เมียนมาสั่งห้ามมิให้พลเมืองชายออกไปทำงานนอกประเทศหลังบังคับใช้กฎหมายเกณฑ์ทหาร เพื่อเพิ่มจำนวนทหารเกณฑ์ในเมียนมา
ข่าวต่างประเทศ
27 May 2024
รัฐบาลทหารเมียนมาระงับใบอนุญาตการทำงานในต่างประเทศของพลเมืองชาย โดยการกระทำดังกล่าวเกิดขึ้นเพียงไม่กี่สัปดาห์หลังจากที่มีการบังคับใช้กฎหมายเกณฑ์ทหาร ซึ่งนั่นส่งผลให้ประชากรนับพันคนในเมียนมาต่างพยายามอพยพออกนอกประเทศ
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รัฐบาลเมียนมาได้ประกาศบังคับใช้กฎหมายเกณฑ์ทหาร ซึ่งมีผลให้รัฐบาลมีอำนาจที่จะบังคับให้พลเมืองเพศชายทุกคนเข้ารับราชการทหารเป็นเวลาอย่างน้อย ๒ ปี ท่ามกลางสภาวะที่รัฐบาลกำลังดิ้นรนเพื่อปราบปรามกลุ่มต่อต้านติดอาวุธที่ขัดขวางการปกครองของตนในปัจจุบัน
การประกาศการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวส่งผลให้ประชากรเมียนมาหลายพันคนเข้าคิวขอวีซ่า ณ สถานทูตในกรุงย่างกุ้งและสถานทูตอื่น ๆ เพื่อหลบหนีข้ามมายังฝั่งประเทศไทยและหลีกเลี่ยงการเข้ารับการเกณฑ์ทหารตามกฎหมายดังกล่าว โดยข้อมูลของสำนักข่าว BBC รายงานว่า ในช่วง ๓ เดือนที่ผ่านมาหลังจากมีการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว พลเมืองชายเมียนมาเกือบหนึ่งแสนคน ได้ยื่นขอใบอนุญาตการทำงานในต่างประเทศ ซึ่งนี่ถือเป็นส่วนหนึ่งของประชากรที่อพยพออกนอกประเทศ
จากความเคลื่อนไหวของประชากรดังกล่าว กระทรวงแรงงานของรัฐบาลทหารเมียนมาจึงมีแถลงการณ์สั่งระงับการขอใบอนุญาตการทำงานในต่างประเทศชั่วคราวให้กับพลเมืองชายที่ต้องการไปทำงานในต่างประเทศ โดยกล่าวว่ามาตรการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เวลาในการตรวจสอบเกี่ยวกับการเดินทางไปยังต่างประเทศนานขึ้น และตรวจสอบในประเด็นอื่น ๆ แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมที่ชัดเจน
ทั้งนี้ จากความเห็นของนักวิเคราะห์ กล่าวว่า มีหลายประเทศที่น่าสนใจในการออกไปทำงานด้วย ซึ่งนอกจากประเทศไทยแล้ว มาเลเซีย สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ยังเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมสำหรับชาวเมียนมาในการออกไปหางานทำ
จากการสัมภาษณ์ของ BBC Burmese ชายวัย ๓๒ ปีที่หวังว่าจะไปได้ทำงานที่ญี่ปุ่น กล่าวว่า เขารู้สึกสิ้นหวังหลังจากมีการระงับใบอนุญาตการทำงานในต่างประเทศในสัปดาห์นี้ และคนมากมายต้องสูญเสียโอกาสในอนาคต หลังจากที่เมียนมากำหนดให้ผู้ชายอายุระหว่าง ๑๘ - ๓๕ ปีต้องเกณฑ์ทหารและผู้หญิงอายุ ๑๘ - ๒๗ ปีก็ต้องสมัครรับราชการทหาร
ข่าวประจำวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๖๗
แปลและเรียบเรียงจาก https://www.abc.net.au/news/2024-05-04/myanmar-junta-bans-men-from-applying-to-work-abroad/103804900
*บทความในเว็บไซต์เป็นผลงานทางวิชาการของผู้เขียนเว็บไซต์ LawforASEAN / สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
ไม่จำเป็นต้องเห็นพ้องด้วย