BANNER

ศาลสูงนาโกย่ามีคำพิพากษาให้รัฐบาลชดใช้ค่าเสียหายจากการปรับลดอัตราการจ่ายเงินสวัสดิการ


 ข่าวต่างประเทศ      31 Dec 2023

  


ในปี ค.ศ. ๒๐๑๓ รัฐบาลญี่ปุ่นได้ปรับลดอัตราการจ่ายเงินสวัสดิการตามระดับมาตรฐานที่ช่วยเหลือการดำรงชีวิตโดยเน้นค่าใช้จ่ายด้านอาหารเป็นหลัก ในระดับเฉลี่ยของการปรับลดอยู่ที่ร้อยละ ๖.๕ หรือประมาณ ๖๗ พันล้านเยนต่อปีซึ่งมีสาเหตุจากภาวะเงินฝืดในประเทศ

ในวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ค.ศ. ๒๐๒๓ ศาลสูงนาโกย่ามีคำพิพากษาให้รัฐบาลชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้รับเงินสวัสดิการ ๑๓ ราย ในจังหวัดไอจิ ซึ่งส่งผลให้การลดอัตราการจ่ายเงินสวัสดิการมีผลเป็นโมฆะไปด้วย จากการที่รัฐบาลญี่ปุ่นปรับลดอัตราการจ่ายเงินสวัสดิการลงถึงร้อยละ ๑๐ เพื่อสะท้อนถึงราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ตกต่ำในช่วงระหว่างปี ค.ศ. ๒๐๑๓ ถึง ๒๐๑๕

ผู้รับเงินสวัสดิการ ๑๓ ราย ในจังหวัดไอจิ ได้ยื่นฟ้องรัฐบาลกลางให้ชดใช้ค่าเสียหาย และขอให้การลดอัตราการจ่ายเงินสวัสดิการที่ดำเนินการโดยเทศบาลมีผลเป็นโมฆะ ฝ่ายโจทก์โต้แย้งว่าถูกบังคับให้ดำรงชีวิตต่ำกว่ามาตรฐานการครองชีพขั้นต่ำ ต่อมาศาลแขวงนาโกย่าได้ยกฟ้องโจทก์ในปี ค.ศ. ๒๐๒๐ โดยไม่ถือว่าการกระทำของรัฐบาลผิดกฎหมาย ต่อมาโจทก์ได้อุทธรณ์ต่อศาลสูงนาโกย่า

ยาสุฮิโระ ฮาเซกาวะ ผู้พิพากษาศาลสูงนาโกย่า กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงมาตรฐานอัตราการจ่ายเงินสวัสดิการไม่สอดคล้องกับความเห็นของผู้เชี่ยวชาญถือเป็นการกระทำนอกขอบเขตที่เป็นดุลพินิจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสวัสดิการโดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัติว่าด้วยการช่วยเหลือสาธารณะ (the Public Assistance Act) และเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย โดยให้รัฐบาลชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้เสียหาย ๑๓ ราย ในจังหวัดไอจิ รายละ ๑๐,๐๐๐ เยน

ฝ่ายกฎหมายของโจทก์กล่าวว่านับเป็นครั้งแรกที่ศาลญี่ปุ่นมีคำพิพากษาให้รัฐบาลชดใช้ค่าเสียหายจากการปรับลดอัตราการจ่ายเงินสวัสดิการลง ในขณะนี้ฝ่ายกฎหมายของโจทก์ได้ยื่นฟ้องคดีที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันถึง ๒๙ คดีทั่วประเทศ

มัตสึโนะ ฮิโรคาซู หัวหน้าเลขาธิการคณะรัฐมนตรีของญี่ปุ่น กล่าวว่า กระทรวงสวัสดิการจะทำการพิจารณารายละเอียดของคำพิพากษา และรัฐบาลจะปรึกษาหารือกับกระทรวง หน่วยงาน และเทศบาลที่เกี่ยวข้องเพื่อตัดสินใจว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

ข่าวประจำวันที่  ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๖
เรียบเรียงจาก
https://www.japantimes.co.jp/news/2023/12/01/japan/crime-legal/court-revokes-welfare-benefit-cuts/

*บทความในเว็บไซต์เป็นผลงานทางวิชาการของผู้เขียนเว็บไซต์ LawforASEAN / สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่จำเป็นต้องเห็นพ้องด้วย

 

© 2017 Office of the Council of State.