ประเทศญี่ปุ่นได้ออกกฎหมายเกี่ยวกับการอนุญาตให้มีการดูแลบุตรร่วมกันภายหลังจากการหย่าร้าง
ข่าวต่างประเทศ
30 May 2024
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา สภาผู้แทนราษฎรของประเทศญี่ปุ่นได้ออกกฎหมายเกี่ยวกับการอนุญาตให้มีทางเลือกในการดูแลบุตรร่วมกันภายหลังจากการหย่าร้างเป็นระยะเวลากว่าหลายทศวรรษในญี่ปุ่นที่พ่อหรือแม่เพียงคนเดียว โดยส่วนใหญ่มักจะเป็นฝ่ายแม่ที่ได้รับสิทธิการดูแลเลี้ยงดูบุตรตามกฎหมายเมื่อการสมรสนั้นสิ้นสุดลง ซึ่งเป็นกฎหมายที่มุ่งหมายเพื่อเป็นการป้องกันความรุนแรงในครอบครัวและการทารุณกรรมต่อเด็ก อย่างไรก็ดี มีข้อกังวลต่อกฎหมายดังกล่าวว่า อาจเป็นการตัดขาดความสัมพันธ์ระหว่างพ่อหรือแม่กับเด็ก ๆ ทั้งนี้ จากความคับข้องใจอันยาวนานของพ่อหรือแม่ที่มิได้เลี้ยงดูบุตรอันเนื่องมาจากไม่สามารถเข้าถึงลูก ๆ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นฝ่ายพ่อ ให้สามารถช่วยสร้างแรงกดดันต่อการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ได้
ในปี ค.ศ. ๒๐๑๙ คณะกรรมการสหประชาชาติ (U.N. committee) ได้ให้คำแนะนำแก่ประเทศญี่ปุ่นว่า “ควรอนุญาตให้มีการดูแลเด็กร่วมกันได้ เพื่อเป็นการคุ้มครองประโยชน์สูงสุดของเด็ก (The child's best interests) รวมถึงผู้ปกครองที่เป็นชาวต่างชาติด้วย” โดยร่างกฎหมายใหม่ได้มีการกำหนดว่าสิทธิการดูแลเลี้ยงดูบุตรแต่เพียงผู้เดียวนั้นจะต้องคงอยู่ หากทั้งพ่อและแม่ต่างเห็นพ้องร่วมกันว่าเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด หรือในกรณีที่ศาลตระหนักถึงความรุนแรงในครอบครัวหรือการทารุณกรรมต่อเด็กที่อาจเกิดขึ้น ผู้ปกครองคนหนึ่งยังสามารถตัดสินใจได้โดยไม่ต้องปรึกษาอีกฝ่ายในประเด็นต่าง ๆ เช่น การศึกษาหรือสุขภาพในสภาวะ “สถานการณ์ฉุกเฉิน” ทั้งนี้ ยังไม่มีการนับจำนวนผู้เยาว์ที่ถูกตัดขาดจากผู้ปกครองอย่างเป็นทางการในประเทศญี่ปุ่น อย่างไรก็ดี การรณรงค์นี้เป็นเสียงสะท้อนเพื่อการเปลี่ยนแปลงจากเดิม
การสำรวจในปี ค.ศ. ๒๐๒๒ ซึ่งดำเนินการโดยกลุ่มสนับสนุนสำหรับคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวพบว่า จำนวน ๘๐% ของพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวในญี่ปุ่นต่อต้านหรือไม่เห็นด้วยต่อการดูแลเลี้ยงดูบุตรร่วมกัน “แม้แต่ในกรณีของความรุนแรงในครอบครัว การพิสูจน์ในศาลด้วยหลักฐานที่ไม่เพียงพออาจนำไปสู่การมีการดูแลเลี้ยงดูบุตรร่วมกัน” กลุ่มรณรงค์ต่อต้านการเคลื่อนไหวดังกล่าวระบุในเดือนมกราคม
กฎหมายใหม่นี้ได้กำหนดให้พ่อหรือแม่ที่อาศัยอยู่แยกจากบุตรนั้นจะต้องจ่ายค่าเลี้ยงดูจำนวนหนึ่ง แม้ว่าจะไม่มีข้อตกลงเกี่ยวกับการจ่ายเงินดังกล่าวในขณะที่หย่าร้างก็ตาม อีกทั้งสำหรับฝ่ายที่เรียกร้องจะได้รับสิทธิเหนือเจ้าหนี้รายอื่นเพื่อให้สามารถยึดทรัพย์สินจากคู่สมรสเดิมได้อีกด้วย นอกจากนี้ ภายใต้ระบบการดูแลบุตรแบบใหม่ ศาลครอบครัวจะสามารถสนับสนุนให้มีการประชุมระหว่างเด็กและผู้ปกครองที่พวกเขาแยกกันอาศัยอยู่ในกระบวนการพิจารณาคดีในช่วงแรก
ข่าวประจำวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๖๗
แปลและเรียบเรียงจาก https://www.japantimes.co.jp/news/2024/05/17/japan/crime-legal/japan-revises-law-to-allow-joint-custody/
*บทความในเว็บไซต์เป็นผลงานทางวิชาการของผู้เขียนเว็บไซต์ LawforASEAN / สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
ไม่จำเป็นต้องเห็นพ้องด้วย