดังนั้น ผู้บริโภคควรใช้วิจารณญาณว่าจำนวนเงินที่เสียไปนั้นคุ้มค่ากับมูลค่าของรางวัลที่ได้หรือไม่ และแนะนำให้ผู้บริโภคบันทึกวิดีโอขณะที่ตนใช้บริการเครื่องคีบตุ๊กตาด้วย เพื่อเป็นหลักฐานไว้ใช้ในกรณีที่มีข้อโต้แย้งใด ๆ เกิดขึ้น นอกจากนี้ เครื่องคีบตุ๊กตาบางตู้อาจถูกนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในการพนัน ผู้บริโภคจึงควรใช้ความระมัดระวังอย่างรอบคอบ
ข่าวประจำวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๖๘
แปลและเรียบเรียงจาก https://www.bbc.com/news/articles/c5yx2ek1j53o
*บทความในเว็บไซต์เป็นผลงานทางวิชาการของผู้เขียนเว็บไซต์ LawforASEAN / สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
ไม่จำเป็นต้องเห็นพ้องด้วย