BANNER

ออสเตรเลียเพิ่มความเข้มงวดของกฎเกณฑ์ในการรับคนเข้าเมืองภายหลังประสบปัญหาการรับคนเข้าเมืองมากเกินไป


 ข่าวต่างประเทศ      03 Jan 2024

  


                    ออสเตรเลียเตรียมเพิ่มความเข้มงวดของกฎเกณฑ์การออกวีซ่าสำหรับนักศึกษาต่างชาติและแรงงานทักษะต่ำ หลังจากประสบปัญหาการรับคนเข้าเมืองที่มากเกินไป ซึ่งนั่นส่งผลกระทบต่อพลเมืองออสเตรเลียหลายประการ เช่น ปัญหาตลาดเช่าอสังหาริมทรัพย์ที่มีความตึงตัวอยู่แล้วก็ยิ่งตึงตัวมากขึ้นไปอีก กล่าวคือ ค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์มีราคาสูงและที่อยู่หายากขึ้น ดังจะเห็นได้จากตัวเลขคนไร้บ้านที่สูงขึ้น
ในประเทศ ซึ่งภายใต้นโยบายใหม่ นักศึกษาต่างชาติจะต้องได้คะแนนสอบวัดระดับภาษาอังกฤษที่สูงขึ้น ขณะที่ทางการจะเพิ่มความเข้มงวดในการพิจารณาคำขอวีซ่าครั้งที่ ๒ ของนักศึกษา เพื่อยืดระยะเวลาการอยู่ในประเทศ

                    สาเหตุที่ตัวเลขของคนเข้าเมืองสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์นี้ คาดว่าเป็นผลมาจากการที่ออสเตรเลียรับคนย้ายเข้าประเทศเพิ่มขึ้นเมื่อปีที่แล้วเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานภายหลังจากที่มี
การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด ๑๙ ทำให้การควบคุมการเข้าเมืองมีความเข้มงวดขึ้นและทำให้นักศึกษา
และแรงงานต่างชาติเข้าประเทศไม่ได้เกือบ ๒ ปี

                    การปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่คาดการณ์ว่า ยอดตัวเลขคนเข้าเมืองสุทธิของออสเตรเลียจะแตะระดับสูงสุดที่ ๕๑๐,๐๐๐ คน ในปี พ.ศ. ๒๐๒๒-๒๐๒๓ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาต่างชาติ และตัวเลขนี้คาดว่าจะลดลงเหลือ ๒๕๐,๐๐๐ คน ภายใน ๒ ปีให้หลัง ซึ่งเป็นจำนวนที่ใกล้เคียงกับระดับก่อนโควิด  ทั้งนี้ รัฐมนตรีมหาดไทย Clare O'Neil กล่าวว่ามาตรการดังกล่าวจะทำให้จำนวนผู้อพยพกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้
                    อย่างไรก็ตาม รัฐบาลออสเตรเลียยังคงผลักดันการเข้ามาของแรงงานทักษะสูง และพยายามจะอำนวยความสะดวกในการขอวีซ่าพำนักถาวรให้ราบรื่นขึ้นแก่แรงงานประเภทนี้  โดยจะมีการตั้งวีซ่าประเภทใหม่สำหรับแรงงานทักษะสูง ที่จะช่วยให้ธุรกิจต่าง ๆ สามารถหาแรงงานที่มีความสามารถได้ ท่ามกลางแข่งขันกับประเทศพัฒนาแล้วอื่น ๆ


ข่าวประจำวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๖
แปลและเรียบเรียงจาก https://www.reuters.com/world/asia-pacific/australia-plans-halve-migrant-intake-tighten-student-visa-rules-2023-12-10/
*บทความในเว็บไซต์เป็นผลงานทางวิชาการของผู้เขียนเว็บไซต์ LawforASEAN / สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
ไม่จำเป็นต้องเห็นพ้องด้วย

 

© 2017 Office of the Council of State.