BANNER

อินโดนีเซียและญี่ปุ่นจะเพิ่มความร่วมมือทางทะเลมากขึ้น


 ข่าวต่างประเทศ      24 Jan 2017

  


ในการประชุมทวิภาคีระหว่างประเทศอินโดนีเซียและประเทศญี่ปุ่นผู้นำทั้งสองประเทศเน้นน้ำถึงความร่วมมือของทั้งสองฝ่ายต่อการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกในบริเวณตะวันตกของเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย แต่ผู้นำทั้งสองประเทศยังมีการตกลงกันในรายละเอียดเกี่ยวกับการสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เช่น ทางรถไฟบนเกาะชวา

หลังจากการประชุม นายกรัฐมนตรี Shinzo Abe ให้สัมภาษณ์ว่า “ในฐานะที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีทะเลล้อมรอบ ความร่วมมือด้านทะเลจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง โดยความร่วมมือกับประเทศอินโดนีเซียนั้น ญี่ปุ่นจะมีบทบาทสำคัญในเรื่องความมั่นคงทางทะเลและการพัฒนาเกาะห่างไกลต่าง ๆ ของอินโดนีเซีย”

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการเป็นหุ้นส่วนกันระหว่างสองประเทศว่าความร่วมมือจะดำเนินผ่าน Indonesia – Japan maritime forum ซึ่งทั้งสองประเทศได้จัดตั้งขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๕๙ และในช่วงปีนี้ จะมีการหารือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงกลาโหมของทั้งประเทศญี่ปุ่นและประเทศอินโดนีเซีย  ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้กล่าวเพิ่มเติมว่าประเทศญี่ปุ่นจะมอบเงินให้กับประเทศอินโดนีเซียเป็นจำนวน ๗๔๐๐ ล้านเยน หรือ ประมาณ ๒๓๐๐ ล้านบาท[1] ในการสร้างโอกาสทางธุรกิจสำหรับการพัฒนาระบบชลประทานและการรักษาสิ่งแวดล้อมชายฝั่งของอินโดนีเซีย

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี Shinzo Abe ยังกล่าวอีกว่า “ปัญหาทะเลจีนใต้ว่าเป็นประเด็นที่กระทบต่อเสถียรภาพและสันติภาพในภูมิภาค ซึ่งทั้งสองประเทศเห็นร่วมชอบกันว่าจะใช้กฎระเบียบและแนวทางสันติในการจัดปัญหาข้อขัดแย้งดังกล่าว ทั้งนี้ การเยือน ๔ ประเทศในภูมิภาคเอเชียของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นครั้งนี้ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาความมั่นคงทางทะเลและญี่ปุ่นพยายามที่จะสกัดกั้นความพยายามของประเทศจีนที่จะอ้างสิทธิเหนือทะเลจีนใต้ โดยประเทศอินโดนีเซียนั้นเป็นประเทศที่ ๓ ที่นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเดินทางเยือน ถึงแม้ว่าประเทศอินโดนีเซียจะไม่ได้อ้างสิทธิเหนือทะเลจีนใต้แต่มีความกังวลเกี่ยวกับเรือประมงผิดกฎหมายของประเทศจีนที่มักจะเข้ามาทำการประมงละเมิดน่านน้ำของอินโดนีเซีย

ทางด้านของประธานาธิบดีอินโดนีเซียได้แสดงความต้องการที่จะให้ญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมเกี่ยวกับทะเลในบริเวณรอบนอกเกาะชวาเพื่อสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และได้เปิดเผยว่าประเทศอินโดนีเซียได้เริ่มหารือเกี่ยวกับแผนความร่วมมือเพื่อการพัฒนา “ศูนย์กลางการเดินเรือและการทำประมงในบริเวณหมู่เกาะรอบนอกประเทศอินโดนีเซีย”

ทั้งนี้ ประธานาธิบดีอินโดนีเซียได้พยายามที่จะพัฒนาภูมิภาคอื่นที่ถูกละเลย นอกเหนือจากพัฒนาเกาะชวา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การสนับสนุนการรักษาความปลอดภัยบริเวณชายแดนและการป้องกันทางทหาร โดยในปีที่ผ่านมาได้เกิดเหตุการณ์เรือประมงสัญชาติจีนลักลอบทำประมงบริเวณเกาะ Natuna ซึ่งอยู่ใกล้กับเขตแดนทะเลจีนใต้ โดยที่ประธานาธิบดีอินโดนีเซียได้สั่งให้พัฒนาอุตสาหกรรมการประมง อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติบริเวณหมู่เกาะรอบนอก  นอกเหนือจากนี้จะมีการเพิ่มกำลังทหารบริเวณหมู่เกาะรอบนอก

