สมาชิกสภานิติบัญญัติของกรีซมีมติเห็นชอบกฎหมายการแต่งงานของคนเพศกำเนิดเดียวกันให้ถูกต้องตามกฎหมาย
ข่าวต่างประเทศ
31 Mar 2024
เมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๒๐๒๔ ถือเป็นวันสำคัญของกลุ่มคนเพศหลากหลาย (LGBTQ) เนื่องจากประเทศกรีซได้กลายเป็นประเทศคริสเตียนออร์โธดอกซ์ประเทศแรกของโลก ที่ได้มีมติเห็นชอบกฎหมายการแต่งงานของเพศกำเนิดเดียวกัน (same-sex marriage) ท่ามกลางความยินดีและความโกรธเคืองต่อผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น
ภายหลังการแสดงฉันทานุมัติของรัฐสภาที่เอเธนส์ มี ส.ส. จำนวน ๑๗๖ คน ได้ลงมติเห็นชอบร่างกฎหมายดังกล่าว ส่วนอีก ๗๖ คน ได้ปฏิเสธการผ่านร่างกฎหมายดังกล่าว อย่างไรก็ดี ชุมชน LGBTQ+ ที่รวมตัวกันเพื่อรับฟังข่าวการผ่านร่างกฎหมายก็ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของความปิติยินดีไว้ได้
สเตลล่า เบเลีย (Stella Belia) นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิเพศหลากหลาย กล่าวว่า “เรารอคอยวันนี้มาหลายปีแล้ว โดยกฎหมายฉบับนี้ไม่เพียงแต่อนุญาตให้คู่รักเพศกำเนิดเดียวกันสามารถจดทะเบียนสมรสได้เท่านั้น แต่พวกเขายังมีสิทธิที่จะเลือกรับบุตรบุญธรรมได้อีกด้วย”
ฝ่ายที่ต่อต้านร่างกฎหมายข้างต้นก็ออกมาประณามว่า “กฎหมายดังกล่าวไม่มีความเหมาะสมเพราะส่งผลกระทบต่อชาวคริสเตียน นอกจากนี้ แอนโทนิส ซามาราส อดีตนายกรัฐมนตรีกรีซ ได้ออกมาแสดงความเห็นว่า
“การแต่งงานของชาว LGBTQ+ ไม่ใช่สิทธิมนุษยชนเพราะเป็นกฎหมายที่มีความอันตราย”
อย่างไรก็ดี ไคเรียคอส มิตโซทาคิส นายกรัฐมนตรี ได้ออกตัวเต็มที่ว่าสนับสนุนร่างกฎหมายฉบับนี้ ด้วยเหตุผลที่ว่าต้องการยุติ “ความไม่เท่าเทียมอย่างร้ายแรงในประเทศ และกฎหมายฉบับนี้จะส่งผลให้ชีวิตความเป็นอยู่พลเมืองของเราเป็นไปในทางที่ดีขึ้นภายหลังจากนี้”
ในขณะนี้มี ๓๗ ประเทศทั่วโลกที่ไฟเขียวกฎหมายสมรสเท่าเทียม และกรีซถือเป็นประเทศที่ ๑๖ ในสหภาพยุโรป (EU) ที่ได้มีมติเห็นชอบกฎหมายดังกล่าว
ข่าวประจำวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗
เรียบเรียงจาก https://www.theguardian.com/world/2024/feb/15/greece-becomes-first-orthodox-christian-country-to-legalise-same-sex-marriage?fbclid=IwAR1ba-JqCX9eC-VOdp5RHy6LJKRwVMJzsjK9ZsFjgr9w_xwkCSy-qfsCIb4
https://www.euronews.com/2024/02/15/greek-parliament-approves-legalisation-of-same-sex-civil-marriage?fbclid=IwAR0DzL1NVPHcGU8O5N1BmJQiCmryVs9gPkD7058yGj1SIIbXshTtletCedk
*บทความในเว็บไซต์เป็นผลงานทางวิชาการของผู้เขียนเว็บไซต์ LawforASEAN / สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่จำเป็นต้องเห็นพ้องด้วย