จีนออกกฎหมายห้ามใส่เสื้อผ้าที่ระบุข้อความที่เป็นการทำร้ายจิตวิญญาณของชาวจีน
ข่าวต่างประเทศ
03 Jan 2024
จีนเพิ่งเปิดเผยถึงข้อเสนอในการเปลี่ยนแปลงกฎหมายด้านความมั่นคงสาธารณะ ซึ่งนี่ถือเป็นการปฏิรูปครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษ โดยร่างกฎหมายดังกล่าวกำหนดให้ผู้ที่สวมหรือบังคับผู้อื่นให้สวมเสื้อผ้าและสัญลักษณ์ที่ถือเป็นการบ่อนทำลายจิตวิญญาณหรือทำร้ายความรู้สึกของประชาชนชาวจีน อาจถูกควบคุมตัวสูงสุด ๑๕ วัน และปรับสูงสุด ๕,๐๐๐ หยวน (ประมาณ ๒๔,๐๐๐ บาท) รวมถึงผู้ที่สร้างหรือเผยแพร่บทความหรือสุนทรพจน์ที่มีข้อความเช่นนั้นก็อาจได้รับโทษดังกล่าวเช่นเดียวกัน
การเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายที่เสนอนี้ยังห้ามมิให้ดูหมิ่น ใส่ร้าย หรือละเมิดชื่อของวีรบุรุษและผู้เสียสละในท้องถิ่น รวมถึงการก่อกวนรูปปั้นอนุสรณ์สถานของพวกเขาด้วย
ร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าประธานาธิบดี Xi Jinping ของจีนพยายามกำหนดนิยามใหม่เกี่ยวกับสิ่งที่กำหนดให้เป็นแบบอย่างของพลเมืองจีน นับตั้งแต่เขาก้าวขึ้น
สู่ตำแหน่งผู้นำในปี พ.ศ. ๒๕๕๕
ในปี พ.ศ. ๒๕๖๒ พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้กำหนดแนวทางปฏิบัติด้านศีลธรรมขึ้น ซึ่งรวมถึงคำสั่งต่าง ๆ เช่น ความสุภาพ การเดินทางโดยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และการศรัทธาในตัว
นาย Xi และพรรคการเมืองของเขา
อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้โซเชียลมีเดียและผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเรียกร้องให้ร่างกฎหมายนี้
มีความชัดเจนมากขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงการบังคับใช้ที่เกินขอบเขต
ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายในประเทศยังได้วิพากษ์วิจารณ์การใช้ถ้อยคำที่คลุมเครือของ
ร่างกฎหมายนี้ โดยกล่าวว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวอาจทำให้เกิดการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลได้
Zhao Hong ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยรัฐศาสตร์และกฎหมายของจีน กล่าวว่า การขาดความชัดเจนอาจนำไปสู่การละเมิดสิทธิส่วนบุคคล โดยเธอเขียนในบทความที่ได้รับการตีพิมพ์เมื่อวันพุธที่ ๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๖ ว่า จะเป็นอย่างไรหากผู้บังคับใช้กฎหมาย ซึ่งโดยปกติแล้วเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ มีการตีความเกี่ยวกับความเจ็บปวดทางจิตใจด้วยทัศนคติส่วนตัว และเริ่มตัดสินความถูกต้อง
ทางศีลธรรมของผู้อื่นอย่างนอกเหนือขอบเขตของกฎหมาย
นอกจากนี้ เธออ้างถึงกรณีหนึ่งที่พาดหัวข่าวในจีนเมื่อปีที่แล้วที่ผู้หญิงที่สวมชุดกิโมโน
รายหนึ่งถูกควบคุมตัวในเมือง Suzhou และถูกกล่าวหาว่าก่อให้เกิดการทะเลาะวิวาทและเป็นการยั่วยุ
เพียงเพราะเหตุที่เธอสวมชุดของญี่ปุ่น เหตุการณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดความไม่พอใจอย่างมากในโซเชียลมีเดีย
ของจีน
ข่าวประจำวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๖
แปลและเรียบเรียงจาก https://www.bbc.com/news/world-asia-china-66737272
*บทความในเว็บไซต์เป็นผลงานทางวิชาการของผู้เขียนเว็บไซต์ LawforASEAN / สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
ไม่จำเป็นต้องเห็นพ้องด้วย