BANNER

ศรีลังกามีมติเห็นชอบกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยทางออนไลน์ (Online Safety Bill)


 ข่าวต่างประเทศ      31 Mar 2024

  


รัฐสภาของศรีลังกาได้มีมติเห็นชอบกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยทางออนไลน์ (Online Safety Bill) โดยมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ ๒๔ มกราคม ค.ศ. ๒๐๒๔ ด้วยคะแนนเสียงข้างมากจำนวน ๔๖ เสียงในรัฐสภาที่มีสมาชิก ๒๒๕ คน ท่ามกลางการประท้วงนอกรัฐสภา

กฎหมายที่เข้มงวดของศรีลังกาเพื่อควบคุมเนื้อหาออนไลน์มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๒๐๒๔ ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์และความกังวลอย่างกว้างขวาง โดยกฎหมายดังกล่าวได้ส่งผลกระทบทำให้กลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนและนักการเมืองฝ่ายค้านกล่าวหาว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อยับยั้งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

กฎหมายฉบับนี้ให้อำนาจแก่คณะกรรมการความปลอดภัยออนไลน์ที่มีสมาชิกจำนวนห้าคนเพื่อทำการประเมินและสามารถดำเนินการลบเนื้อหาที่ถือว่าผิดกฎหมาย  นอกจากนี้ ผู้ที่จะเป็นสมาชิกในคณะกรรมการข้างต้นจะได้รับการแต่งตั้งโดย ดีรานิล วิกรมสิงเห ประธานาธิบดีศรีลังกา

นอกจากนี้ กฎหมายดังกล่าวยังกำหนดมาตรการลงโทษที่เป็นการลงโทษจำคุกและปรับเป็นจำนวนมากสำหรับเนื้อหาที่ผิดกฎหมาย และทำให้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เช่น Google, Facebook และ X ต้องรับผิดชอบต่อเนื้อหาดังกล่าวบนแพลตฟอร์มของพวกเขา

รัฐบาลกล่าวว่ากฎหมายดังกล่าวมุ่งเป้าไปที่การต่อสู้กับอาชญากรรมทางไซเบอร์ รวมถึงการล่วงละเมิดเด็ก การขโมยข้อมูล และการฉ้อโกงทางออนไลน์ แต่นักวิจารณ์กฎหมายและนักการเมืองฝ่ายค้านกล่าวว่า
กฎหมายฉบับนี้มีไว้เพื่อปราบปรามเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและความเห็นต่างก่อนการเลือกตั้ง


ไทรัน อัลเลส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงสาธารณะ กล่าวว่า “ศรีลังกาได้รายงานการร้องเรียนเกี่ยวกับอาชญากรรมในโลกไซเบอร์แล้วถึง ๘,๐๐๐ ครั้งในปี ค.ศ. ๒๐๒๓ ขณะออกกฎหมายดังกล่าว ทางเราทุกคนเห็นพ้องตรงกันว่าต้องการกฎหมายฉบับนี้เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ นี่คือเหตุผลที่นำกฎหมายฉบับนี้ออกบังคับใช้ โดยไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในการปราบปรามสื่อหรือฝ่ายค้าน การร้องเรียนใด ๆ ก็ตามจะได้รับการพิจารณาโดยคณะกรรมการซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี และพวกเขาจะตัดสินใจว่าจะดำเนินการอย่างไร”

กลุ่มสนับสนุนประชาธิปไตยของศรีลังกา กล่าวว่า “ท่าทีอันแน่วแน่ของรัฐบาลต่อการออกกฎหมายฉบับดังกล่าวถือเป็นข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนถึงความตั้งใจที่จะปราบปรามการเคลื่อนไหวของพลเมือง

นอกจากนี้ กลุ่มสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศหลายกลุ่ม เช่น ฮิวแมนไรท์วอทช์ แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลและสหประชาชาติ ยังได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับกฎหมายฉบับดังกล่าว

ในปี ค.ศ. ๒๐๒๓ ทางสำนักงานสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติกล่าวว่า “กฎหมายฉบับดังกล่าวอาจทำให้การแสดงออกที่ชอบด้วยกฎหมายเกือบทุกรูปแบบถือเป็นการกระทำความผิดทางอาญา ทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงออกอย่างน่าหวาดกลัว”

ข่าวประจำวันที่  ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗
เรียบเรียงจาก  https://www.wionews.com/south-asia/sri-lankas-controversial-new-law-to-regulate-online-content-comes-into-force-686131?fbclid=IwAR2PjwE-QF9-w19Ai_BR8aBL0X9yfaux4MzogbxPGK0e5BhMqc5l7XA1rus

*บทความในเว็บไซต์เป็นผลงานทางวิชาการของผู้เขียนเว็บไซต์ LawforASEAN / สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่จำเป็นต้องเห็นพ้องด้วย
 

© 2017 Office of the Council of State.