นอกจากนี้ รัฐมนตรีการทะเลและการประมงอินโดนีเซียได้ให้สัมภาษณ์ว่าหลังจากการหารือกับประเทศญี่ปุ่นว่า ญี่ปุ่นตกลงที่จะร่วมพัฒนาเกาะ ๓ เกาะของอินโดนีเซียซึ่งประกอบด้วย Sabang, Natuna และ Morotai
ซึ่งทั้งสามเกาะตั้งอยู่บริเวณทางเหนือของหมู่เกาะของอินโดนีเซียโดยการร่วมพัฒนาดังกล่าวจะประกอบด้วยการลงทุนในอุตสาหกรรมอาหารทะเลแปรรูป การสร้างห้องเย็น และพัฒนาความปลอดภัยในบริเวณหมู่เกาะรอบนอก

ในขณะเดียวกัน การหารือด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่ประธานาธิบดีอินโดนีเซียให้ความสำคัญนั้นไม่มีความคืบหน้ามากนัก โดยที่นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้เปิดเผยถึงความคืบหน้าการสร้างท่าเรือน้ำลึก Patimban ซึ่งตั้งอยู่บริเวณทางตะวันออกของกรุงจาการ์ตาว่าท่าเรือน้ำลึกดังกล่าวจะเป็นการร่วมร่วมทุนของบริษัทจากประเทศอินโดนีเซียและประเทศญี่ปุ่น ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นไม่ได้เปิดเผยโครงการอื่นเพิ่มเติม เพียงแต่กล่าวว่าจะร่วมมือกับประเทศอินโดนีเซียในการพัฒนาการขนส่งระบบรางและการพัฒนาไฟฟ้าเท่านั้น นอกจากนี้   ทั้งสองประเทศได้เริ่มเจรจาโครงการปรับปรุงการขนส่งระบบร่างโดยเส้นทางที่อยู่ในระหว่างการเจรจาคือเส้นทางระหว่างเมืองหลวงคือ กรุงจาการ์ตา ไปยัง เมือง Surabaya ซึ่งเป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่อันดับ ๒ ของอินโดนีเซีย ทางประเทศอินโดนีเซียได้เสนอให้เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลกับเอกชนจากประเทศญี่ปุ่นแต่ประเทศญี่ปุ่นเห็นว่าควรเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลทั้งสองประเทศ และท้ายที่สุดการแถลงการณ์ต่อสื่อนั้นไม่ได้มีการพูดถึงรายละเอียดของการต่อสัญญาโครงการสำรวจก๊าซธรรมชาติที่ Masela ซี่งตั้งอยู่บริเวณตะวันออกของอินโดนีเซียโดยที่โครงการดังกล่าวมีบริษัทญี่ปุ่น Inpex เป็นเจ้าของโครงการดังกล่าว  นอกจากนี้ Inpex ได้เสนอแผนการพัฒนาก๊าซธรรมชาตินอกชายฝั่งแต่ประเทศอินโดนีเซียได้เปลี่ยนโครงการดังกล่าวเป็นการพัฒนาชายฝั่งแทน

วิเคราะห์ข่าว การเดินทางเยือนประเทศเอเชียของนายกรัฐมนตรีประเทศญี่ปุ่นนั้น เกิดขึ้นมาจากความต้องการที่จะต้านอิทธิพลของประเทศจีนในเรื่องทะเลจีนใต้ดังจะสังเกตได้จาก ๓ จาก ๔ ประเทศที่นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเยือนนั้นมีความขัดแย้งในปัญหาทะเลจีนใต้ ซึ่ง ๓ ประเทศประกอบด้วย เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ในกรณีของฟิลิปปินส์ เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ได้ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางของฟิลิปปินส์นโยบายการต่างประเทศของฟิลิปปินส์ที่จะไม่ยกคำพิพากษาของศาลกฎหมายทะเลระหว่างประเทศในการอ้างสิทธิของประเทศจีนเหนือทะเลจีนใต้ เป็นการแสดงให้เห็นว่าอิทธิพลของประเทศจีนต่อฟิลิปปินส์เริ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ อีกทั้งสหรัฐอเมริกาภายในการบริหารงานของ Donald Trump จะให้ความสำคัญกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้น้อยลงแต่อาจจะเปลี่ยนแปลงได้หากอิทธิพลของจีนมีมากขึ้นจนทำให้ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่ร่วมมือกับสหรัฐอเมริกา  ดังนั้น ประเทศญี่ปุ่นจึงต้องแสดงบทบาทในการสกัดกั้นอิทธิพลของประเทศจีนไม่ให้มีมากเกินไป เพราะมีแนวโน้มที่เห็นได้อย่างชัดเจนจากท่าทีของ Donald Trump ที่เปลี่ยนแปลงไปทุกวันว่าสหรัฐอเมริกาคงไม่สามารถเข้ามาช่วยแก้ปัญหานี้ได้ประกอบกับความนิยมในตัว Donald Trump นั้น ไม่ได้มีมากเท่าที่ควร

 


[1] อัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ๑๘ มกราคา ๒๕๖๐

© 2017 Office of the Council of State.