BANNER

อังกฤษเสนอร่างกฎหมายการุณยฆาตสำหรับผู้ป่วยที่มีชีวิตอยู่ได้ไม่เกิน ๖ เดือน


 ข่าวต่างประเทศ      31 Aug 2024

  


                    อดีตรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมของอังกฤษ Lord Falconer ได้เสนอร่างกฎหมายที่อนุญาตให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่มีชีวิตอยู่ได้ไม่เกิน ๖ เดือนที่อยู่ในความดูแลของแพทย์สามารถขอยุติการรักษาให้ผู้ป่วยจากไปอย่างสงบหรือการุณยฆาต โดยยื่นร่างกฎหมายนี้ต่อสภาขุนนาง และเขากล่าวกับสำนักข่าว BBC ว่าร่างกฎหมายดังกล่าวจะบังคับใช้เฉพาะกับบุคคลที่มีสภาพจิตใจปกติในการตัดสินใจเท่านั้น และการตัดสินใจของบุคคลเหล่านี้จะต้องได้รับการอนุมัติจากศาลสูงและแพทย์ ๒ คนด้วย
                    อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาร่างกฎหมายของสมาชิกสภาขุนนางที่เสนอต่อสภาขุนนางนั้นแทบจะไม่เคยได้รับความเห็นชอบเลย ดังนั้น Lord Falconer จึงหวังว่าสมาชิกรัฐสภาจากพรรคฝ่ายค้านจะเสนอร่างกฎหมายที่คล้ายกันนี้ต่อสภาสามัญ ซึ่งมีโอกาสประสบความสำเร็จในการได้รับความเห็นชอบมากกว่า
                    โดยรัฐบาลจะต้องจัดสรรเวลาเพื่อทำการอภิปรายด้วย เพื่อให้ร่างกฎหมายนี้ได้รับความเห็นชอบเป็นกฎหมาย ซึ่งนายกรัฐมนตรี Sir Keir Starmer เคยให้สัญญาไว้ เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๗ ว่าเขาจะอนุญาตให้สมาชิกรัฐสภามีสิทธิลงคะแนนเสียงในเรื่องนี้ได้อย่างอิสระ ซึ่งหมายความว่าพวกเขาสามารถลงคะแนนเสียงได้ตามความเห็นของตนแทนที่จะต้องทำตามแนวทางของพรรค
                    ทั้งนี้ ร่างกฎหมายของ Lord Falconer ได้รับการตอบรับด้วยดีจากผู้ประกาศข่าว  Dame Esther Rantzen ซึ่งป่วยเป็นมะเร็งปอดระยะสุดท้าย โดย Dame Esther เขียนในหนังสือพิมพ์ Express ว่า สัปดาห์นี้ เป็นครั้งแรกในรอบกว่าหนึ่งปีที่เขามองเห็นความหวัง นั่นทำให้เขากล้าที่จะมองไปข้างหน้า ซึ่งสิ่งที่ผู้ป่วยระยะสุดท้ายอย่างเขาต้องการคือการได้รับความหวังว่าหากการมีชีวิตกลายเป็นเรื่องที่เลวร้าย เราก็สามารถขอความช่วยเหลือเพื่อก้าวออกมาได้ หากกฎหมายดังกล่าวมีการเปลี่ยนแปลงได้ทันเวลาเพื่อให้เขาได้ตายอย่างสงบที่บ้านท่ามกลางคนที่เขารัก เขาก็คงโล่งใจ
                    ในด้านของอดีตนักกีฬาพาราลิมปิก Baroness Tanni Grey-Thompson ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการ Today ของ BBC Radio 4 ว่าเธอไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายนี้ เธอกล่าวว่า ทุกคนจำเป็นต้องเข้าใจถึงผลกระทบที่ตามมา หากร่างกฎหมายนี้ได้รับความเห็นชอบและบังคับใช้เป็นกฎหมาย อาจเปิดช่องให้เกิดการทำละเมิดได้อย่างมากมาย แม้จะมีมาตรการป้องกันก็ตาม
                    รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข Wes Streeting ให้สัมภาษณ์ในรายการเดียวกัน เขากล่าวว่าเขาไม่สามารถตัดสินใจได้เกี่ยวกับประเด็นนี้ แต่อย่างไรก็ตาม เขากล่าวเสริมว่าขณะนี้ถึงเวลาแล้วที่จะมีการอภิปรายในประเด็นดังกล่าว และเขาได้ฝากคำถามไว้อีกว่า การดูแลแบบประคับประคองในประเทศนี้ดีพอหรือไม่ที่ผู้ป่วยจะอยากมีชีวิตอยู่ต่อ หรือการที่ผู้ป่วยเลือกที่จะจากไปเร็วขึ้น เนื่องจากการดูแลแบบประคับประคองหรือการดูแลผู้ป่วยในช่วงสุดท้ายของชีวิตในประเทศนี้นั้นไม่ดีเท่าที่ควร
                    อย่างไรก็ตาม ประเด็นดังกล่าวได้รับความสนใจมากขึ้นในปีนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้ประกาศข่าว  Dame Esther Rantzen เปิดเผยว่าเธอได้เข้ารับบริการจากองค์กร Dignitas ซึ่งเป็นคลินิกการุณยฆาตในสวิตเซอร์แลนด์

ข่าวประจำวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๖๗
แปลและเรียบเรียงจาก https://www.bbc.com/news/articles/c3g9yvdrxzzo
*บทความในเว็บไซต์เป็นผลงานทางวิชาการของผู้เขียนเว็บไซต์ LawforASEAN / สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
ไม่จำเป็นต้องเห็นพ้องด้วย

 

© 2017 Office of the Council of State.